xs
xsm
sm
md
lg

นางสนองฯ ควีนรุ่นตกค้าง เซ้าซี้เหยียดผิวสาวอังกฤษ-แอฟริกันในงานวังหลวง บัคกิงแฮมลั่น “ยอมไม่ได้”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รู้หน้า-ไม่รู้ใจ: เลดี้ซูซาน ฮัสซี (ภาพกลาง) เป็นนางสนองพระโอษฐ์คนสนิทของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และต่อมาในรัชสมัยของคิงชาร์ลส์ที่ 3 ก็ได้ถวายงานรับใช้ในตำแหน่งใหม่ คือ เลดี้แห่งสำนักพระราชวัง จู่ๆ เหตุร้ายอุบัติขึ้นจากสองเรียวปากของเลดี้ ขณะที่สำนักพระราชวังมีนโยบายชัดเจนเรื่องต่อต้านการเหยียดผิว ปรากฏว่าเลดี้ฮัสซีได้คุกคามทางเชื้อชาติต่อแขกรับเชิญสตรีชาวอังกฤษเชื้อสายแอฟริกันผู้มีผิวกายสีดำ กล่าวคือ แม้สิ่งนี้ไม่เคยหลุดออกมาจากข้างในใจของเลดี้เลย แต่แล้ว... เลดี้ฮัสซี วัย 83 ปี เกิดจะเปิดฉากล่วงละเมิดแขกรับเชิญผิวดำของควีนคามิลลาว่า “คุณมาจากที่ไหนของแอฟริกา แล้วพวกคนของคุณมาจากไหน” เรื่องราวถูกถ่ายทอดขึ้นบนทวิตเตอร์และกลายเป็นไวรัลภายในชั่วข้ามคืน พร้อมกับสร้างความเสียหายแก่สถาบันกษัตริย์อังกฤษอย่างไม่ใช่ที่เลย
การเหยียดเชื้อชาติอย่างร้ายแรงพรั่งพรูจากเรียวปากของนางสนองพระโอษฐ์รุ่นตกค้างจากยุคควีนเอลิซาเบธที่ 2 กลางงานเลี้ยงรับรองของพระราชวังบัคกิงแฮม ซึ่งมุ่งส่งเสริมความตื่นตัวต่อปัญหาการใช้ความรุนแรงรังแกสตรีและเด็ก นางสนองพระโอษฐ์รุ่นเดอะ วัย 83 ปีรายนี้เป็นเลดี้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการถวายรับใช้ใกล้ชิดควีนเนิ่นนานกว่า 60 ปี และยังคงปฏิบัติงานต่อเนื่องในสมัยของสมเด็จพระราชินีคามิลลา เธอได้สร้างความมัวหมองแก่ควีนคามิลลา สื่อใหญ่แอลบีซีของอังกฤษชี้ประเด็นไว้อย่างนั้น ทั้งนี้ พระราชกรณียกิจในครั้งนี้มีแขกรับเชิญเข้าร่วมมากกว่า 300 ราย ณ พระราชวังบัคกิงแฮม เมื่อวันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน 2022

เลดี้ซูซาน ฮัสซี คือ นางสนองพระโอษฐ์ดังกล่าว เธอได้คุกคามทางเชื้อชาติต่อแขกรับเชิญสตรีชาวอังกฤษเชื้อสายแอฟริกันผู้มีผิวกายสีดำ และเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรช่วยเหลือพี่สาวน้องสาวที่ถูกข่มเหง คือ Sistah Space โดยเลดี้ทำการล่วงละเมิดทางวาจา เช่น “คุณมาจากที่ไหนของแอฟริกา แล้วพวกคนของคุณมาจากไหน” ทั้งนี้ อาจจะเพราะเลดี้มีอายุมาก จึงหลงลืมที่จะยุติการกระทำ ทั้งที่แขกผู้ทรงเกียรติผิวดำได้พยายามอธิบายและพยายามบ่ายเบี่ยงออกจากสถานการณ์ “กัดไม่ปล่อย” อย่างสุภาพที่สุด

ซีอีโอ เอนโกซี ฟูลานี แห่งองค์กรซิสตาห์ สเปซ แห่งเขตแฮกนีย์ในลอนดอนตะวันออก เป็นนักเคลื่อนไหวซึ่งทำงานช่วยเหลือสนับสนุนสตรีและเด็กเชื้อสายแอฟริกันและแคริบเบียนที่ถูกทำร้ายทางเพศและถูกรังแกจากคนในครอบครัว
เกิดเป็นคนอังกฤษแท้ๆ แค่ผิวดำกว่าใครก็ต้องถูกซักไซ้ว่ามาจากที่ไหนของแอฟริกา น่าสะเทือนใจนะ

สื่อใหญ่แอลบีซีของอังกฤษ รายงานว่า แขกรับเชิญในกิจกรรมการพัฒนาสังคมของพระราชวังบัคกิงแฮม ซึ่งมีสมเด็จพระราชินีคามิลลาทรงเป็นเจ้าภาพ ได้เขียนบ่นไว้บนทวิตเตอร์ว่าเธอถูก เลดี้ซูซาน ฮัสซี (คุณแม่ทูนหัวของเจ้าชายวิลเลียม) คิดว่าเธอไม่ใช่คนอังกฤษ และตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับต้นสายเชื้อชาติของเธอ ซึ่งเป็นวาจาที่เธอรู้สึก “เป็นการดูหมิ่น” อันสืบเนื่องจากที่เธอมีผิวกายสีดำ

สาวอังกฤษรายดังกล่าวมีนามว่า เอนโกซี ฟูลานี เธอเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมและเป็นซีอีโอขององค์กรการกุศลซิสตาห์ สเปซ แห่งเขตแฮกนีย์ในลอนดอนตะวันออก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนสตรีและเด็กเชื้อสายแอฟริกันและแคริบเบียนที่ถูกทำร้ายทางเพศและถูกรังแกจากคนในครอบครัว

เธอเขียนเล่ารายละเอียดของการปะทะคารมไว้บนทวิตเตอร์ว่า เลดี้นางหนึ่ง ที่เธอขอเรียกชื่อว่า “เลดี้ เอสเอช” (Lady SH – สื่อหลายค่าย เช่น แอลบีซี และรอยเตอร์รายงานว่าเป็น Lady Susan Hussey) ซึ่งอยู่ในคณะเจ้าหน้าที่ของสำนักพระราชวัง เดินเข้ามาปัดผมของเธอเพื่ออ่านป้ายชื่อ แล้วกดดันเธอด้วยคำถามที่พรั่งพรูบาดความรู้สึก ดังนี้

“ราวสิบนาทีที่ดิฉันไปถึงห้องจัดงาน เจ้าหน้าที่สตรีคนหนึ่งของสำนักพระราชวังตรงเข้ามาขยับผมของดิฉันเพื่อจะดูป้ายชื่อ ดิฉันบอกว่าดิฉันมาจากองค์กรการกุศลชื่อ ซิสตาห์ สเปซ หลังจากนั้น สตรีท่านนั้นถามว่า

“คุณมาจากไหน”

“เรามีสำนักงานในเขตแฮกนีย์ค่ะ”

“ไม่ใช่ คุณมาจากส่วนไหนของแอฟริกา” คุณเอ็มโกซีเขียนว่าเจ้าหน้าที่สตรีถามเธออย่างนั้น

“ดิฉันไม่ทราบค่ะ พวกผู้ใหญ่ไม่ได้ทิ้งข้อมูลใดๆ ไว้เลยค่ะ”

“อื้ม.. คุณต้องรู้สิว่าคุณมาจากไหน ฉันเคยอยู่ในฝรั่งเศส คุณมาจากไหน”

“จากที่นี่ ในอังกฤษค่ะ”

“ไม่สิ แต่คุณมีสัญชาติอะไร”

“ดิฉันเกิดที่นี่ และเป็นคนอังกฤษค่ะ”

“ไม่ใช่ จริงๆ แล้วคุณมาจากที่ไหน พวกคนของคุณมาจากที่ไหน”

“พวกคนของดิฉัน! เลดี้คะ นี่มันอะไรกันคะ”

“น่ะ ฉันเห็นละ ฉันต้องมีข้อท้าทายสักหน่อยจึงจะทำให้คุณยอมบอกว่าคุณมาจากไหน แล้วคุณมาถึงที่นี่ครั้งแรกเมื่อไรล่ะ”

“เลดี้คะ! ดิฉันเป็นประชาชนชาวอังกฤษ คุณพ่อคุณแม่ของดิฉันมาถึงที่นี่ในทศวรรษที่ 50 ตอนนั้น...”

“โอ... ฉันคิดแล้วเราต้องมาถึงจุดนี้ในท้ายที่สุด คุณเป็นแคริบเบียนน่ะเอง!”

“ไม่ใช่ค่ะเลดี้ ดิฉันสืบเชื้อสายจากแอฟริกันค่ะ มีบรรพบุรุษในแคริบเบียน และก็เป็นคนสัญชาติอังกฤษค่ะ”

เอนโกซี ฟูลานี เล่าต่อเนื่องมาว่าเธอรู้สึก “ตกใจ” กับคำพูดต่างๆ ที่ออกมาจากเลดี้เอสเอช ซึ่งมีสตรีสองท่านที่ยืนใกล้ๆ ได้ยินด้วย

“เราอึ้งและเงียบไปครู่หนึ่งค่ะ” ซีอีโอขององค์การซิสตาห์ เขียนเล่าบนทวิตเตอร์อย่างนั้น และเล่าต่อมาว่า เธอยืนอยู่ริมห้อง ยิ้ม และยอมสนทนาต่ออีกนิดหน่อย จนกระทั่งได้จังหวะก็เดินผละมา แอลบีซีรายงานทั้งหมดนี้จากข้อมูลบนทวิตเตอร์ของคุณเอนโกซี

“ดิฉันคิดว่าควรจะต้องเล่าว่ามีความเจ็บปวดเกิดขึ้นในใจ และการที่ได้รับเชิญเข้าร่วมงาน แล้วต้องถูกดูหมิ่น มันสร้างความเสียหายต่อความรู้สึกมากค่ะ” ซีอีโอแห่งซิสตาห์ สเปซ บ่นไว้บนทวิตเตอร์

“ต้องกัดฟันอดทนทีเดียวนะคะที่ต้องอยู่ในสถานที่ซึ่งเราถูกล่วงละเมิด เรื่องเมื่อวานนี้ทำให้รู้สึกตระหนักถึงความจริงที่แย่มากๆ ซึ่งดิฉันยังพยายามพิจารณาอยู่”

ข้อความที่ซีอีโอแห่งซิสตาห์ สเปซ ทวีตขึ้นไปเล่ารายละเอียดการปะทะคารมกับเลดี้ ซูซาน ฮัสซี ซึ่งเธอรู้สึกว่าถูกเหยียดหยามและดูหมิ่น ทวีตนี้ได้รับความเห็นใจอย่างท่วมท้นกว่าครึ่งแสนรายกันเลยทีเดียว

สมเด็จพระราชินีคามิลลาทรงสนทนากับซีอีโอเอนโกซี ฟูลานี (ขวาสุดแต่เห็นเฉพาะด้านข้าง) แห่งองค์กรซิสตาห์ สเปซ เพื่อรับทราบปัญหาและความก้าวหน้าของการดำเนินงาน สตรีตรงกลางคือ มานดุ เรด นักการเมืองและผู้นำพรรคความเท่าเทียมสตรี
‘บัคกิงแฮม’ รีบสอบสวนและแถลงขออภัยในวันเดียวกัน พร้อมแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้ลาออกแล้ว

ทวีตแห่งความเจ็บปวดดวงใจของสตรีอังกฤษผิวดำถูกแชร์ว่อนไปทั่วกลายเป็นไวรัลอย่างรวดเร็ว

ด้านพระราชวังบัคกิงแฮมก็รีบดำเนินการอย่างฉับไว ทั้งการตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบด้านและการออกคำแถลงซึ่งแสดงความรับผิดชอบขั้นสุด ดังนี้

“เราถือว่าเหตุการณ์นี้ร้ายแรงอย่างยิ่ง และได้ตรวจสอบเพื่อทราบรายละเอียดทั้งหมดโดยทันที

“ในการนี้ เราพบว่าคำกล่าวเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และน่าเสียใจอย่างที่สุด เราได้ติดต่อไปยังคุณเอนโกซี ฟูลานี เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว และได้เชิญเธอมาหารือในทุกอย่างที่เธอได้ประสบหากเธอปรารถนาจะกล่าวถึง

“ในเวลาเดียวกัน บุคคลที่เกี่ยวข้องรายนี้อยากจะกล่าวขออภัยอย่างจริงใจสำหรับความเสียใจที่เกิดขึ้น และบุคคลรายดังกล่าวได้ก้าวออกจากบทบาทหน้าที่อันทรงเกียรติของเธอแล้ว โดยมีผลบังคับทันที

“สมาชิกทั้งหมดในสำนักพระราชวังได้รับการกำชับถึงนโยบายแห่งการเปิดกว้างแก่ความหลากหลายและความทั่วถึง ซึ่งสมาชิกทุกคนจะต้องส่งเสริมเรื่องเหล่านี้ตลอดเวลา” รอยเตอร์นำเนื้อหาจากคำแถลงมารายงานอย่างละเอียด

ผู้รู้เห็นเหตุการณ์ยืนยันข้อมูลการปะทะคารม และบอกว่า “รู้สึกเสมือนเป็นผู้บุกรุกเข้าไปในพระราชวัง”

มานดุ เรด ผู้นำพรรคความเท่าเทียมสตรี ยืนอยู่ข้างเอนโกซี ฟูลานี และได้เป็นพยานให้การปะทะคารมครั้งนี้ เธอให้สัมภาษณ์สำนักข่าวพีเอของอังกฤษ

โดยเล่าบรรยากาศของการปะทะคารมว่า “ถมึงตึง” และเป็นไปราวกับ “การสอบสวน” และยังบอกด้วยว่า “เลดี้มีลักษณะดื้อดึงจะเอาให้ได้ดั่งที่ใจคิด เธอมิได้รับฟังคำตอบของเอนโกซีตามเนื้อหาของถ้อยคำ”

“พวกเราคุยกันอยู่ แล้วเลดี้ซูซาน ฮัสซีเดินตรงเข้ามาค่ะ – ดิฉันทราบเพราะเธอติดป้ายชื่อน่ะค่ะ” มานดุ เรด ให้สัมภาษณ์แก่วอชิงตันโพสต์อย่างนั้น

“บรรยากาศอึดอัดมากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ แล้วเดี๋ยวเธอจะเรียกดูบัตรประชาชนของพวกเราไหมล่ะนี่ บรรยากาศชวนให้รู้สึกอย่างนั้นน่ะค่ะ” คุณเรดเล่า และบอกว่า

“เราเป็นแขกรับเชิญ เราได้รับเชิญเข้าร่วมงานซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง เราไปที่นั่นเพื่อร่วมส่งเสริมความพยายามยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก แต่มาเจออย่างนี้มันแทบจะเหมือนกับว่าเราเป็นผู้บุกรุก เราไม่ได้เป็นแขกรับเชิญ แล้วคุณนักข่าวคะ เราถูกถามเรื่องสัญชาติของเราอ่ะค่ะ มันยากจะทำใจยอมรับได้นะคะ” คุณเรดกล่าวกับวอชิงตันโพสต์

ด้านเจ้าชายวิลเลียม ปรินซ์แห่งเวลส์ ซึ่งขณะนี้มีพระราชกิจด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ในสหรัฐอเมริกา ทรงได้รับคำถามจากสื่อมวลชนถึงเรื่องอื้อฉาวของคุณแม่ทูนหัวของพระองค์ และทรงประทานคำตอบที่กระจ่างชัดผ่านทางโฆษกส่วนพระองค์ อันเป็นคำตอบที่ไม่บ่ายเบี่ยงหรือปกปิดการกระทำของคุณแม่ทูนหัว โดยรอยเตอร์รายงานดังนี้

พระองค์บอกว่าทรงเสียพระทัยเมื่อได้ทราบถึงเหตุการณ์ที่แขกรับเชิญต้องประสบในพระราชวังบัคกิงแฮม พร้อมกันนี้ โฆษกส่วนพระองค์กล่าวด้วยว่า “ผมไม่ได้อยู่ที่นั่น แต่สามารถบอกได้ว่าการเหยียดเชื้อชาติไม่ได้การยอมรับจากสังคมของพวกเรา ถ้อยคำที่ถูกกล่าวออกมาเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และเป็นการถูกต้องแล้วที่บุคคลรายนั้นต้องพ้นออกไปโดยมีผลทันที”

ในภาพนี้จะเห็นแขกรับเชิญของควีนคามิลลา ที่เป็นผู้ปฏิบัติงานต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก โดยจำนวนมากเป็นคนอังกฤษเชื้อสายแอฟริกาและเชื้อสายเอเชียใต้

ภาพนี้ก็เช่นกันที่จะได้เห็นแขกรับเชิญของควีนคามิลลา ที่เป็นผู้ปฏิบัติงานต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก โดยจำนวนมากเป็นคนอังกฤษเชื้อสายแอฟริกาและเชื้อสายเอเชียใต้
เลดี้ฮัสซีเป็นนางสนองพระโอษฐ์รุ่นเก่า และเป็นพระสหายคนสนิทของควีนเอลิซาเบธที่ 2

เลดี้ซูซาน ฮัสซี เป็นนางสนองพระโอษฐ์ผู้โด่งดังอย่างยิ่งในสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยเป็นหนึ่งในกลุ่มวงในที่ควีนทรงไว้วางพระทัยมากที่สุด

ดังเห็นได้ว่า ในพระราชพิธีพระศพของเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีของควีนเอลิซาเบธ ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2021 ควีนทรงเสด็จแต่เพียงลำพัง ด้วยรถยนต์พระที่นั่งไปยังสถานที่จัดพระราชพิธี คือ โบสถ์เซนต์จอร์จ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของพระราชวังวินด์เซอร์ โดยมีเลดี้ฮัสซีเพียงคนเดียวที่ได้ตามเสด็จไปด้วย

นอกจากที่เลดี้ฮัสซีได้ถวายงานรับใช้ควีนเอลิซาเบธมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน 60 ปี เลดี้คือพระสหายที่สนิทสนมที่สุดคนหนึ่งของพระองค์ เธอได้รับเกียรติยศอย่างสูงล้นให้เป็นหนึ่งในสามคุณแม่ทูนหัวของเจ้าชายวิลเลียม ในวันรับศีลล้างบาปด้วย (ในการรับศีลล้างบาปเมื่อ 4 สิงหาคม 1982 เจ้าชายวิลเลียมทรงมีคุณพ่อทูนหัว 3 พระองค์/ท่าน และคุณแม่ทูนหัว 3 พระองค์/ท่าน)

เมื่อควีนเอลิซาเบธทรงสวรรคต เลดี้ฮัสซีได้รับพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ให้ปฏิบัติหน้าที่อันทรงเกียรติต่อไป แต่ปรับเปลี่ยนตำแหน่งเสียใหม่ คือ เลดี้แห่งสำนักพระราชวัง อนึ่ง ตำแหน่งนางสนองพระโอษฐ์เป็นภารกิจแห่งความจงรักภักดี ซึ่งไม่มีเงินเดือนหรือค่าตอบแทนใดๆ

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พร้อมด้วยเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (พระอิสริยยศในช่วงนั้น) และเจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแฮร์รี เจ้าหญิงไดอานา ถ่ายพระรูปร่วมกับคุณพ่อทูนหัวและคุณแม่ทูนหัวของเจ้าชายวิลเลียม 5 พระองค์/ท่าน (ในแถวยืน) โดยเลดี้ซูซาน ฮัสซี ยืนตำแหน่งที่สองจากซ้าย ภาพนี้ของเอพีบันทึกไว้ในปี 1997 และหลังจากนี้ไม่กี่เดือน เจ้าหญิงไดอานาก็ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อ 31 สิงหาคม 1997 ลาจากเจ้าชายหนุ่มน้อยทั้งสองพระองค์ไปตลอดกาล

เลดี้ซูซาน ฮัสซี เป็นนางสนองพระโอษฐ์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยเป็นหนึ่งในกลุ่มวงในที่ควีนทรงไว้วางพระทัยมากที่สุด

ในโอกาสที่ควีนเอลิซาเบธเสด็จเยือนแคนาดาในปี 2010 เลดี้ซูซาน ฮัสซี (สวมหมวกขาวดอกไม้น้ำเงิน ด้านหลังของควีน) เป็นนางสนองพระโอษฐ์หนึ่งในสองรายที่ได้ตามเสด็จไปถวายงานรับใช้ ภาพนี้บันทึกไว้ที่ควีนส์ปาร์กในนครโทรอนโต โดยเจ้าของภาพคืออิบากลิ นำขึ้นเผยแพร่บนวิกิมีเดียคอมมอนส์
ตำแหน่งเลดี้แห่งสำนักพระราชวังมีขึ้นพร้อมกับการที่ตำแหน่งนางสนองพระโอษฐ์ถูกปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่

โดยมีการประกาศเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (26 พฤศจิกายน 2022) ว่า สมเด็จพระราชินีคามิลลา ทรงประสงค์จะสร้างความทันสมัยให้แก่ภารกิจของนางสนองพระโอษฐ์ โดยจะทรงเรียกเจ้าพนักงานตำแหน่งนี้ว่า “เพื่อนช่วยงานของควีน” ซึ่งมาแทนที่แนวคิดโบราณที่มีเนื้องานแบบ “สาวใช้หลวง” ทั้งนี้ เพื่อนช่วยงานของควีนไม่ต้องปฏิบัติงานรับใช้รองพระหัตถ์รองพระบาท แค่ช่วยสนับสนุนพระราชกรณียกิจบ้าง เช่น การนั่งด้วยกันกับพระองค์เมื่อทรงออกงานต่างๆ หรือการช่วยต้อนรับแขกรับเชิญในพระราชอีเวนต์

ทั้งนี้ ควีนคามิลลาทรงคัดเลือกเพื่อนสนิทมิตรที่ไว้วางใจเข้าเป็น “เพื่อนช่วยงานของควีน” จำนวน 6 ราย โดยตำแหน่งนี้จะไม่มีเงินเดือน/ค่าตอบแทน ซึ่งเป็นแบบแผนเฉกเช่นตำแหน่งนางสนองพระโอษฐ์ คือมาเป็นเพื่อนช่วยงานด้วยความจงรักและภักดีล้วนๆ

เพื่อนช่วยงานทั้ง 6 ราย ได้มาประเดิมการงานในพระราชอีเวนต์ของควีนคามิลลา ที่พระราชวังบัคกิ้งแฮม เมื่อ 29 พฤศจิกายน เพื่อคอยช่วยควีนดูแลรับรองแขกเหรื่อประมาณ 300 รายซึ่งมากมายด้วยบุคคลสำคัญ และราชนิกุลแถวหน้าของหลายประเทศ นักการเมือง เอกอัครราชทูต อีกทั้งผู้บริหารหน่วยงานสงเคราะห์สตรีและเด็ก ตลอดจนผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรง และญาติของผู้เสียชีวิตจากการถูกข่มเหงรังแก

แม้พระราชอีเวนต์นี้คืองานเปิดตัว “เพื่อนร่วมงาน” แต่งานเปิดตัวก็กร่อยไปบ้างด้วยเหตุการณ์เหยียดผิวอันไม่น่าเชื่อว่าจะมาอุบัติขึ้นในพระราชวังบัคกิงแฮม ทั้งที่คิงชาร์ลส์และควีนคามิลลา ทรงระมัดระวังปัญหานี้อย่างเคร่งครัด ขณะที่พระราชสำนักก็ได้ประกาศนโยบายคัดค้านการเหยียดเชื้อชาติมาโดยตลอด

สมเด็จพระราชินีคามิลลาทรงถ่ายพระรูปกับบุคคลสำคัญและราชนิกุลของประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมงานเลี้ยงต้อนรับเพื่อส่งเสริมความตื่นตัวต่อปัญหาการใช้ความรุนแรงรังแกสตรีและเด็ก ดังนี้ (จากซ้าย) HRH เคาน์เตสแห่งเวสเซกซ์และฟอร์ฟาร์ พระชายาของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด; สมเด็จพระราชินีแห่งเบลเยียม; สมเด็จพระราชินีคามิลลา; สมเด็จพระราชินีแห่งจอร์แดน; มกุฎราชกุมารีแห่งเดนมาร์ก; สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งเซียราลีโอน; และสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งยูเครน
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า

(ที่มา : แอลบีซี พีเอของอังกฤษ รอยเตอร์ วอชิงตันโพสต์ เอพี คอมมอนวิกิมีเดีย)

กำลังโหลดความคิดเห็น