ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง มีกำหนดพบกับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ที่นครซานฟรานซิสโกในเช้าวันพุธ (15 พ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น ก่อนเข้าร่วมการประชุมประจำปีผู้นำชาติกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ครั้งที่ 30
ผู้นำจีนเดินทางถึงนครซานฟรานซิสโกเมื่อบ่ายวันอังคาร (14 พ.ย.) หลังจากมาเยือนสหรัฐฯ ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2560 โดยชาวจีนในไชน่าทาวน์ของซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นชุมชนชาวจีนใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ จัดเตรียมการต้อนรับอย่างยินดี
สำหรับการหารือทวิภาคีกับไบเดนครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ผู้นำชาติมหาอำนาจทั้งสองจะได้เจอหน้ากัน หลังจากพบกันครั้งสุดท้ายในการประชุมสุดยอด G20 ที่เกาะบาหลี ของอินโดนีเซียเมื่อปีที่แล้ว ท่ามกลางความคาดหวังกันว่านี่คือโอกาสที่สหรัฐฯ และจีนจะลดความขัดแย้งกันได้ในท่ามกลางการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและการทหารระหว่างชาติทั้งสองที่ทวีความเข้มข้น
ทั้งนี้ ก่อนผู้นำจีนจะมาถึงสหรัฐฯ ไม่กี่วัน ไบเดนแสดงเจตจำนงที่จะฟื้นฟูการติดต่อสื่อสารกับปักกิ่งให้กลับคืนสู่ระดับปกติ รวมถึงการติดต่อสื่อสารด้านการทหาร ซึ่งถูกจีนตัดขาด เพื่อประท้วงที่นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ไปเยือนไต้หวันเมื่อเดือน ส.ค.ปี 2565
นายจอห์น เคอร์บี โฆษกทำเนียบขาวระบุด้วยว่า ผู้นำทั้งสองจะพูดคุยกันเกี่ยวกับวิกฤตอิสราเอล-ฮามาสในฉนวนกาซา และความพยายามของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนยูเครนสู้รบกับกองทัพรัสเซีย
นอกจากนั้น ประเด็นเศรษฐกิจจะเป็นหัวข้อสำคัญของการพบหารือ โดยไบเดนระบุว่า สหรัฐฯ ไม่ต้องการตัดขาดเศรษฐกิจจากจีน แต่ต้องการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ โดยรัฐบาลของเขาพยายามลดความเสี่ยงที่เกิดจากการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานบางอย่างจากจีนมากเกินไป
ด้านผู้นำจีน ก่อนหน้าออกเดินทางไปสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้มีการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจกับไต้หวันมากขึ้น โดยตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว สี จิ้นผิง เรียกร้องให้นักธุรกิจควรมีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบโดยที่ตระหนักถึงการรวมประเทศและการฟื้นฟูจีน ข้อเรียกร้องนี้อยู่ในสาส์นของผู้นำจีนสำหรับการประชุมสุดยอดผู้ประกอบการในเมืองหนันจิงเมื่อวันอังคาร (14 พ.ย.)
นักวิเคราะห์ชี้ว่า ข้อเรียกร้องนี้เป็นการแสดงท่าทีที่เปลี่ยนไปจากวาทะดุเดือดที่สี จิ้นผิง เคยใช้ในอดีตเกี่ยวกับเกาะไต้หวัน และตอกย้ำว่า จีนและสหรัฐฯ กำลังพยายามลดความตึงเครียดระหว่างกัน เนื่องจากสถานภาพของไต้หวันเป็นประเด็นหนึ่งที่สหรัฐฯ กับจีนขัดแย้งกันมากที่สุด โดยปักกิ่งถือว่าไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนและไม่ปฏิเสธการใช้กำลังทหารผนวก ขณะที่ไบเดนกล่าวย้ำหลายครั้งว่า สหรัฐฯ จะปกป้องไต้หวัน หากถูกจีนรุกราน
ขณะนี้จีนกำลังพยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจีนไม่ฟื้นตัวตามเป้าหมาย และสีจิ้นผิง พยายามหาทางดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในระหว่างการมาเยือนครั้งนี้
ที่มา : โกลบอลไทมส์ / รอยเตอร์ / บลูมเบิร์ก