xs
xsm
sm
md
lg

สภาพความยากลำบากของจริงในแนวหน้า เมื่อกองทหารยูเครนพยายามเจาะทะลวงการตั้งรับของฝ่ายรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สำนักข่าวเอเอฟพี ***


ทหารจากกองพลน้อยทหารราบยานเกราะที่ 65 ของกองทัพบกยูเครน ยืนอยู่ตรงที่มั่น ใกล้ๆ กับหมู่บ้านโรโบทีน ซึ่งเป็นหมู่บ้านบริเวณแนวหน้า ในแคว้นซาโปริซเซีย ในภาพซึ่งถ่ายไว้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2023 ที่ผ่านมา
On southern front, Ukraine's struggle to pierce Russian lines
by Veronika MIRONOVA / Andriy KALCHENKO, AFP
12/10/2023

ตอนที่ฝ่ายยูเครนเข้ายึดหมู่บ้านโรโบทีน ในแคว้นซาโปริซเซีย คืนมาได้จากรัสเซีย มีการประโคมข่าวว่า เคียฟค้นพบหนทางในการฝ่าแนวรับอันแข็งแกร่งของแดนหมีขาว เพื่อบุกต่อไปจนถึงฝั่งทะเลอาซอฟ และตัดขาดเส้นทางลำเลียงสำคัญยิ่งของฝ่ายมอสโก ทว่าเวลาผ่านไปเกือบ 2 เดือน ก็ยังไม่มีการทะลุทะลวงใดๆ ปรากฏให้เห็นอย่างชนิดจับต้องได้

เมื่อตอนที่ยูเครนประกาศว่าฝ่ายตนสามารถเข้ายึดครองหมู่บ้านโรโบทีน (Robotyne) ได้อีกครั้งหนึ่งแล้ว ข้อความที่พวกเขาต้องการส่งไปให้โลกรับรู้ก็คือว่า พวกเขาได้ค้นพบหนทางสำหรับการเจาะผ่านแนวรับของฝ่ายรัสเซียในบริเวณแนวรบด้านภาคใต้ยูเครนแล้ว

อย่างไรก็ตาม เวลาผ่านไป 6 สัปดาห์ ยังคงไม่มีการทะลุทะลวงดังกล่าวใดๆ ปรากฏให้เห็นอย่างชนิดจับต้องได้ และทหารหลายคนจากกองพลน้อยที่ 65 (65th brigade) ของยูเครน ซึ่งเป็นผู้นำในการบุกโจมตีตรงจุดดังกล่าวนี้ ยังยอมรับว่า จริงๆ แล้วพวกเขายังไม่สามารถเข้าควบคุมหมู่บ้านแห่งนี้เอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์

การบุกยึดหมู่บ้านเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในแคว้นซาโปริซเซีย (Zaporizhzhia) แห่งนี้กลับคืนมาได้อีกครั้ง ได้รับการประโคมข่าวในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า เป็นชัยชนะระดับยุทธศาสตร์อย่างหนึ่งในการรุกตอบโต้ครั้งใหญ่ของฝ่ายยูเครนระลอกนี้

ทว่ามีทหารยูเครน 8 คนซึ่งมีส่วนอยู่ในการสู้รบนี้ บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า กองกำลังของพวกเขาเพียงแค่กำลังรุกคืบหน้าไปได้นิดเดียว โดยที่ต้องประสบความสูญเสียอย่างหนัก ในการต่อกรกับกองทัพรัสเซียที่ตั้งรับกันอย่างเหนียวแน่น โดยที่ด้านหลังถัดไปของแนวต้านทานนี้ยังมีประดาที่มั่นซึ่งจัดสร้างขึ้นมาอย่างแข็งแกร่งติดอาวุธพรักพร้อม

ขณะที่พูดกับเอเอฟพีในพื้นที่ซึ่งปกติแล้วปกปิดไม่ให้สื่อเข้าไป พวกเขาร้องทุกข์ทั้งเรื่องการขาดแคลนกำลังพล เครื่องกระสุน และโดรน

อิกอร์ โครอล (Igor Korol) ผู้บังคับการที่มีรอยสักตามตัวเต็มไปหมดของกองพันที่ 1 ของกองพลน้อยนี้ พูดอย่างสุขุมเรียบๆ แต่ไม่มีการอ้อมค้อมใดๆ ในคำพูดของเขา

สำหรับเขาแล้ว การประกาศข่าวว่าสามารถยึดโรโบทีนได้เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น สิ่งที่โดดเด่นเห็นชัดเป็นอันดับแรกเลยก็คือ มันเป็นความเคลื่อนไหวทางด้านการประชาสัมพันธ์ เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้ซึ่งถูกฝ่ายรัสเซียยึดเอาไว้ตั้งแต่ตอนต้นๆ ของสงครามคราวนี้นั้น ไม่ได้มีคุณค่าทางยุทธศาสตร์อย่างแท้จริงใดๆ

“พวกเราควรที่จะสามารถไปไหนมาได้รอบๆ หมู่บ้าน” เขากล่าว ขณะพูดกับเอเอฟพีจากพื้นที่ใกล้ๆ แนวหน้า

“พวกเราชื่นชอบกันนักเรื่องการประกาศข่าวใหญ่โต เรื่องการได้ชัยชนะอย่างรวดเร็ว แต่ความเป็นจริงเป็นสิ่งที่แตกต่างออกไป” เป็นคำพูดของผู้บังคับการกองพันผู้นี้ที่ใช้ชื่อเรียกขานทางวิทยุสื่อสารว่า “มอร์เปค” (Morpekh ซึ่งในภาษาอังกฤษคือคำว่า Marine นาวิกโยธิน)

“โปลตาวา” รองผู้บังคับการกองพัน ในกองพลน้อยทหารราบยานเกราะที่ 65 ของยูเครน นั่งอยู่ในสนามเพลาะซึ่งขุดโดยกองทหารรัสเซีย ก่อนจะถูกฝ่ายยูเครนยึดเอาไว้ ตรงบริเวณใกล้ๆ หมู่บ้านโรโบทีน ในภาพซึ่งถ่ายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2023
“ตายแน่นอน 100%”

โครอลบอกว่าคนของเขายังคงไม่สามารถเคลื่อนไหวไปมาในพื้นที่รอบๆ แถวนี้ได้อย่างเสรี เนื่องจากถูกฝ่ายรัสเซียจ้องยิงเอา ถึงแม้พวกเขายึดพื้นที่ตรงนี้เอาไว้ได้แล้ว แต่ก็เรียกมันว่าเป็น “พื้นที่สีเทา”

ในช่วงเวลารุ่งสาง เราสามารถมองเห็นทหารกลุ่มเล็กๆ กำลังเคลื่อนตัวเพื่อเข้าโจมตีที่มั่นต่างๆ ของฝ่ายรัสเซีย โดยบุกผ่านหย่อมพื้นที่ป่าละเมาะซึ่งมีต้นไม้ขนาดเล็กๆ ค่อนข้างหนาแน่น หย่อมพื้นที่เช่นนี้มีกระจายอยู่ทั่วบริเวณ

ในวันที่ทีมผู้สื่อข่าวของเอเอฟพีไปเยือนนั้น พวกเขาได้รับคำสั่งให้เคลื่อนไปยังบริเวณชายขอบของหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ถัดไปตามเส้นทาง ซึ่งได้แก่หมู่บ้านโนโวโครปิฟกา (Novokropivka) ที่อยู่ห่างออกไป 2-3 กิโลเมตร

“การเคลื่อนที่ไปในตอนกลางวันแสกๆ หมายถึงตาย –แน่นอน 100%” โครอล กล่าว ทุกๆ ครั้งที่มีการยิงปืน “มันก็คือมีเหยื่อเคราะห์ร้าย เราต้องสูญเสียคน”

ถึงแม้ขณะนี้กองกำลังฝ่ายรัสเซียไม่ได้อยู่ในโรโบทีนแล้ว แต่พื้นที่ตรงนี้ยังคงอยู่ภายในขอบเขตการปฏิบัติการของทหารราบของพวกเขาซึ่งมีขนาดใหญ่โตมาก โดยที่พวกยานเกราะต่างๆ เข้ามาไม่ได้เลย

กองทัพยูเครนนั้นมีจุดมุ่งหมายอันทะเยอทะยานที่จะรุกไปจนกระทั่งถึงทะเลอาซอฟ (Azov Sea) เพื่อตัดทะลวงผ่านเส้นทางแลนด์บริดจ์ซึ่งเชื่อมระหว่างแคว้นทางภาคใต้กับแคว้นทางภาคตะวันออกของยูเครนที่เวลานี้รัสเซียยึดครองเอาไว้

ชัยชนะดังกล่าวนี้ถ้าหากเกิดขึ้นมาได้สำเร็จ ก็อาจสามารถบีบบังคับให้รัสเซียต้องยอมล่าถอย เนื่องจากมันหมายถึงเส้นทางส่งเสบียงสัมภาระต่างๆ ของพวกเขาจะถูกตัดขาด

ยานเกราะรัสเซียที่ถูกทำลายจอดอยู่ในท้องถิ่น ใกล้ๆ หมู่บ้านโรโบทีน  ทั้งนี้ยูเครนประกาศว่าปลดปล่อยหมู่บ้านแห่งนี้ได้เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2023  ทำให้มีช่องทางจะทะลวงผ่านแนวป้องกันในแนวรบทางด้านภาคใต้นี้  ทว่าเวลาผ่านไป 6 สัปดาห์ ทหารหลายคนในกองพลน้อยที่ 65 ของยูเครนซึ่งเป็นหน่วยแรกที่เคลื่อนเข้าสู่หมู่บ้านแห่งนี้ ยอมรับว่าพวกเขายังไม่สามารถควบคุมพื้นที่เอาไว้ได้อย่างเต็มที่
“แนวซูโรวิคิน”

สำหรับทำเนียบเครมลินแล้ว ข้อเท็จจริงที่ว่ายูเครนเพียงแค่สามารถยึดพื้นที่คืนไปได้ไม่กี่สิบตารางกิโลเมตรนับตั้งแต่เปิดการรุกตอบโต้ในเดือนมิถุนายน คือเครื่องพิสูจน์ถึงความล้มเหลวของการปฏิบัติการขนาดใหญ่คราวนี้

เมืองขนาดใหญ่แห่งแรกที่อยู่ถัดจากโรโบทีน คือเมืองตอคมัค (Tokmak) ซึ่งอยู่ห่างออกไปราวๆ 30 กิโลเมตร สำหรับทะเลอาซอฟนั้นอยู่ไกลออกไป 70 กิโลเมตร

รัสเซียได้สร้างแนวป้องกันที่แข็งแกร่งมากขึ้นมา โดยมีทั้งที่หลบภัยใต้ดิน คูสนามเพลาะ อุปกรณ์ในการดักรถถัง และสนามทุ่นระเบิด

กองกำลังยูเครนสามารถคืบหน้าไปได้เพียงไม่กี่นิ้ว –และมักตกอยู่ใต้กำลังยิงของข้าศึกอยู่เสมอ

แนวป้องกันของฝ่ายรัสเซียได้รับสมญานามว่า “แนวซูโรวิคิน” –ตามชื่อของพลเอกเซียร์เก ซูโรวิคิน (General Sergei Surovikin) ที่เป็นผู้บัญชขาการกองทหารรัสเซียในยูเครนในช่วงเวลาที่พวกเขาสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา

กองทัพยูเครนได้เจาะทะลุแนวป้องกันแนวแรกสำเร็จในสถานที่บางแห่งในฤดูร้อนที่ผ่านมา ทว่าแนวป้องกันหลักๆ ยังคงถูกฝ่ายรัสเซียรักษาเอาไว้ได้อย่างแข็งแรง

ฝนที่ตกลงมาและดินโคลนซึ่งเกิดขึ้นในฤดูใบไมร่วง รวมทั้งหิมะพร้อมกับน้ำแข็งในฤดูหนาวในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ จะทำให้ภารกิจของฝ่ายยูเครนประสบความยากลำบากมากขึ้นไปอีก

อันตรายที่มาจากท้องฟ้าก็เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ –ทั้งลูกระเบิดที่โปรยปรายลงมาทางอากาศ ลูกกระสุนปืนใหญ่ปืนครก และห่าฝนโดรนระเบิดซึ่งโปรยปรายลงมาใส่ทหารยูเครนทุกๆ ครั้งที่พวกเขาพยายามบุกขึ้นหน้า

“พุ่มไม้ทีละพุ่ม”

ลีโอนิด (Leonid) ผู้ชำนาญพิเศษด้านระเบิดอายุ 44 ปี ซึ่งใช้นามเรียกขานว่า “ไมรอน” (Miron) บอกว่าพวกทหารสามารถบุกขึ้นหน้าได้เฉพาะในช่วงเวลา “3 ถึง 5 นาที” ระหว่างที่ข้าศึกหยุดระดมยิง

“มันไม่มีการสู้รบแบบประชิดตัว” เขาบอก

ฝ่ายรัสเซียคอยยิงเข้ามาทั้ง “ลูกปืนครก 120 มม. และ 82 มม. และลูกปืนใหญ่ 152 มม. แล้วยังพวก (โดรน) กามิกาเซ และ KABs” ซึ่งเป็นลูกระเบิดนำทางด้วยเลเซอร์ประเภทหนึ่ง

“โปลตาวา” (Poltava) รองผู้บังคับการของกองพันที่หนึ่ง กล่าวว่า กองทัพฝ่ายรัสเซีย “ไม่มียอมประหยัดอะไรเลยไม่ว่าในเรื่องกระสุนหรือลูกระเบิด”

ผลก็คือ การรุกคืบหน้าของฝ่ายยูเครนเป็นไปได้อย่างเชื่องช้า โดยที่ต้องสูญเสียอย่างหนัก

“เราคืบหน้าไปอย่างช้าๆ จากพุ่มไม้หนึ่งไปอีกพุ่มหนึ่ง ไม่เร็วอย่างที่เราต้องการหรอก ... มันลำบากมากๆ เราต้องเสียคนของเราเป็นจำนวนมาก” เขาบอก

ทั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายยูเครนและฝ่ายรัสเซีย ต่างไม่ให้ตัวเลขใดๆ เกี่ยวกับการบาดเจ็บล้มตายทางการทหาร

พวกทหารจากกองพลน้อยที่ 65 บอกว่า รัสเซียยิงเข้ามาถึง 10 นัด จากทุกๆ “1 ถึง 2 นัด” ที่ฝ่ายพวกเขายิงไป ทั้งนี้ในเรื่องโดรน สถานการณ์ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน

“เรากำลังสู้รบกับ ... ประเทศขนาดใหญ่มหึมา พวกเขามีกำลังคนมากกว่า มีอาวุธยุทโธปกรณ์มากกว่า” เป็นคำพูดของ โอเลคซานดร์ (Oleksandr) ทหารวัย 27 ปี ซึ่งใช้นามเรียกขานว่า “พายุ” (Storm)

“เมื่อพวกเขาบอมบ์ใส่พุ่มไม้ เราก็ต้องรีบเข้าที่กำบังตรงไหนก็ตามที่เราสามารถหาได้ ... เมื่อมันจบลงแล้ว เราก็รู้ว่าเราสามารถเคลื่อนที่ได้ และถ้าเป็นไปได้เราก็จะเคลื่อนไปข้างหน้า”



ทหารควบคุมโดรนของกองพลน้อยที่ 65 บังคับโดรนขึ้นบินเพื่อระบุตำแหน่งที่มั่นของกองทัพรัสเซีย



โดรนที่ทหารกองพลน้อยที่ 65 ของยูเครนบังคับให้ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า เพื่อตรวจหาตำแหน่งที่มั่นของฝ่ายรัสเซีย โดยมีทหารอีกคนหนึ่งซึ่งอยู่บนพื้นดิน คอยถือเสาอากาศสำหรับถ่ายทอดสัญญาณบังคับโดรน
“ค่าใช้จ่ายแพงลิบลิ่ว”

ยูเครนปฏิเสธเสียงแข็งไม่ยอมรับข้อเสนอแนะจากพวกผู้สนับสนุนชาวตะวันตกของพวกเขาที่ว่า ดินแดนที่พวกเขารุกตอบโต้ยึดคืนมาได้นั้นยังน้อยเกินไป

พวกเขายังเถียงแหลกตอบโต้ประดาเสียงที่มาจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งปรารถนาจะให้ลดอาวุธที่จัดส่งให้แก่ยูเครน

ทางการเคียฟแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยชัดเจนว่า ความยากลำบากต่างๆ ที่ทหารของพวกเขาต้องประสบอยู่ในตอนนี้ ที่สำคัญเนื่องมาจากการขาดแคลนความสนับสนุนอย่างที่ควรจะเป็น รวมทั้งจากความล่าช้าในการจัดหาจัดส่งอาวุธมาให้ของฝ่ายตะวันตก

พวกเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 ซึ่งเคียฟได้รับคำมั่นสัญญาว่าจะจัดส่งให้ จะสามารถใช้ท้าทายฐานะความเป็นเจ้าเวหาของรัสเซีย รวมทั้งสามารถเล่นงาน “แนวซูโรวิคิน” ตลอดจนให้ความคุ้มกันทางอากาศแก่การรุกคืบหน้าของกองทหารราบ

หากไม่มีการคุ้มกันจากทางอากาศ ทหารยูเครนก็สามารถที่จะเคลื่อนที่ได้อย่างช้ามากๆ แค่นั้น

“ราคาที่ต้องจ่ายก็คือชีวิตของคนของฝ่ายเรา ... และเราก็มีกำลังคน (สำรอง) เหลืออยู่น้อยเหลือเกิน” โครอล กล่าว

มีโคลา (Mykola) หรือ “ด็อค” (หมอ) ทหารเสนารักษ์ซึ่งทำหน้าที่สู้รบด้วย กล่าวยอมรับว่า “ต้นทุนที่ต้องจ่ายไปนั้นสูงมาก” ขณะที่เล่าให้ฟังถึงการโยกย้ายทหารบาดเจ็บออกไปในเวลาที่กำลังถูกข้าศึกระดมยิง

“สงครามคือเลือด หยาดเหงื่อ ความสกปรก กลิ่นเหม็นเน่า คุณไม่สามารถมองเห็นกลิ่นอย่างนี้จากจอภาพได้หรอก” เป็นคำกล่าวของชายผู้นี้ที่ปัจจุบันอายุ 47 ปี และเคยทำงานอยู่กับบริษัทเทคโนโลยีในภาคการเงินแห่งหนึ่งในช่วงก่อนสงคราม

รอง ผบ.พัน โปลตาวา บอกว่าสิ่งที่ลำบากยากเย็นที่สุดก็คือการพูดจากับผู้เป็นที่รักของทหารซึ่งถูกฆ่าตายในการสู้รบ โดยที่ยังไม่สามารถกู้เอาศพของพวกเขากลับออกมาได้

“พวกเขาเอาแต่โทร.ติดต่อเข้ามาตลอดเวลา เพื่อสอบถามว่าเมื่อไหร่เราจึงจะสามารถนำเอาศพออกมาได้ แต่พวกเขา (ศพ) อยู่ตามสถานที่ซึ่งไม่สามารถส่งใครเข้าไปเอาได้หรอก มันอันตรายมากๆ และเรามีความเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียทหารเพิ่มมากขึ้นอีก” เขากล่าว

“เรารู้ว่าเพื่ออะไร”

กระนั้นก็ตาม เหล่าบุรุษชาติอาชาไนยของกองพลน้อยที่ 65 ต่างประกาศว่า อย่าได้ฝันว่าพวกเขาจะต้องจำนนเลิกสู้รบ

สำหรับพวกเขาแล้ว สงครามสามารถมีจุดจบได้เพียงทางเดียวเท่านั้น นั่นคือ รัสเซียเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และการเข้ายึดคืนดินแดนที่ถูกยึดครองไปกลับคืนมาทั้งหมด

“พวกเรารู้ดีว่า พวกเรากำลังทำอะไรอยู่ตรงนี้” “ด็อค” บอก

มิคฮาอิล (Mikhail) วัย 28 ปีที่ใช้นามเรียกขานว่า “คาปา” (Kapa) อยู่ในหมู่ทหารกลุ่มแรกๆ ที่เข้าสู่หมู่บ้านโรโบทีน ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา

ก่อนที่จะถูกส่งมาประจำการที่แนวรบทางภาคใต้นี้ เขาสู้รบอยู่ในแคว้นคาร์คิฟ (Kharkiv) ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน ตลอดจนเคยเข้าร่วมในสมรภูมินองเลือดเพื่อช่วงชิงเมืองบัคมุต (Bakhmut) ที่อยู่ในภูมิภาคดอนบาส (Donbas) ทางภาคตะวันออก

เขาเชื่อว่ารัสเซียตัดสินใจเลิกพยายามรุกคืบหน้า และหันมาสร้างแนวป้องกันของพวกตน หลังจากที่ต้องล่าถอยอย่างต่อเนื่องเป็นชุดใหญ่ในฤดูใบไม้ร่วงปี 2022

“พวกเขาเข้าใจดีว่าพวกเขาจะไม่สามารถยึดพื้นที่ใดๆ เพิ่มเติมแล้วครอบครองเอาไว้ได้อีกแล้ว ดังนั้น พวกเขาจึงตั้งแนวป้องกันอยู่ตรงนี้เพื่อการสู้รบในระยะยาว” เขาบอก

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ นับจากที่รัสเซียล่าถอยออกจากเมืองเคียร์ซอน (Kherson) ทางภาคใต้ในเดือนพฤศจิกายนปี 2022 แล้ว เส้นแนวหน้าก็มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากๆ ในช่วงเวลาเกือบๆ 1 ปีมานี้

แต่นี่ไม่ได้กัดกร่อนแรงจูงใจของพวกทหารที่ถูกส่งมาโจมตีแนวรบซูโรวิคินหรอก มิคาอิล กล่าว

“เด็กๆ ที่มาที่นี่ พวกเขาต่างรู้ว่าพวกเขามาอยู่ที่นี่เพื่ออะไร พวกเขามาที่นี่ก็เพื่อทำงาน เพื่อขับไล่ข้าศึก เปิดฉากการโจมตี ไม่ใช่เอาแต่นั่งแอบอยู่ในคูรบ”
กำลังโหลดความคิดเห็น