xs
xsm
sm
md
lg

‘ยูเครน’ กำลังเผชิญวิกฤต หรือ ‘เซเลนสกี’ ถึงคราวอับปางไปไม่รอดแล้ว?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน ***


ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ขณะเข้าร่วมการประชุมของกลุ่มให้ความช่วยเหลือด้านกลาโหมแก่ยูเครน ณ สำนักงานใหญ่องค์การนาโต ในกรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2023
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Ukraine crunch coming: Zelensky on the rocks?
By STEPHEN BRYEN
31/10/2023

การปฏิบัติการของฝ่ายรัสเซียเวลานี้ดูเหมือนเน้นไปที่การหาทางทำให้พรมแดนด้านแคว้นโดเนตสก์และแคว้นลูฮันสก์ อยู่ในสภาพที่จะดูแลรักษาเอาไว้ได้อย่างแท้จริง และเวลาเดียวกันนั้นก็ตระเตรียมการสำหรับการบุกตะลุยลึกเข้าไปในยูเครนเมื่อมีจังหวะโอกาสอันเหมาะสม

ยูเครนกำลังเผชิญภาวะวิกฤตที่อาจถึงขั้นทำให้เกิดการโค่นล้มรัฐบาลเซเลนสกีกันทีเดียว แถมสภาพอันร้ายแรงที่ว่านี้ยังมีหลายด้านหลายมิติอีกด้วย

สถานการณ์ของยูเครนเลวร้ายลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ที่ “การรุกตอบโต้ครั้งใหญ่” ของฝ่ายยูเครนซึ่งได้มีการโฆษณาป่าวร้องเอาไว้มาก กลับประสบความล้มเหลว การทุ่มเทอย่างเสี่ยงภัยคราวนี้ซึ่งกำหนดจุดหนักสำคัญที่สุดอยู่ที่พื้นที่แคว้นซาโปริซเซีย แต่ก็ยังครอบคลุมถึงการย้ำเน้นครั้งใหม่เพื่อพยายามหวนกลับเข้าสู่เมืองบัคมุตด้วย เวลานี้อยู่ในอาการชะงักงันอย่างสิ้นเชิง ยูเครนต้องประสบความเสียหายทั้งจากการบาดเจ็บล้มตายของกำลังพล และการสูญเสียอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมหึมา โดยแทบไม่มีอะไรมาโอ่อวดว่าได้รับผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า แม้กระทั่งการสู้รบใน “จัตุรัสแบรดลีย์” (Bradley square) ซึ่งมุ่งหมายที่จะเจาะทะลุแนวป้องกันซูโรวิคิน (Surovikin defenses) ก็ยังประสบความล้มเหลว

เวลานี้มันยังกำลังเลวร้ายลงไปอีกด้วยซ้ำ เมื่อฝ่ายรัสเซียเริ่มต้นการรุกของพวกเขาบ้าง โดยที่บางส่วนของการรุกนี้โฟกัสอยู่ที่เมืองอัฟดิอิฟกา (Avdiivka) อยู่ตรงพื้นที่เมือง คราสนี ลีมาน (Krasny Liman area) และอยู่ที่เมืองคูเปียนสก์ (Kupyansk) ในความเป็นจริงแล้ว รายงานทุกๆ ชิ้นล้วนบ่งชี้ถึงความสำเร็จทางยุทธวิธีอย่างสำคัญของฝ่ายรัสเซีย ถึงแม้ยูเครนมีการส่งกำลังกองหนุนเพิ่มเติมเข้าไป การปฏิบัติการของฝ่ายรัสเซียดูเหมือนเป็นความพยายามที่จะสร้างแนวชายแดนที่ทรงประสิทธิภาพสำหรับแคว้นโดเนตสก์ (Donetsk) และแคว้นลูฮันสก์ (Luhansk) ขึ้นมา ในเวลาเดียวกับที่เป็นการเตรียมตัวซึ่งเป็นไปได้สำหรับการรุกใหญ่ลึกเข้าไปในจุดต่างๆ

สื่อมวลชนทั้งของฝ่ายตะวันตกและของยูเครนอ้างว่า ฝ่ายรัสเซียกำลังสูญเสียหนักในการปฏิบัติการเหล่านี้ ทว่ามันกลับดูเหมือนว่าฝ่ายยูเครนต่างหากที่กำลังเร่งรีบส่งกองหนุนเข้าไปโดยเฉพาะในพื้นที่รอบๆ อัฟดิอิฟกา ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่ากองทัพยูเครนกำลังถูกบีบคั้นอย่างหนักจากฝ่ายรัสเซีย

ยูเครนยังประสบความเสียหายหนักหน่วงในด้านกำลังทางอากาศของตน ถ้าหากรายงานข่าวต่างๆ ที่ยังมิได้รับการยืนยันซึ่งออกมาจากรัสเซีย เป็นข่าวที่ถูกต้องแล้ว มันก็ดูเหมือนว่าในเดือนตุลาคม ฝ่ายรัสเซียสามารถที่จะทำลายเครื่องบิน Mig-29 ของยูเครนไป 20 ลำ Su-35 จำนวน 8 ลำ Su-24 จำนวน 1 ลำ และ L-39 จำนวน 2 ลำ (L-39 เป็นเครื่องบินสำหรับฝึกรวมทั้งใช้เป็นเครื่องบินโจมตีขนาดเบา ผลิตโดยแอโร โวโดโชดี Aero Vodochody ของสาธารณรัฐเช็ก)

Mig-29 เป็นเครื่องบินไอพ่นขับไล่สกัดกั้นเจเนอเรชันที่ 4 ที่สามารถบินได้เร็วกว่า และหมุนตัวได้ดีกว่าเครื่องบิน F-16 และ F/A-18A ของสหรัฐฯ เสียอีก หลังจากที่มีการเปิดตัวเครื่องบินรุ่นนี้เมื่อปี 1983 สหภาพโซเวียตก็ได้จัดส่งพวกมันไปให้แก่ประเทศในยุโรปตะวันออกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเวลานั้นยังคงเป็นรัฐสมาชิกอยู่ในกติกาสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact) เครื่องบินเหล่านี้นี่เองเวลานี้บางส่วนถูกจัดส่งมาให้แก่ยูเครน

เซียร์เก ชอยกู (Sergey Shoigu) รัฐมนตรีกลาโหมของรัสเซีย ขณะที่กล่าวปราศรัยเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ได้พูดว่า “เราเพิ่งได้รับระบบต่างๆ ซึ่งยิงเครื่องบินตกไป 24 ลำในระยะเวลา 5 วันที่ผ่านมา” ชอยกู ไม่ได้บอกว่า “ระบบต่างๆ” ที่ว่านี้คืออะไร หรือมันกำลังปฏิบัติการอยู่ที่ตรงไหน

ไม่เป็นที่ชัดเจนว่ายังมี Mig-29 จำนวนเท่าใดที่ยังเหลืออยู่ในคลังแสงของยูเครน บางทีอาจจะมีแค่หยิบมือเดียว

ฝ่ายรัสเซียยังดูเหมือนได้ทำลายรถถังลีโอพาร์ด (Leopard tank) ไปอย่างน้อยที่สุด 3 ลำ หรือบางทีอาจจะมากกว่านั้นอีก สำหรับรถถัง เอ็ม-1 อะบรามส์ (M-1 Abrams) ซึ่งสหรัฐฯ จัดส่งให้นั้น จนถึงบัดนี้ยังไม่ได้เห็นถูกนำออกมาใช้ในการสู้รบ และเป็นไปได้ว่ากองทัพยูเครนอาจเก็บเอาไว้เป็นกำลังสำรองทางยุทธศาสตร์ ยูเครนเพิ่งยอมรับว่ารถถังอะบรามส์ ก็เฉกเช่นเดียวกับลีโอพาร์ด มีจุดอ่อนเปราะเมื่อเจอกับพวกโดรนนักฆ่าของรัสเซีย อย่างเช่น แลนสิต (Lancet) เวอร์ชันที่ผ่านการปรับปรุงยกระดับแล้ว นอกจากนั้น ยังอาจถูกทำลายด้วยปืนใหญ่และทุ่นระเบิด

สำหรับภาวะวิกฤตด้านที่สองที่ยูเครนกำลังต้องเผชิญ ก็คือเรื่องเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ ทั้งหลาย ในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ นั้น พวกพรรครีพับลิกันกำลังแยกความช่วยเหลือที่ให้แก่อิสราเอลออกจากความช่วยเหลือสำหรับยูเครน และมุ่งมั่นตั้งใจที่จะลงมือปฏิบัติการในทางนิติบัญญัติในส่วนของเงินงบประมาณสำหรับอิสราเอล (มูลค่าราว 14,000 ล้านดอลลาร์) บางทีอาจจะในสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายนเลย พวกเขาจะจัดการกับความช่วยเหลือที่ให้แก่ยูเครนแยกต่างหากออกไป แต่ไม่มีความชัดเจนว่าแพกเกจให้ยูเครนนี้จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรกันแน่ – ถึงแม้ดูเหมือนว่าจำนวนเงินที่เสนอขอไว้ คือ 61,400 ล้านดอลลาร์จะต้องถูกสอดส่องตรวจสอบอย่างหนัก และยอดเงินคงจะถูกลดลงมา

ส่วนสำคัญในรายการความช่วยเหลือทางด้านการบริหารที่ให้แก่ยูเครน จะเป็นค่าใช้จ่ายในด้านการจ่ายเงินเดือนให้แก่พวกข้าราชการลูกจ้างของรัฐบาลยูเครน งบประมาณสำหรับการดำเนินงาน และกระทั่งเงินสำหรับเอาไว้จ่ายบำนาญ คณะบริหารไบเดนเสนองบประมาณ 16,300 ล้านดอลลาร์สำหรับการประคับประคองรัฐบาลเซเลนสกี ซึ่งมากกว่ายอดความช่วยเหลือทั้งหมดที่เสนอให้แก่อิสราเอลอยู่ 2,300 ล้านดอลลาร์

กระทั่งถ้าหากสงครามในยูเครนยุติลงในวันนี้ ก็ยังจะต้องใช้เวลาอีกเป็นปีๆ ก่อนที่เศรษฐกิจของยูเครนจะสามารถสร้างรายรับได้มากเพียงพอครอบคลุมค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินงานของรัฐบาล นั่นหมายความว่ากระทรวงการคลังสหรัฐฯ อาจจำเป็นต้องให้เงินแก่ยูเครนปีละนับหมื่นๆ ล้านทุกๆ ปีเพียงเพื่อให้ยังคงดำเนินงานต่อไปได้ อาจจะยาวนานไปจนถึงทศวรรษหน้าทีเดียว (แน่นอนล่ะถ้าฝ่ายรัสเซียเกิดกลายเป็นผู้เข้าไปเทกโอเวอร์แทนไม่ว่าด้วยวิธีใด พวกเขาจะต้องเป็นผู้ควักกระเป๋าจ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านี้)

งบประมาณสำหรับดำเนินงานรัฐบาลเหล่านี้ ยังเป็นเป้าหมายที่ง่ายแก่การทุจริตคอร์รัปชัน บางทีรัฐสภาสหรัฐฯ จะพยายามลดงบประมาณในรายการค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานรัฐบาลเหล่านี้ รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขผูกพันให้ต้องมีการไล่เรียงตรวจสอบผู้รับผิดชอบเงินทองซึ่งจัดส่งไปที่นั่น ทั้งนี้มีเครื่องบ่งชี้จำนวนหนึ่งส่อแสดงว่าการทุจริตคอร์รัปชันบางส่วนเกี่ยวข้องพัวพันกับพวกบริษัทอเมริกันและพวกหุ้นส่วนทางการเมืองชาวอเมริกันซึ่งมีสายสัมพันธ์กับประดาเจ้าหน้าที่ชั้นนำของพรรคเดโมแครต
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://warroom.org/ukraine-charity-partnered-with-usaid-is-linked-to-biden-and-blinken/?utm_source=substack&utm_medium=email)

ยังต้องคอยติดตามกันต่อไปว่าเงื่อนไขเหล่านี้มีความเข้มงวดรัดกุมขนาดไหน และในยอดงบประมาณ 16,300 ล้านดอลลาร์นี้จะเหลือรอดออกมาเท่าใด

รัฐสภายังอาจเรียกร้องต้องการได้เห็นยุทธศาสตร์สำหรับการปิดฉากยุติ (exit strategy) เรื่องยูเครน จวบจนถึงเวลานี้ ยังไม่มีการเสนอยุทธศาสตร์เพื่อการยุติปิดฉากใดๆ ทั้งสิ้น แต่เมื่อพิจารณาถึงสภาพของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการสูญเสียความมั่นอกมั่นใจมากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องที่ว่ายูเครนจะสามารถมีชัยเหนือรัสเซียได้ มันก็เป็นไปได้อย่างมากที่จะมีเสียงเรียกร้องให้สร้างกลไกสำหรับการดำเนินยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้ เข้าไปในร่างงบประมาณที่จะจัดให้แก่ยูเครนด้วย

ตัวเซเลนสกีนั้นมีรายงานแล้วว่ากำลังเกิดปัญหาหลายอย่างกับพวกนายพลของเขา ปัญหาที่ว่าเหล่านี้มีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วน ส่วนแรกคือความล่าช้าอย่างมากในการเริ่มเต้นเปิดการรุกตอบโต้ครั้งนี้ ซึ่งสร้างความโกรธเกรี้ยวให้แก่เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) และพวกเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวที่ต้องการให้ลงมือทำเรื่องนี้เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเข้มแข็งในการต่อกรกับฝ่ายรัสเซีย และในฐานะเป็นวิธีหนึ่งซึ่งจะสร้างความมั่นคงทำให้ความสนับสนุนของนาโตไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องต่อไป

ทั้งสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และนาโตมีการเตรียมตัวขบคิดถึงฉากทัศน์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นมาได้ของสมรภูมิ รวมทั้งการฝึกซ้อมรับมืออย่างละเอียดลออ พวกเขาได้ช่วยเหลือฝึกกองทหารยูเครน มีการประกอบอาวุธให้แก่กำลังพลอย่างน้อยที่สุด 3 กองพลน้อยด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ตะวันตกแบบตลอดครบถ้วน แต่กระนั้นพวกผู้นำกองทัพยูเครนกลับยังคงหวาดเกรงว่าการโจมตีนี้อาจจะยังไม่ประสบความสำเร็จ และมองว่าพวกเขายังคงขาดไร้อาวุธที่สำคัญจำเป็นต่างๆ

ท้ายที่สุด การรุกนี้ก็เริ่มขึ้นจนได้ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และถึงเดือนกันยายนก็เห็นได้ชัดแล้วว่าประสบความล้มเหลว กลายเป็นการยืนยันความหวาดกลัวแบบที่เลวร้ายที่สุดของพวกผู้นำทางทหารของยูเครน (หลังจากที่ได้นำเอากำลังทหารที่ผ่านการฝึกและการสู้รบของประเทศชาติไปใช้อย่างหมดเปลืองไปแล้วเป็นจำนวนหลายหมื่นคน)

มาถึงเวลานี้ เซเลนสกีได้เรียกร้องเอากับกองทัพยูเครนอีกคำรบหนึ่ง คราวนี้เป็นเรื่องการชิงคืนเมืองที่เขาโปรดปรานอยากได้กลับมาเหลือเกิน นั่นคือเมืองบัคมุต โดยเวลาเดียวกันนั้นก็ยังคงเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องปกป้องรักษาเมืองอัฟดิอิฟกา เอาไว้ นี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทางคณะผู้นำระดับท็อปของฝ่ายทหารมองวัตถุประสงค์ 2 ประการเหล่านี้ว่าเป็นกับดัก ที่จะสูบเอากำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งหายากขึ้นเรื่อยๆ ให้เปล่าเปลืองไปเท่านั้น

เวลานี้การสู้รบยังคงกำลังดำเนินอยู่ในทั้ง 2 สถานที่เหล่านี้ ถึงแม้ฝ่ายรัสเซียเพิ่งประสบความสำเร็จในการเข้าควบคุมกองขี้แร่กองใหญ่โตที่มีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์ในเมืองอัฟดิอิฟกา โดยทำให้พวกเขาสามารถควบคุมการระดมยิงปืนครกปืนใหญ่และจรวดเข้าใส่เมืองนี้อย่างไร้เครื่องกีดขวาง รวมทั้งสามารถควบคุมเส้นทางมุ่งตรงไปสู่โรงงานผลิตถ่านโค้กซึ่งขนาดมหึมาของมันครอบงำพื้นที่เหนือเส้นขอบฟ้าของอัฟดิอิฟกา

ในเมืองบัคมุต ฝ่ายยูเครนตอนต้นๆ สามารถรุกชิงพื้นที่ในบริเวณด้านใต้ของเมืองไว้ได้บ้าง (ขณะที่ตอนทางเหนือนั้น พวกเขาถูกสกัดเอาไว้อย่างชะงัด) แต่มาถึงเวลานี้ฝ่ายรัสเซียพรักพร้อมแล้วที่จะผลักดันพวกเขาให้ถอยกลับไป มองกันในภาพรวมแล้ว การทำนายสถานการณ์ยังคงออกมาเหมือนเดิมในทั้งสองส่วน กล่าวคือ ฝ่ายรัสเซียจะประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในการผลักดันกองกำลังฝ่ายยูเครนให้ถอยกลับไป และยูเครนจะยังคงสูญเสียกำลังพลซึ่งมีความจำเป็นสำหรับการสำรองเอาไว้ในทางยุทธศาสตร์ของพวกเขา

เซเลนสกีนั้นเห็นชัดว่า ตระหนักเป็นอย่างดีว่าเขาอาจจะถูกเปลี่ยนตัว และมีความหวาดกลัวว่าอาจจะมีการทำความตกลงกันระหว่างฝ่ายรัสเซียกับฝ่ายทหารของยูเครน นี่อาจใช้อธิบายได้ว่าทำไมหน่วยงานความมั่นคงภายในประเทศของยูเครน (SBU) จึงพยายามที่จะสังหาร โอเลก ซาร์ยอฟ (Oleg Tsaryov) อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติของยูเครน ผู้ซึ่งฝ่ายข่าวกรองสหรัฐฯ เคยกล่าวว่ากำลังได้รับการอบรมบ่มเพาะเพื่อให้เข้าแทนที่ เซเลนสกี เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ในตอนที่กองกำลังฝ่ายรัสเซียพยายามบุกเข้ายึดกรุงเคียฟ

ซาร์ยอฟ ถูกลอบยิงมาแล้ว 2 ครั้ง และถูกพบตัวในสภาพหมดสติที่เขตยัลตา (Yalta) ยูเครนบอกว่าเขาเป็นคนทรยศ และเขามีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อพร้อมกับพวกคนทรยศรายอื่นๆ ทั้งนี้ที่ผ่านมามีกรณีการลอบสังหารจำนวนหนึ่งที่ดำเนินการโดยหน่วย SBU ของยูเครนโดยพุ่งเป้าหมายเล่นงานพวกปรปักษ์ของเซเลนสกี
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://substack.com/redirect/5e7aa4ec-f353-489b-959b-c67de7a2c5f9?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw)

จังหวะเวลาของเหตุลอบยิงซาร์ยอฟ ซึ่งเห็นชัดว่าเป็นเป้าหมายที่ทรงคุณค่าสูงมาก บ่งชี้ให้เห็นว่าเซเลนสกีกำลังว้าวุ่นหงุดหงิดด้วยความคิดมุ่งประสงค์จะกำจัดผู้ที่มีศักยภาพอาจขึ้นมาท้าทายเขาได้ ภายในยูเครนนั้น เขายังกำลังเพิ่มความเข้มงวดกดขี่ ด้วยการเข้าจับกุมเหล่าปรปักษ์ อย่างเช่น อิฮอร์ โคโลมอยสกี (Ihor Kolomoisky) อภิมหาเศรษฐีและนายแบงก์ชาวยูเครน ด้วยข้อหาฉ้อโกง

ถ้าหากสถานการณ์ทางทหารยังคงเลวร้ายลงต่อไปอีก และรัฐสภาสหรัฐฯ เดินหน้าตัดลดเงินทองที่ให้แก่ยูเครนอย่างน้อยก็บางส่วนแล้ว วาระการครองตำแหน่งของเซเลนสกีก็อาจจะมาถึงจุดสิ้นสุด และตัวเซเลนสกีก็อาจจะถึงคราวอับปางพังครืน

สตีเฟน ไบรเอน เคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเจ้าหน้าที่ของคณะอนุกรรมการตะวันออกลางใกล้ แห่งคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ รวมทั้งเคยเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบายของสหรัฐฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ Center for Security Policy และ Yorktown Institute

ข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน
กำลังโหลดความคิดเห็น