xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อกดดัน กนง. คงดอกเบี้ย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตามที่ตลาดคาดการณ์คาด กนง.ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3.25% ยกปัจจัยความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมัน พร้อมแสดงความมั่นใจว่าดอกเบี้ย 3.25% เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป ยอมรับดอกเบี้ยแท้จริงของไทยติดลบจริง แต่แค่ 0.15% ยังต่ำกว่าประเทศในภูมิภาค

นางสาวดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายนโยบายการเงิน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่า ที่ประชุมมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (ดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตร 1 วัน) ไว้ที่ 3.25% เนื่องจากราคาน้ำมันดิบโลกที่เพิ่มขึ้น ราคาโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นสูงมากในขณะนี้ ความเสียหายที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาซับไพรม์ ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้ความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น ประกอบกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย จะชะลอตัวลงมีเพิ่มขึ้นทั้งสองด้าน โดย กนง.จะรอดูสถานการณ์ที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ได้ทิศทางของนโยบายการเงินที่ชัดเจน

"การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อนั้น แม้ว่า ธปท.จะมองว่าเงินเฟ้อในปีนี้ได้แตะระดับสูงสุดไปแล้ว และจะทรงตัวในระดับสูงในไตรมาสที่ 2 ก่อนที่จะชะลอตัวลงในครึ่งปีหลังก็ตาม แค่ต้นทุนจากราคาน้ำมันที่สะท้อนสู้ต้นทุนราคาสินค้าในประเทศ ยังทำให้ภาคเอกชนมีความไม่มั่นใจ และยังมีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยน่าจะเกิน 4% ตามที่ ธปท.ประมาณการไว้ได้ ขณะเดียวกันการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ใน 2 เดือนแรกแม้จะปรับตัวดีขึ้น ทั้งการบริโภค และการลงทุน แต่ความมั่นใจของนักลงทุนที่ยังเพิ่มขึ้นไม่มาก ทำให้การขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศยังมีความเสี่ยง ขณะที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจจะกระทบการส่งออกของไทยในอนาคตได้"

นอกจากนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อการคงดอกเบี้ย เนื่องจากเห็นว่า ระดับ 3.25% ยังเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต และดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของไทย (ลบอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 12 เดือน) ยังถือว่าต่ำกว่าภูมิภาคนี้ เพราะไทยติดลบแค่ 0.15% ส่วนฮ่องกง 0.05% อินเดีย 0.2% มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 0.6% เกาหลีใต้ 1.7% และจีน 2.47% การคงอัตราดอกเบี้ยน่าจะไม่มีผลต่อเงินทุนไหลเข้าประเทศให้เพิ่มขึ้น

"ไม่เห็นว่าการที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศกว้างขึ้นจะเป็นแรงกดดันให้เงินทุนไหลเข้าไทย เพราะหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคแล้ว เงินทุนจากต่างประเทศน่าจะไหลเข้าคงไปที่ประเทศอื่นมากกว่าไทย"

อย่างไรก็ตาม หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง ในปลายเดือน กนง.คงจะต้องพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอีกครั้ง ส่วนรายละเอียดจะมีการชี้แจงอีกครั้งในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ 22 เม.ย.นี้ว่า ประมาณการอัตราเงินเฟ้อ และการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ของ ธปท.เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด

นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) (SCIB) กล่าวว่า การคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ถือว่าเป็นไปตามคาดการณ์ โดยมองว่า กนง.คงไม่จำเป็นต้องรีบลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ประกอบกับภาครัฐมีการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจพอสมควร โดยเฉพาะการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค

***ส.อ.ท.หวังนัดหน้า กนง.ลดดอกเบี้ย

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แม้ล่าสุด กนง.จะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องจับตาดูคือ การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐครั้งต่อไป ซึ่งมีการคาดว่า จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐ หากเฟดลดดอกเบี้ยลงมาก ก็จะเป็นเหตุผลสำคัญที่จะทำให้ กนง.ต้องพิจารณาแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทย เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาและกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันอีกเหตุผลหนึ่งในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวต่อไป เพราะเมื่อสหรัฐมีปัญหา เงินทุนจากต่างประเทศก็อาจไหลกลับไปยังสหรัฐเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น