(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Why is the West moving to replace Zelensky?
By STEPHEN BRYEN
11/11/2023
สหรัฐฯ กำลังพยายามคัดเลือกผู้ที่จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดียูเครนคนใหม่แทนที่ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี และครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกด้วยที่วอชิงตันกระทำเช่นนี้
กำลังเกิดเป็นฉันทมติกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ฝ่ายตะวันตก (หมายถึงสหรัฐฯ ด้วยความช่วยเหลือของสหราชอาณาจักร) ต้องการที่จะเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีของยูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี
แลร์รี จอห์นสัน (Larry Johnson) [1] ผู้เป็นเพื่อนมิตรและเพื่อนร่วมงานของผมคิดว่า ซีไอเอ ของสหรัฐฯ และเอ็มไอ6 ของสหราชอาณาจักร กำลังตระเตรียมเวทีกันเอาไว้แล้ว ถ้าไม่ใช่ว่าเซเลนสกีจะถูกบีบบังคับให้ต้องจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งตามกำหนดต้องมีขึ้นในเดือนมีนาคมปีหน้า แล้วจากนั้นเขาจะถูกเปลี่ยนตัว หรือในกรณีที่เขาขัดขืนไม่ยินยอม เขาจะถูกเปลี่ยนตัวอยู่ดีในสไตล์การลุกฮือยูโรไมดาน (Euromaidan หรือ Maidan Uprising) [2] ที่มีการชุมนุมของผู้คนระหว่างวันที่ 21 พ.ย.2013-23 ก.พ.2014 ส่วนใหญ่ในกรุงเคียฟ ในที่สุดก็นำไปสู่การโค่นล้มการปกครองของประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิซ ซึ่งเป็นผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง)
สหรัฐฯ ได้เคยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในคณะผู้นำของยูเครนมาก่อนแล้วหลายครั้ง และปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (State Department undersecretary) คนปัจจุบัน คือ วิกตอเรีย นูแลนด์ (Victoria Nuland) [3] คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการปฏิบัติการคราวก่อน การพูดคุยกันทางโทรศัพท์เมื่อปี 2014 ระหว่าง นูแลนด์ กับ เจฟฟรีย์ พะเยตต์ (Geoffrey Pyatt) [4] เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเคียฟในตอนนั้นได้ถูกแอบดักฟัง และสิ่งที่ทั้งสองสนทนากันก็ถูกปล่อยรั่วไหลออกมาถึงสื่อมวลชน
การพูดจากันทางโทรศัพท์คราวนั้นน่าสนใจ เพราะ นูแลนด์ กับพะแยตต์ กำลังหารือกันเรื่องการคัดสรรประธานาธิบดีคนใหม่ของยูเครน ซึ่งเป็นผู้ที่ “สามารถจะยอมรับกันได้” โดยที่พวกเขายังพูดถึงการขอความช่วยเหลือจาก โจ ไบเดน ซึ่งขณะนั้นเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งนี้ขอให้สังเกตด้วยว่า พร้อมๆ กับไบเดน ทางด้าน เจค ซัลลิแวน [5] ที่ในตอนนั้นเฉกเช่นเดียวกับในตอนนี้มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของไบเดน ได้รับการร้องขอให้ช่วยในการคัดสรรประธานาธิบดีคนต่อไปของยูเครนด้วย
(พวกรีพับลิกันในรัฐสภาสหรัฐฯ ใช้ความพยายามมาหลายปีจวบจนกระทั่งถึงเวลานี้ เพื่อทำการสอบสวนกิจกรรมต่างๆ ในยูเครนของฮันเตอร์ ไบเดน [6] บุตรชายของไบเดน พวกเขากล่าวหา –ทว่าจนถึงเวลานี้ยังคงไม่สามารถค้นพบข้อพิสูจน์ยืนยัน— ว่าตัวไบเดนเองได้เข้าแทรกแซงเพื่อปกป้องคุ้มครองสายสัมพันธ์ทางธุรกิจของบุตรชายของเขาที่ประเทศนั้น ตลอดจนสายสัมพันธ์ของตัวเขาเองด้วย)
ต่อไปนี้คือข้อความที่ถอดออกมาจากเสียงพูดคุยทางโทรศัพท์ที่ถูกดักฟัง
พะเยตต์: ผมคิดว่าเรากำลังไปได้ดีนะครับ เรื่อง คลิชโก [วิตาลี คลิชโก Vitaly Klitschko 1 ใน 3 ผู้นำหลักของฝ่ายค้านยูเครนเวลานั้น] นั้น ตรงนี้เห็นชัดว่าเป็นตัวแปรอิสระที่ยุ่งยากซับซ้อน โดยเฉพาะการประกาศให้เขาเป็นรองนายกรัฐมนตรี คุณคงได้เห็นบันทึกข้อสังเกตบางอันของผมแล้วเกี่ยวกับความยุ่งยากต่างๆ ในการจัดการแต่งงานนี้ขึ้นมาในตอนนี้ ดังนั้นเวลานี้เราจึงกำลังพยายามอ่านให้ออกจริงๆ อย่างเร็วๆ ว่าเขาอยู่ตรงไหนแน่ในเรื่องเหล่านี้ แต่ผมคิดว่าเหตุผลข้อโต้แย้งของคุณเกี่ยวกับเขา ซึ่งคุณคงจำเป็นจะต้องบอกออกมานั้น –ผมคิดว่าคงจะในการโทร.คราวหน้าที่คุณต้องการให้มีขึ้นนะครับ-- นี่คือเรื่องหนึ่งเลยที่คุณคงจะต้องพูดกับ แยตส์ [Yats หมายถึง Arseniy Yatseniuk อาร์เซนีย์ แยตเซนุค ผู้นำฝ่ายค้านอีกคนหนึ่ง] และผมดีใจมากที่คุณหาทางเอาตัวเขาเข้ามาตรงจุดนี้จนได้ ซึ่งเป็นจุดที่เหมาะสมในฉากทัศน์นี้ และผมก็ดีใจมากสำหรับสิ่งที่เขาพูดออกมาในการแสดงการตอบรับ
นูแลนด์: ดีมาก ดิฉันไม่คิดว่า คลิตช์ควรเข้าไปร่วมในรัฐบาลหรอก ดิฉันไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องจำเป็น ดิฉันไม่คิดว่ามันเป็นไอเดียที่ดีนะ
พะแยตต์: คร้าบ ผมลองเดาดูนะ ... ในกรณีที่เขาจะไม่ได้เข้าไปร่วมในรัฐบาล ก็ปล่อยให้เขาอยู่วงนอก และทำพวกการบ้านทางการเมืองของเขาและอะไรต่างๆ ของเขาไป ผมเพียงแต่คิดในแง่มุมแบบกระบวนการสำหรับการเดินหน้าต่อไป ที่เราต้องการเอาพวกนิยมประชาธิปไตยสายกลางทั้งหลายมารวมตัวกัน ปัญหาก็จะอยู่ตรงที่ ทีอาห์นีบ็อค [Oleh Tyahnybok โอเลห์ ทีอาห์นีบ็อค ผู้นำฝ่ายค้านอีกคนหนึ่ง] และคนของเขา และผมแน่ใจเลยว่านี่คือส่วนหนึ่งซึ่งยานูโควิช [Viktor Yanukovych วิกตอร์ ยานูโควิช ประธานาธิบดียูเครนในเวลานั้น] กำลังคิดคำนวณเรื่องทั้งหมดเหล่านี้อยู่
นูแลนด์: [พูดแทรกเข้ามา] ดิฉันคิดว่า แยตส์ คือคนที่มีประสบการณ์ในเรื่องเศรษฐกิจ ประสบการณ์ในการเป็นรัฐบาล เขา... สิ่งที่เขาต้องการคือให้ คลิตช์ และทีอาห์นีบ็อค อยู่ตรงวงนอก เขาต้องคอยพูดจากับทั้งคู่นี่ตั้งอาทิตย์ละ 4 หนเชียวนะ คุณรู้ไหม ดิฉันคิดว่าถ้า คลิตช์ เข้ามาด้วย ... เขาก็จะบอกว่าต้องอยู่ในระดับเดียวกันกับที่ให้แก่แยตเซนุค ซึ่งมันไปไม่ได้หรอก
พะแยตต์: คร้าบ มันไปไม่ได้หรอก ผมคิดว่ามันถูกต้องแล้ว โอเค ดีมากเลย คุณต้องการให้เราจัดการเรื่องนัดแนะคุยโทรศัพท์กับเขาโดยถือเป็นก้าวเดินต่อไปเลยไหม?
นูแลนด์: ตามที่ดิฉันเข้าใจนะ จากการคุยโทรศัพท์นั่น –แต่คุณต้องบอกดิฉันนะว่าดิฉันเข้าใจถูกหรือเปล่า- ก็คือว่าบิ๊กทรี (ฝ่ายค้าน) ทั้งสามกำลังจะมีการพูดจาหารือของพวกเขากันเอง และแยตส์ก็จะเสนอในบริบทตรงนั้นให้มี ... การสนทนาแบบสามบวกหนึ่ง หรือ สามบวกสอง ในกรณีที่มีคุณเข้าร่วมด้วย คุณหมายความว่าอย่างนี้หรือเปล่า?
พะแยตต์: ไม่ใช่นะครับ ผมคิดว่า ... ผมหมายความว่า นั่นเป็นสิ่งที่เขาเสนอมาครับ แต่ผมคิดว่า จากการที่ทราบถึงพลวัตที่กำลังเกิดขึ้นในระหว่างพวกเขา โดยที่ คลิตชโก แสดงตัวเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด เขาคงจะใช้เวลาอีกพักหนึ่งจึงจะไปปรากฏตัวในการพบปะหารืออะไรก็ตามทีที่พวกเขาจะมีขึ้นมา และบางทีเขาจะพูดจากับคนของเขาในจุดนี้ ดังนั้นผมจึงคิดว่าคุณติดต่อไปถึงเขาโดยตรงเลย เพื่อช่วยเขาในเรื่องการบริหารจัดการเรื่องบุคลิกภาพในระหว่างทั้ง 3 คนนี้ แล้วมันยังจะทำให้คุณมีโอกาสที่จะเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วในเรื่องทั้งหลายแหล่นี่ และนำเอาเราไปอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนที่พวกเขาทั้งหมดจะนั่งลงที่โต๊ะเจรจา และถึงตอนนั้นเขาก็จะอธิบายว่าทำไมเขาจึงไม่ชอบให้เป็นอย่างนั้น
นูแลนด์: โอเค ดีเลย ดิฉันชอบวิธีนี้ ทำไมคุณไม่ลองติดต่อเขาดูล่ะ และดูซิว่าเขาต้องการที่จะพูดจากับดิฉันก่อนหรือว่าหลัง
พะแยตต์: โอเค ผมจะติดต่อเขา ขอบคุณครับ
นูแลนด์: โอเค ... อีกเรื่องที่จะเพิ่มรอยย่นที่หน้าผากให้คุณอีกเรื่องนะ เจฟฟ์ [มีเสียงคลิกดังขึ้นมา] ดิฉันจำไม่ได้ว่าดิฉันได้บอกคุณหรือยัง หรือดิฉันยังแค่บอกเรื่องนี้ให้ทางวอชิงตันรู้เท่านั้น คือตอนที่ดิฉันได้คุยกับ เจฟฟ์ เฟลต์แมน [Jeff Feltman ผู้ช่วยเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติฝ่ายกิจการการเมือง under-secretary-general for political affairs] เมื่อเช้านี้ เขาให้ชื่อคนของยูเอ็นมาอีกชื่อหนึ่ง โรเบิร์ต เซอร์รี (Robert Serry) ดิฉันเขียนบอกคุณไปตอนเช้านี้หรือยัง?
พะแยตต์: คร้าบ ผมเห็นแล้ว
นูแลนด์: โอเค ตอนนี้เขาก็ได้มาแล้ว ทั้งเซอร์รี และทั้งบัน คีมุน [เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติในตอนนั้น] ต่างเห็นด้วยว่า เซอร์รี สามารถมาได้ในวันจันทร์หรือวันอังคารนี้แหละ ดังนั้น ดิฉันคิดว่ามันจะยอดเยี่ยมมากเลยนะ ในการช่วยทำให้เรื่องนี้ปะติดปะต่อกันแน่นหนายิ่งขึ้น และการได้ยูเอ็นมาช่วยทำให้เรื่องนี้แน่นหนายิ่งขึ้น แล้วคุณรู้ไหม ให้ตายเถอะ ย.แม่อียู (f..k the EU)
พะแยตต์: แย่มากจริงๆ ผมคิดว่าเราจะต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้มันแน่นหนามากขึ้น เพราะคุณสามารถแน่ใจได้แหงๆ เลยว่าถ้ามันเริ่มขยายตัวกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาแล้ว พวกรัสเซียจะต้องทำงานอยู่หลังฉากเพื่อพยายามทำลายให้มันพังไป และจากข้อเท็จจริงที่ว่าเรื่องนี้ปรากฏออกมาเป็นอย่างนี้แล้วในตอนนี้ ผมยังพยายามคิดทบทวนอยู่เลยว่าทำไม ยานูโควิช ถึง [แสดงความสับสน] ขนาดนั้น เวลาเดียวกัน ตอนนี้ยังมีกลุ่มหนึ่งของพรรคภูมิภาค (Party of Regions พรรคของยานูโควิช) จัดการประชุมกันอยู่ในขณะนี้ และผมแน่ใจเลยว่ามันจะต้องมีการถกเถียงกันเอะอะน่าดูเลยในกลุ่มนั้นในขณะนี้ แต่ยังไงก็ตาม เรายังคงสามารถมีผลลัพธ์ที่ดีออกมาได้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ถ้าเราเคลื่อนไหวกันอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ขอให้ผมทำงานเกี่ยวกับคลิตชโก และถ้าหากคุณสามารถที่จะเพียงแค่ช่วย ... เราต้องการที่จะพยายามหาใครสักคนที่มีบุคลิกภาพระดับอินเตอร์มาที่ตรงนี้ และช่วยเป็นหมอตำแยทำคลอดเรื่องนี้ ประเด็นปัญหาอีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องที่จะต้องติดต่อกับกลุ่มต่างๆ ให้ได้มากกว่ายานูโควิช แต่บางทีเราอาจจะรวมกลุ่มกันใหม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ในวันพรุ่งนี้ เมื่อเราสามารถมองเห็นได้มากขึ้นว่าสิ่งต่างๆ กำลังเริ่มเข้าที่เข้าทางของมันกันมากขึ้น
นูแลนด์: สำหรับเรื่องนั้น เจฟฟ์ เมื่อตอนที่ดิฉันเขียนบันทึกนั่น ซัลลิแวนตอบกลับมาที่ดิฉันแบบ VFR [เขียนตรงมาที่ดิฉัน] บอกว่าคุณจำเป็นต้องให้ไบเดนเข้ามาช่วยนะ ดิฉันก็บอกไปว่าบางทีถ้าเป็นพรุ่งนี้ได้ก็จะแจ๋วมากเลย มาคุยรายละเอียดกันให้ชัดเจน ดังนั้น ไบเดนยินดีเข้ามาร่วมด้วยแล้ว
พะแยตต์: โอเค ยอดเยี่ยม ขอบคุณมากครับ
ไม่ใช่ประเทศเอกราช
เป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะพูดว่า ยูเครนยากที่จะเรียกได้ว่าเป็นประเทศเอกราช ทุกวันนี้สหรัฐฯ ไม่เพียงจัดหาจัดส่งความสนับสนุนทางทหารไปให้เท่านั้น แต่สหรัฐฯ ยังเป็นผู้จ่ายเงินเดือนค่าตอบแทนของพวกข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐบาล และของทหารในกองทัพยูเครน จนกระทั่งเงินบำนาญอีกด้วย
เพลเยอร์ชาวอเมริกัน 3 คนดั้งเดิม –ไบเดน ซัลลิแวน และนูแลนด์—ตอนนี้กำลังกลายเป็นผู้ตัดสินชี้ชะตาของยูเครนอีกคำรบหนึ่ง แล้วทำไมเวลานี้ทั้ง 3 คนนี้จึงกำลังปรารถนาที่จะโยน เซเลนสกี ทิ้งไป?
วอชิงตันทำให้เป็นที่รับทราบกัน ด้วยการปล่อยข่าวรั่วออกไปในแบบมีการควบคุม ว่าแผนการเปิดการรุกตอบโต้ของยูเครน ที่สหรัฐฯ เฝ้าอุตส่าห์ประสานงานจัดทำขึ้นอย่างระมัดระวัง ปรากฏว่าเซเลนสกีมิได้กระทำตาม มิหนำซ้ำเขายังกระทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความเห็นของเหล่านายพลของเขาเอง –ทั้ง ซานูจนี และโอเลคซานดร์ ซีร์สกยี Oleksandr Syrskyi ผู้บัญชาการทหารบกของยูเครน [7] ที่มีความเคร่งขรึมมากกว่า - ด้วยการตัดสินใจให้เปิดการปฏิบัติการทางทหารขึ้นมาใหม่เพื่อพยายามยึดคืนเมืองบัคมุต ซึ่งสูญเสียไปหลังจากกองทัพรัสเซียและกองกำลังวากเนอร์ (Wagner) ของเยฟเกนี ปรีโกจิน (Yevgeny Prigozhin)ได้ขับไล่ฝ่ายยูเครนให้ออกไปจากเมืองแห่งนี้
ผลของความพยายามที่จะสู้รบกับรัสเซียในแนวรบที่กว้างขวางขึ้นมากเช่นนี้ หมายความว่าผลสะเทือนของการสู้รบในภาคใต้ ซึ่งรวมศูนย์ให้ความสำคัญที่สุดตรงบริเวณรอบๆ พื้นที่ซึ่งเรียกกันว่า จัตุรัสแบรดลีย์ (Bradley Square) ของแคว้นซาโปริซเซีย ได้ถูกเจือจางลดทอนน้ำหนักลงไป สืบเนื่องจากต้องนำเอากองทหารชั้นเยี่ยมที่สุดบางส่วนของยูเครน ไปที่บัคมุตตลอดจนแนวรบอื่นๆ ใกล้เคียงกันในแคว้นโดเนตสก์
แต่ไม่เพียงเท่านั้น มันยังมีอะไรมากกว่านั้นอีก เป้าหมายของวอชิงตันในการเปิดรุกใหญ่คราวนี้ คือการจัดวางเวทีสำหรับบีบบังคับรัสเซียให้ยอมทำข้อตกลงในเรื่องยูเครน ทั้งนี้หากกองทัพยูเครนสามารถทำตามแผนการ ด้วยการเจาะทะลวงผ่านสิ่งที่เรียกกันว่า แนวป้องกันซูโรวิคิน (Surovikin defense line) [8] ซึ่งวางกันเอาไว้อย่างแน่นหนาหลายๆ ชั้นของฝ่ายรัสเซียได้สำเร็จ ยูเครนจะอยู่ในฐานะที่สามารถคุกคามคาบสมุทรไครเมีย (ข้อสังเกต: มีข้อเขียนจำนวนมากในสื่อสหรัฐฯและสื่อยุโรปกำลังอ้างว่า ยูเครนกำลังประสบความสำเร็จในการบุกทะลวงผ่านแนวป้องกันซูโควิคิน ข้อเขียนเหล่านี้เป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อขนานแท้เท่านั้น)
ในเวลาเดียวกับที่ใช้กำลังทหารผลักดันทางด้านใต้ ยูเครนก็จะเข้าโจมตีเมืองเซวาสโตโปล (Sevastopol) ในไครเมียโดยใช้พวกขีปนาวุธ และพวกยานผิวน้ำไร้คนขับที่บรรทุกวัตถุระเบิดเอาไว้เพียบ ตลอดจนใช้ขีปนาวุธและยานผิวน้ำไร้คนขับเข้าโจมตีสะพานข้ามช่องแคบเคิร์ช (Kerch Strait bridge) ซึ่งเชื่อมระหว่างรัสเซียกับไครเมีย ขณะที่ฝ่ายยูเครนใช้ความพยายามจนประสบความสำเร็จในการสร้างความเสียหายขึ้นมาเป็นบางส่วน –พวกเขาสามารถโจมตีถูกสะพานได้อีกหนหนึ่ง ซึ่งสามารถทำให้มันได้รับความเสียหายในระดับหนึ่ง – ทว่าก็ไม่ได้ถึงกับทำลายสะพานแห่งนี้ได้
การรุกตอบโต้ที่ดำเนินการโดยวอชิงตันครั้งนี้เปิดฉากขึ้นมาหลังจากมีการวางแผนและการฝึกกันอย่างมากมาย แรกเริ่มเดิมทีมันจะเกิดขึ้นในจังหวะเวลาเดียวกับที่ ปรีโกจิน ก่อการรัฐประหารขึ้นในรัสเซีย [9] มีหลักฐานอยู่มากมายที่แสดงให้เห็นว่า ปรีโกจิน ได้พูดจาหารือกับ คีรีโล บูดานอฟ (Kyrylo Budanov) ผู้อำนวยการด้านข่าวกรองทหารของยูเครน [10]
การพบปะหารือของ ปรีโกจิน กับคนของฝ่ายข่าวกรองยูเครน กระทำกันในทวีปแอฟริกา โดยน่าจะเป็นที่ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ถ้าหากปรีโกจินเข้ายึดอำนาจในรัสเซียได้สำเร็จ เขาก็จะรีบทำข้อตกลงกับยูเครนในทันที ขณะที่เงื่อนไขรายละเอียดต่างๆ ของดีลนี้ยังไม่เป็นที่ทราบกัน แต่มันน่าจะรวมถึงการเรียกร้องยูเครนยอมให้ฝ่ายรัสเซียเช่าคาบสมุทรไครเมีย เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่รัสเซียถอนกำลังทหารทั้งหมดของตนออกไปจากยูเครน และยุติปิดฉาก “การปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ของปูติน นอกจากนั้น วอชิงตันก็จะดำเนินจังหวะก้าวติดตามมาด้วยการยกเลิกการแซงก์ชันที่กระทำต่อรัสเซีย
ทว่าการก่อรัฐประหารของ ปรีโกจิน ประสบความล้มเหลว และความฝันของวอชิงตันที่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัสเซียก็ล่มสลายไปด้วย ถึงแม้มีการทำข้อตกลงซึ่งอาศัยเบลารุส เป็นตัวกลาง ทำให้ ปรีโกจิน ไม่ต้องติดคุกหรือถูกฝ่ายรัสเซียประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า (ในเวลานั้นปูตินออกคำแถลงเรียกปรีโกจินอย่างชัดเจนว่าเป็นคนทรยศ) แต่ดูเหมือน ปรีโกจิน ยังคงพยายามบ่อนทำลายความเป็นผู้นำของปูตินต่อไป รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะยังคงรักษาการติดต่อกับฝ่ายข่าวกรองตะวันตกเอาไว้ แล้วก็อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้ว เครื่องบินส่วนตัวของเขาเกิดระเบิดขึ้นเหนือฟากฟ้าในบริเวณไม่ห่างไกลจากกรุงมอสโก ปรีโกจินขณะนั้นอยู่ในเที่ยวขากลับจากการเดินทางไปแอฟริกา ทำให้เพิ่มน้ำหนักแก่แนวความคิดที่ว่าเขากำลังทำอะไรมากกว่าแค่การสร้างธุรกิจใหม่ๆ ในแอฟริกา
ฝ่ายยูเครนอ้างว่า การรุกใหญ่ต้อง “ชะงักไป” เนื่องจากพวกเขาไม่ได้มีอาวุธที่ถูกต้องเหมาะสม [11] แต่ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าทหารจำนวน 3 กองพลน้อยที่ผ่านการประกอบอาวุธและการฝึกจากฝ่ายตะวันตก พรั่งพร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์สู้รบระดับยอดเยี่ยมที่สุด กลับยังคงไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ในทางบวกขึ้นมาได้ ตรงกันข้าม อาวุธยุทโธปกรณ์ของฝ่ายตะวันตกจำนวนมากถูกทิ้งให้ไฟไหม้เผาผลาญกลางท้องทุ่ง รวมถังรถถัง “ลีโอพาร์ด” (Leopard) ที่มีฉายาว่า “ไม่มีใครเอาชนะได้” (invincible) ซึ่งได้รับการจัดอันดับว่าเหนือกว่าแม้กระทั่งรถถังหลัก เอ็ม 1 อะบรามส์ (M1 Abrams) ของสหรัฐฯ [12] ด้วยซ้ำ
เซเลนสกี ยังมีปัญหาประการที่สอง ซึ่งกระทั่งอาจจะยากลำบากมากขึ้นอีกสำหรับเขาที่จะเอาชนะ โดยที่ปัญหานี้กำลังสร้างความเสียหายให้แก่ความสัมพันธ์ที่เขามีอยู่กับพวกเจ้านายอเมริกันและสหราชอาณาจักรของเขา ปัญหาดังกล่าวนี้ก็คือความรับรู้ความเข้าใจซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่ว่ายูเครนกำลังพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้
เวลานี้มีรายงานที่ผ่านการตรวจสอบแล้วจำนวนมากเพียงพอที่จะยืนยันว่า ยูเครนกำลังหันไปใช้มาตรการโหดต่างๆ ในความพยายามเพิ่มกำลังพลสำรองสำหรับใช้ในสงครามของตน ที่กำลังร่อยหรอลงไปทุกที กองทัพของยูเครนในเวลานี้แทบทั้งหมดอยู่ในสภาพเป็น “กองทัพที่สาม” ของตน (เป็นกำลังพลใหม่ๆ ซึ่งเข้ามาแทนที่ส่วนใหญ่ของ 2 กองทัพก่อนหน้านี้ ที่หมดประโยชน์ในการสู้รบของพวกเขาไปเสียแล้ว สืบเนื่องจากการสูญเสียกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างมหาศาล) ถึงแม้ว่ายังคงมีกองพลน้อยคุณภาพสูงเยี่ยมจำนวนหยิบมือหนึ่งเหลืออยู่ก็ตามที แต่ด้วยกองทัพโดยองค์รวมที่มีศักยภาพความสามารถน้อยลง และการเผชิญกับฝันร้ายไม่รู้จักจบสิ้นในการบำรุงรักษาอาวุธที่ได้รับจากนาโต ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายมากมายเหลือเกิน [13] (อาวุธเหล่านี้จำนวนมากไม่สามารถนำมาใช้ปฏิบัติการร่วมกันได้ ตรงกันข้ามกับสิ่งที่นาโตชอบอ้างเรื่อยมา อีกทั้งเมื่อเกิดขัดข้องก็ยากลำบากมากที่จะซ่อมแซม) กองทัพของยูเครนจึงดูเหมือนกำลังบ่ายหน้าไปสู่ความหายนะ
ในทัศนะของวอชิงตันแล้ว สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรจะทำก็คือการเจรจาทำข้อตกลง [14] กับฝ่ายรัสเซีย รัสเซียนั้นได้ปฏิเสธแล้วว่าจะไม่ยอมหยุดยิงใดๆ เพื่อให้มีการเปิดเจรจากัน ในความคิดเห็นของรัสเซียนั้น สงครามครั้งนี้จะสิ้นสุดลงได้ก็ต่อเมื่อมีการตกลงเห็นพ้องกันในประเด็นปัญหาหลักๆ ให้ได้ โดยข้อสำคัญที่สุด (ในทัศนะของฝ่ายรัสเซีย) คือนาโตต้องยอมทิ้งยูเครน
ถ้าหากไม่มีการเจรจาใดๆ ยูเครนก็จะต้องล้มครืนในทางการทหารอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งเป็นการสร้างความเสียหาย (บางทีอาจถึงขั้นเกินกว่าที่จะซ่อมแซมแก้ไขได้) ให้แก่สมรรถนะในการป้องปรามของนาโต อย่างไรก็ดี เซเลนสกีแสดงการคัดค้านการเจรจาใดๆ กับรัสเซีย และยืนกรานเรียกร้องให้กองทหารรัสเซียทั้งหมดต้องถอนตัวออกไปจากยูเครน และ “อาชญากรสงคราม” ชาวรัสเซียทั้งหลายจะต้องถูกนำตัวขึ้นพิจารณาความผิด ด้วยท่าทีเช่นนี้ ข้อเรียกร้องต่างๆ ของ เซเลนสกี จึงกำลังเกินเลยไปจากสิ่งที่เป็นผลประโยชน์สูงสุดของนาโตในขณะปัจจุบันไปเสียแล้ว และในทางเป็นจริงยังกลายเป็นเครื่องบ่อนทำลายหนทางหนึ่งเดียวที่การสู้รบขัดแย้งนี้จะสามารถคลี่คลายแก้ไขกันได้
กล่าวโดยสรุป ความต้องการของนาโตและของเซเลนสกีกำลังแยกห่างจากกันและอยู่ในสภาพขัดแย้งกัน
รัฐสภาสหรัฐฯ กำลังได้รับคำขอให้กระเบียดกระเสียนจัดหางบประมาณอีกก้อนหนึ่งมูลค่ามากกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์จัดส่งให้แก่ยูเครน ถ้ารัฐสภาชักช้า หรือถ้าคณะบริหารไบเดนยินยอมตัดลดยอดลงจนเหลือจำนวนน้อยกว่านี้อย่างหนักหนาสาหัส (พร้อมๆ กับยินยอมตามเงื่อนไขต่างๆ ในเรื่องการกำกับตรวจสอบการใช้งบประมาณเหล่านี้ให้เข้มงวดยิ่งขึ้นอีกมากมาย) เซเลนสกีก็เป็นอันจบเห่
วอชิงตันอาจจะมีข้อสรุปว่านี่คือทางออกเพียงทางเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เซเลนสกีไม่น่าที่จะยินยอมอาสาลาออกเอง ดังนั้นปัญหาเรื่องที่ว่าจะทำอย่างไรในการปัดเขาให้ไปพ้นทาง จึงยังคงเป็นปัญหาที่มิได้รับการแก้ไข เรื่องที่ทำให้รู้สึกกังวลกันมากขึ้นไปอีกก็คือ การจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนมีนาคมปีหน้า ก็อาจจะสายเกินไปเสียแล้วสำหรับการรักษายูเครนให้อยู่รอดต่อไปได้
สตีเฟน ไบรเอน เคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเจ้าหน้าที่ของคณะอนุกรรมการตะวันออกใกล้ แห่งคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ รวมทั้งเคยเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบายของสหรัฐฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ Center for Security Policy และ Yorktown Institute
ข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน
เชิงอรรถ
[1] https://substack.com/redirect/d2b15ce6-bdf0-4753-a4aa-7ee61f56dd8d?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[2] https://substack.com/redirect/ca256449-e25d-4878-baea-01c73f94425f?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[3] https://substack.com/redirect/f0848347-b226-4be3-ab2c-1facbd057205?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[4] https://substack.com/redirect/88cf4135-6db7-4d78-b9a5-c5c7a668a216?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[5] https://substack.com/redirect/88cf4135-6db7-4d78-b9a5-c5c7a668a216?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[6]https://www.finance.senate.gov/imo/media/doc/HSGAC%20-%20Finance%20Joint%20Report%202020.09.23.pdf?utm_source=substack&utm_medium=email
[7] https://substack.com/redirect/6b6970aa-7813-45a0-8455-e218330676b5?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[8] https://substack.com/redirect/a8b4c4c3-8cc9-4cb8-8a0d-ea08e0645e4b?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[9] https://substack.com/redirect/ac0eb2aa-b6ae-431f-9e35-44e08c797de9?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[10] https://substack.com/redirect/f8a1b7a9-1510-47c4-a76b-c740a463cd15?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[11] https://substack.com/redirect/726b51b1-1fb5-48d6-9103-a5022d715faf?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[12] https://substack.com/redirect/3005ce27-d669-42a6-b5b0-e177f4a4ecb9?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[13] https://substack.com/redirect/3458cb5b-6318-4a5b-bfe3-1435445da015?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[14] https://substack.com/redirect/0c7367d4-e10b-4fa8-8c95-9f63396c81d7?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw