xs
xsm
sm
md
lg

ใส่ชุดฮันบกเที่ยว "พระราชวังคยองบกกุง" พระราชวังที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงโซล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พระราชวังคย็องบกกุง เป็นพระราชวังหลวง (พระราชวังสูงสุดในบรรดาพระราชวังซึ่งกษัตริย์ประทับอยู่) ประจำราชวงศ์โชซ็อน สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1395 ชื่อของพระราชวัง “คย็องบก” มาจากนักปราชญ์นามว่า "ช็องโดจ็อน" เป็นผู้ตั้งขึ้นนี้มีความหมายว่า “ราชวงศ์ใหม่ จะมีความสุขและความเจริญรุ่งเรือง”

ในอดีตพระราชวังคย็องบกกุงถูกเผาวอดในปีค.ศ. 1592 เมื่อครั้งญี่ปุ่นบุกรุกประเทศเกาหลี และไม่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมเป็นเวลากว่า 270 ปี จนกระทั่งปีค.ศ.1867 ได้มีการบูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่โดยสร้างตำหนักอาคารต่าง ๆ กว่า 500 หลังขึ้น เช่น พระที่นั่ง ซึ่งกษัตริย์เคยใช้เป็นที่ปฏิบัติพระราชกรณียกิจร่วมกับข้าราชบริพารสำนักพระราชวัง ตำหนักที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระราชินี ที่พักของทหาร ตลอดจนสวนหย่อมเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ


ในยุคอาณานิคมของญี่ปุ่นนั้น พระราชวังคย็องบกกุงได้รับความเสียหายโดยการกระทำของญี่ปุ่น ตำหนัก ต่างๆ มากกว่า 90% ถูกพังลงด้วยเหตุผลที่จะจัด “มหกรรมแสดงสินค้าพื้นเมืองโชซอน” ขึ้นในปีค.ศ. 1915 ต่อมาเริ่มมีการผลักดันโครงการบูรณะพระราชวังคย็องบกกุงขึ้นมาใหม่อย่างจริงจังตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 โดยได้มีการรื้อถอนอาคารสำนักงานบังคับการรัฐบาลญี่ปุ่นประจำเกาหลีออก และทำการบูรณะซ่อมแซมพระราชวังขึ้นใหม่ให้คืนสู่สภาพเดิมจนถึงปัจจุบันนี้

ปัจจุบันภายในพระราชวังคย็องบกกุง มีสิ่งที่น่าสนใจอยู่มากมาย ได้แก่


1. พระที่นั่งคึนจ็องจ็อน

พระที่นั่งคึนจ็องจ็อน เป็นพระบรมมหาปราสาทของพระราชวังคย็องบก โดย “คึนจ็อง” มีความหมายว่า “ปฏิบัติพระราชกรณียกิจและปกครองบ้านเมืองสำเร็จลุล่วงด้วยดีด้วยพระวิริยะอุตสาหะ” พระที่ นั่งคึนจ็องเป็นอาคารสัญลักษณ์สำคัญของพระราชวังคย็องบกกุง มีความวิจิตรงดงามและยิ่งใหญ่ที่สุด และใช้เป็นสถานที่แสดง พระบารมีของกษัตริย์ด้วย พิธีสำคัญๆ เช่น พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก พิธีเสด็จออกว่าราชการร่วมกับฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร พิธีรับรองราชบัณฑิตและพระราชอาคันตุกะ หลังจากถูกทำลายลงเมื่อครั้งญี่ปุ่นบุกรุกประเทศเกาหลี พระที่นั่งคึนจ็องจ็อนได้รับการบูรณะขึ้นใหม่เมื่อปีค.ศ. 1867




2. พระที่นั่งซูจ็องจ็อน

พระที่นั่งซูจองจอนเป็นที่ที่ในอดีตเคยมีหอ ชิบฮย็อนจ็อนหรืออาคารราชบัณฑิต ซึ่งเป็นจุดกำเนิดการประดิษฐ์อักษรฮันกึลขึ้น นับเป็นสำนักงานเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ ในบรรดาสำนักพระราชวังทั้งหมด พระที่นั่งซูจ็องจ็อนในปัจจุบันสร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ.1867 และในปี ค.ศ. 1894 ยังถูกใช้เป็นสถานที่ราชการของฝ่ายกลาโหม (หน่วยงานตัดสินนโยบายสูงสุดซึ่งเดิมผลักดัน การปฏิวัติปีคาโบในสมัยพระเจ้าโคจง) อีกด้วย สำนักพระราชวังเคยอยู่ติดด้านหน้าของพระที่นั่งซูจ็องจ็อน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกญี่ปุ่นรื้อถอนออกไปเพื่อจัด “มหกรรมแสดงสินค้าพื้นเมืองโชซ็อน” ในปี ค.ศ.1915


3.ศาลาคย็องฮเวรู

ศาลาคย็องฮเวรู เป็นสถานที่ซึ่งกษัตริย์ใช้จัดงานเลี้ยงใหญ่ให้แก่บรรดาขุนนาง หรือรับรองพระราชอาคันตุกะ นอกจากนี้ยังใช้เป็นสถานที่จัดสอบราชบัณฑิต หรือจัดพิธีบวงสรวงเรียกฝนและอื่นๆ อีกด้วย เมื่อแรกสร้างเป็นเพียงหอเล็กๆ แต่เมื่อปี ค.ศ.1412 ได้มีการขุดสระน้ำขึ้นใหม่และสร้างหอขึ้นอย่างใหญ่โตด้วย ศาลาคย็องฮเวรูในปัจจุบันได้รับการบูรณะให้คืนสู่สภาพเดิม




4. พระที่นั่งซาจ็องจ็อน

พระที่นั่งซาจ็องจอน เป็นตำหนักทรงงาน ของกษัตริย์ ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติพระราช กรณียกิจของกษัตริย์ผู้ปกครองประเทศ สูงสุด ชื่อว่า “ซาจ็อง” มีความหมายว่า “กษัตริย์จะต้องรู้จักแยกแยะถูกผิดโดยการไต่ตรองให้ลึกซึ้งเมื่อปกครองบ้าน เมือง” ที่พระที่นั่งแห่งนี้ มีการปฏิบัติพระราชกรณียกิจประจำวันต่างๆ ทุกวัน เช่น ให้ข้าราชบริพารเข้าเฝ้าอย่างเป็นการส่วนพระองค์ ปรึกษาหารือเกี่ยวกับกิจการบ้านเมืองหรือ ตอบพระราชดำรัสซักถามความเป็นไปของบ้านเมือง พระที่นั่งซาจ็องจ็อนในปัจจุบันได้รับการบูรณะขึ้นใหม่เมื่อปีค.ศ. 1867


5. พระที่นั่งคังนย็องจ็อน - พระที่นั่งคโยแทจ็อนและปล่องไฟเขาอามีซัน

พระที่นั่งคังนย็องจ็อน เป็นสําหนักบรรทม ซึ่งเป็นพื้นที่ประกอบกิจวัตรประจำวันของกษัตริย์ บางครั้งก็เรียกว่าห้องบรรทมหรือสถานที่ประทับ คำว่า “คังนย็อง" มาจาก “สุขภาพแข็งแรง” ซึ่งเป็นหนึ่ง ในความสุขทั้ง 5 อันได้แก่ อายุยืนยาว ร่ำรวย สุขภาพแข็งแรงมีศีลธรรม และสิ้นอายุขัยอย่างสงบ ที่พระที่นั่งคังนย็องจ็อนนี้ นอกจากกษัตริย์จะใช้เป็นที่อ่านหนังสือ และพักผ่อนเป็นกิจวัตรแล้ว ยังใช้ในการพบปะกับบรรดาข้าราชบริพารเพื่อหารือเกี่ยว กับราชการแผ่นดินอย่างเรียบง่ายอีกด้วย พระที่นั่งคังนย็องจ็อนเคยถูกเผาวอดเมื่อ และได้รับการบูรณะขึ้นใหม่เมื่อปีค.ศ.1865 และเมื่อพระตำหนักฮีซ็องดังในพระราชวังชังด็อกกุงถูกไฟไหม้ใน ปีค.ศ.1917 จึงมีการย้ายพระที่นั่งคันย็องจ็อนไปเพื่อใช้ในการบูรณะซ่อมแซมพระตำหนัก ช็องดัง และพระที่นั่งคังนย็องในปัจจุบันได้รับการบูรณะให้คืนสู่สภาพเดิมในปี ค.ศ.1995

พระที่นั่งคโยแทจอนและปล่องไฟเขาอามีซัน
พระที่นั่งคโยแทจ็อนเป็นตำหนักบรรทมของพระราชินี พระราชินีเป็นผู้บัญชาการ เรื่องการกินอยู่ในพระราชวังทั้งหมดในฐานะหัวหน้าสูงสุดของฝ่ายนางใน พระที่นั่งคโยแทจ็อนแห่งนี้ สร้างขึ้นเมื่อประมาณปีค.ศ.1440 และได้รับการบูรณะขึ้นใหม่เมื่อปีค.ศ. 1865 ต่อมาเมื่อพระที่นั่งแทโจจ็อนในพระราชวังชังด็อกกุงถูกไฟไหม้ในปี ค.ศ. 1917 จึงมีการย้ายพระที่นั่งคโยแทจ็อนไปเพื่อใช้ในการบูรณะซ่อมแซมพระที่นั่งแทโจจ็อน และพระที่นั่งคโยแทจ็อนในปัจจุบันได้รับการบูรณะให้คืน สู่สภาพเดิมในปี ค.ศ.1995 นอกจากนี้ยังมีเขาอามีซัน เป็นสวนหลังพระที่นั่งคโยแทจ็อน มีแปลงดอกไม้ซึ่งจัดเป็นแบบขั้นบันได ปัจจุบันมีปล่องไฟตั้งอยู่ 4 ปล่อง ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปทรงหกเหลี่ยม ผนังปล่องมี ลวดลายเถาวัลย์ นกกระเรียน ค้างคาว นกหงส์ฟ้า ต้นไผ่ ดอกเหมย ดอกเบญจมาศ หญ้าอมตะ หิน นก กวาง เป็นต้น วางอยู่อย่างกลมกลืน


6. วังทงกุง

ทงกุงหรือวังตะวันออกเป็นส่วนสำหรับพระราชโอรส ซึ่งเป็นมกุฎราชกุมารผู้จะสืบราชสมบัติองค์ต่อไป เนื่องจากพระราชโอรสกำลังจะขึ้นครองราชย์ต่อไป เปรียบเหมือนพระอาทิตย์ที่กำลังจะขึ้น จึงให้ประทับอยู่ทางทิศตะวันออกภายใน พระราชวังและเรียกวังนี้ว่า “วังตะวันออก” นั่นเอง


7. ห้องเครื่องโซจูบัง

โซจูบัง เป็นห้องครัวประจำพระราชวัง ซึ่งเคยใช้เตรียมพระกระยาหารของกษัตริย์ ภายในห้องเครื่องประกอบด้วย ห้องครัวชั้นในเพื่อประกอบพระกระยาหารถวายพระมหากษัตริย์และพระราชินีในแต่ละวัน ห้องครัวชั้นนอกเพื่อเตรียมงานเลี้ยงในพระราชวัง และอาหารประกอบพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย และห้องครัวเครื่องสดเพื่อเตรียมของว่างเสวยของพระมหากษัตริย์ เช่น ขนมกวน โจ๊ก ต็อก เป็นต้น


8. พระที่นั่งชาคย็องจ็อน และปล่องไฟชิบจังแซ็ง

พระที่นั่งชาคย็องจ็อนสร้างขึ้นเพื่อพระมารดาโชผู้ซึ่งเป็นพระมารดาบุญธรรม (พระมเหสีชินจ็องสกุลโช) เมื่อครั้งพระเจ้าโคจง บูรณะพระราชวังคย็องบกกุงขึ้นใหม่ในปีค.ศ. 1867 พระมารดาโชเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้พระเจ้าโคจงได้ขึ้นครองราชย์ พระที่นั่งชาคย็องจอนที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้เคยถูกไฟไหม้และมีการสร้างขึ้นใหม่เมื่อปีค.ศ. 1888 ส่วนชื่อ “ชาคย็อง” มาจากตำหนักชาคย็องจ็อนในพระราชวังชังคย็องกุงซึ่งพระเจ้าช็องโจสร้างขึ้นให้พระนางเฮ-กย็อง สกุลฮง ผู้เป็นพระมารดาเมื่อครั้งขึ้นครองราชย์ โดยมีความหมายว่า “กษัตริย์อวยพรให้กับสตรีที่เป็นผู้ใหญ่ เช่น แม่หรือย่า ประสบความสุข” นั่นเอง

และยังมีปล่องไฟชิบจังแซ็ง สร้างขึ้นโดยก่อด้านหนึ่งของกำแพงด้านหลังพระที่นั่งชาคย็องจ็อนให้โผล่พ้นขึ้นมา ตรงกลางปล่องไฟสลักชิบจังแซ็งหรือสัญลักษณ์ ความเป็นอมตะทั้ง 10 เอาไว้ และจากด้านบนไล่ลงไปด้านล่างวางรูปนกกระเรียนกับ ปลาดาว พย็อกซา (ตัวปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายที่คล้ายสิงห์) และอื่นๆ ให้ความหมายของการปกป้องคุ้มครองโดยป้องกันไม่ให้ปีศาจร้ายมารังควานและอวยชัยให้มีอายุยืนยาว


9. ศาลาฮยังว็อนจ็อง และวังค็อนช็องกุง

ศาลาฮยังว็อนจ็องเป็นศาลาที่ตั้งอยู่ในบริเวณสวนหลังพระราชวังทางทิศเหนือ ผสมผสานกับสระฮยังว็อนจีอย่างลงตัว ทำให้เกิดทัศนียภาพที่งดงาม วังค็อนช็องตั้งอยู่ทางทิศเหนือของศาลาฮยังว็อน ประกอบด้วยพระตำหนักชังอันที่ประทับของกษัตริย์ พระตำหนักคน-นย็องฮับและศาลาอกโฮรูที่ประทับของพระราชินี พระตำหนักคน-นย็องฮับยัง เป็นสถานที่แห่งโศกนาฏกรรมซึ่งเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารพระมเหสีมย็องซ็อง ในรัชสมัยพระเจ้าโคจง เมื่อค.ศ. 1895 อีกด้วย หลังจากทุบทิ้งไปเมื่อปีค.ศ. 1909 ต่อมาได้มีการเข้าไปสร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะประจำสำนักงานบังคับการรัฐบาลญี่ปุ่นประจำเกาหลีขึ้นในปีค.ศ. 1939 และได้รับการบูรณะให้คืนสู่สภาพเดิมในปีค.ศ. 2007


10. หอหนังสือชิบ-อกแจ

หอหนังสือซิบ-อกแจ ตั้งอยู่ระหว่างประตูชินมู ซึ่งเป็นประตูประจำทิศเหนือของพระราชวังคย็องบกกุงกับวังค็อนช็องกุง สร้างขึ้นโดยย้ายเอาหอหนังสือชิบ-อกแจ และตำหนักฮย็อบกิลดังซึ่งเป็นตำหนักที่แยกออกมาจากพระที่นั่งฮัมนย็องจ็อนในพระราชวังชังด็อกกุงมาไว้ ใช้เป็นสถานที่เก็บหนังสือและรับรองทูตต่างประเทศ ด้านข้างทั้งสองฝั่งของชิบ-อกแจก่อกำแพงอิฐขึ้นและมีการใส่ความเป็นจีนเข้าไปในรูปแบบดั้งเดิมบ้างบางส่วน ด้านซ้ายขวามีทางเดินเชื่อมอันหนึ่งระหว่างศาลาพัลอูจอง กับ ตำหนักฮย็อบคิลดัง


11. หอพระรูปแทว็อนจ็อน

หอพระรูปแทว็อนจ็อนสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อปีที่ ค.ศ.1868 ต่อมาเมื่อปีค.ศ. 1872 ได้ใช้เป็นที่ ประดิษฐานพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าแทโจและพระเจ้าว็อนจง และในปีค.ศ. 1890 ใช้เป็นสถานที่เก็บพระบรมศพพระมเหสีชินจ็อง และปีค.ศ.1895 ใช้เป็นสถานที่เก็บพระบรมศพพระมเหสีมย็องช็อง ต่อมาถูกรื้อถอนออก และปัจจุบันได้รับการบูรณะให้คืนสู่สภาพเดิมในปี ค.ศ. 2005

สำหรับการเดินทางไปชมพระราชวังคยองบกกุง ให้ขึ้นรถไฟใต้ดินสาย 3 ลงที่สถานี Gyeongbokgung Palace Station ทางออก 5 จากนั้นเดินตรงไปอีก 100 เมตรก็จะถึงประตูทางเข้าพระราชวัง

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น