เอเอฟพี - สหรัฐฯ แคนาดา และอังกฤษ ออกมาตรการคว่ำบาตรชุดใหม่ที่มุ่งเป้าไปยังแหล่งสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่า ที่ต่อยอดจากมาตรการคว่ำบาตรก่อนหน้านี้ และมุ่งเป้าไปที่ความสามารถในการจัดซื้ออาวุธ
ข้อจำกัดชุดใหม่นี้มีขึ้นหลังการรัฐประหารผ่านไปแล้วกว่า 2 ปี ที่ทหารดำเนินการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย
“รัฐบาลทหารพม่าทำร้ายพลเรือนหลายครั้งด้วยการโจมตีทางอากาศ ปราบปรามการเคลื่อนไหวสนับสนุนประชาธิปไตย ทำลายบ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐาน และทำให้ผู้คนหลายล้านคนต้องพลัดถิ่น” นับตั้งแต่การรัฐประหาร กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุ
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยังเสริมว่ามาตรการคว่ำบาตรล่าสุดมุ่งเป้าที่บริษัทและบุคคล รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่เอื้อให้เกิดความรุนแรงในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้
หนึ่งในการดำเนินการสำคัญคือการคว่ำบาตรบริษัท Myanma Oil and Gas Enterprise ที่รัฐเป็นเจ้าของ โดยสหรัฐฯ ระบุว่าบริษัทนี้ยังคงเป็นแหล่งรายได้จากต่างประเทศแหล่งใหญ่ที่สุดสำหรับรัฐบาลทหาร ที่ให้ทุนหลายร้อยล้านดอลลาร์ในแต่ละปี
“เรายังสนับสนุนให้ทุกประเทศใช้มาตรการที่จับต้องได้เพื่อหยุดยั้งไม่ให้ยุทโธปกรณ์ เชื้อเพลิงเครื่องบิน และรายได้ ไหลเข้าสู่รัฐบาลทหารพม่า” แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ระบุในคำแถลง
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยังกำหนดมาตรการคว่ำบาตรกับบริษัท 3 แห่งที่ช่วยเหลือรัฐบาลทหารนำเข้าอาวุธและสินค้าต่างๆ และบุคคลอีก 5 ราย
“การกระทำในวันนี้ ที่ดำเนินการร่วมกันกับแคนาดาและอังกฤษ ยังคงรักษาแรงกดดันร่วมกันของเราต่อกองทัพพม่าและปฏิเสธไม่ให้รัฐบาลเข้าถึงอาวุธและเสบียงที่จำเป็นในการกระทำที่รุนแรง” ไบรอัน เนลสัน ปลัดกระทรวงการคลังฝ่ายต่อต้านการก่อการร้ายและข่าวกรองการเงิน ระบุ
ในคำแถลงอีกฉบับหนึ่ง อังกฤษประกาศคว่ำบาตรบุคคล 5 ราย และหน่วยงาน 1 แห่ง ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการเงินแก่รัฐบาลทหารหรือจัดหาสินค้าต้องห้าม
ทางการแคนาดาเสริมว่าจากการดำเนินการล่าสุด ขณะนี้แคนาดาได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรกับบุคคล 95 ราย และหน่วยงาน 63 แห่ง
ในพม่า กองทัพเข้ายึดอำนาจในวันที่ 1 ก.พ.2564 โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและขับประธานาธิบดีวิน มี้น และอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐออกจากตำแหน่ง.