ทางการจีนประกาศ “เจียงเจ๋อหมิน” ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและอวัยวะล้มเหลวหลายระบบ ในวัย 96 ปี ณ เทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน ตอน 12.13 น. ของวันที่ 30 พ.ย.2022 ตามเวลาท้องถิ่น*
เจียงเจ๋อหมิน ผู้นำการปกครองแผ่นดินจีนรุ่นที่สาม โดยสืบทอดอำนาจการเมืองต่อจากเติ้งเสี่ยวผิง เป็นประธานาธิบดีจีนนานนับสิบปีจนถึงปี 2003 และเป็นนายใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน 13 ปี จนถึงปี 2002
...เจียงเจ๋อหมิน ผู้นำผู้มีบุคลิกโดดเด่นจากความช่างพูด สนุกสนานร่าเริง เล่นเปียโนชอบร้องเพลง ระหว่างเยือนอังกฤษ เจียงเคยคะยั้นคะยอให้ควีนเอลิซาเบธที่สองทรงร้องเพลงคาราโอเกะ ...ทว่า วรยุทธ์การนำประเทศที่สูงล้ำขั้นเทพของผู้นำเจียง ก็คือ การนำพาจีนฝ่าข้ามกำแพงโดดเดี่ยวของนานาชาติกลับสู่เวทีโลกหลังเหตุการณ์รุนแรงในการปราบปรามประท้วงใหญ่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989 จนกระทั่งกลายเป็นพญามังกรผงาดขึ้นแท่นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับที่สองของโลก...
มาย้อนรอยชีวิตผู้นำเจียง เจ๋อหมิน ผู้วางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ไปแล้ว เหลือเพียงสิ่งที่สถิตจารึกในประวัติศาสตร์จีน
เจียงเจ๋อหมิน เกิดเมื่อปี 1926 ที่เมืองหยังโจว มณฑลเจียงซู จบการศึกษาเอกวิชาเครื่องกลไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเจียวทง ปี 1947 คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมของรัฐโดยทำงานในโรงงานผลิตอาหาร โรงงานทำสบู่ และโรงงานผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุด เคยไปใช้แรงงานในฟาร์มช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ.1966-76) เป็นนายกเทศมนตรีนครเซี่ยงไฮ้ (1985-1989) และเลขาธิการพรรคประจำเซี่ยงไฮ้ เจียงเป็นหัวหน้าฝักใฝ่การเมือง หรือมุ้งการเมืองที่เรียกว่า “ฝักใฝ่เซี่ยงไฮ้” ซึ่งแข่งขันอำนาจกับฝักใฝ่ต่างๆ ในพรรคคอมมิวนิสต์จีน
เจียงเจ๋อหมินได้ครองอำนาจใหญ่บนเวทีการเมืองแดนมังกรโดยการสนับสนุนอุปภัมภ์ของ เติ้งเสี่ยวผิง โดยก้าวขึ้นครองตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคในเดือน มิ.ย.ปี ค.ศ.1989 แทนที่จ้าวจื่ออหยาง ผู้ถูกปลดออกจากทุกตำแหน่งในพรรคในความผิดสนับสนุนให้เกิดความปั่นป่วนทางการเมือง** ดังนั้น เจียงจึงได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำแนวหน้าของจีนในยามที่ประเทศเผชิญปัญหาท้าทายที่สุดครั้งหนึ่งทั้งการเมือง และเศรษฐกิจหลังเกิดเหตุการณ์ปราบปรามกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินอย่างนองเลือด ทำให้จีนถูกนานาชาติบอยคอตโดดเดี่ยวจีน
เจียงเจ๋อหมินก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรุ่นที่สามของจีน และได้กระชับอำนาจอย่างสมบูรณ์ในปี 1997 หลังจากที่การนำของผู้นำรุ่นที่สองปิดฉากลงไปด้วยอสัญกรรมของเติ้งเสี่ยวผิง เจียงเจ๋อหมินครองอำนาจสูงสุดปกครองจีนเคียงคู่กับขุนพลใหญ่อย่างหลี่ เผิง และ จูหรงจี ผู้มีฉายาว่า “ซาร์เศรษฐกิจแห่งเมืองจีน” ผู้เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการปฏิรูปเศรษฐกิจ นายกฯ จูสร้างวีรกรรมในการปฏิรูปอุตสาหกรรมของรัฐอันสร้างความเจ็บปวดระนาวโดยตำแหน่งงานอาชีพในภาคอุตสาหกรรมของรัฐถูกยุบไปถึง 40 ล้านตำแหน่งในปลายทศวรรษที่ 1990 พร้อมกับแปรรูปรัฐวิสาหกิจบ้านที่อยู่อาศัยในเมือง การก่อสร้างบูมจนพลิกโฉมเมืองต่างๆ ให้กลายเป็นดงตึกระฟ้า และขับเคลื่อนเศรษฐกิจทะยานขึ้นไปลิ่วๆ
เจียงเจ๋อหมินลงจากอำนาจสูงสุดในเดือนพ.ย. ปี 2002 ปิดฉากผู้นำรุ่นที่สาม พร้อมกับส่งมอบอำนาจให้ผู้นำรุ่นที่สี่ โดยมี หูจิ่นเทา เป็นเลขาธิการพรรค และควบตำแหน่งประธานาธิบดีในปีถัดมา เจียงไม่ยอมส่งมอบอำนาจใหญ่ทั้งหมดให้หูจิ่นเทาผู้นำที่เติ้งเสี่ยวผิงวางตัวไว้ให้สืบทอดอำนาจการนำประทศหลังสิ้นวาระสมัยของผู้นำรุ่นที่สาม ทำให้เจียงไม่สามารถเลือกทายาทตำแหน่งจากฝักใฝ่ของตน เจียงยังนั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลางซึ่งคุมกองทัพปลดแอกประชาชนจีนซึ่งมีกำลังพลถึง 2 ล้านคนต่อไปจนถึงปี 2004 จึงยอมเปิดทางให้หูจิ่นเทาขึ้นมานั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการทหาร ไม่เช่นนั้นแล้วจะเกิดความแตกแยกภายในรัฐบาล
หลังจากที่เจียงลงจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ก็ยังทรงอิทธิพลและดันเหล่าศิษย์ก้นกุฏิขึ้นมาอยู่ในคณะกรรมการประจำกรมการเมืองของพรรคซึ่งกุมอำนาจสูงสุดในการตัดสินชี้ขาดกิจการของประเทศชาติ จนกระทั่งสีจิ้นผิง ขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคในปี 2012 เจียงก็ค่อยๆ หายไปจากสังเวียนการเมือง
เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์จีนช่วงยุคเจียงเจ๋อหมินคือ เหตุการณ์อังกฤษส่งมอบอำนาจปกครองเกาะฮ่องกงให้แก่จีนในปี 1997 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การปิดฉากลัทธิเจ้าอาณิคมยุโรปที่ยึดครองเกาะฮ่องกง 150 ปี เจียงได้ยืนเคียงข้างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ในพิธีส่งมอบเกาะฮ่องกงเมื่อวันที่ 1 ก.ค.1997 และโปรตุเกสส่งมอบอำนาจปกครองมาเก๊าให้แก่จีนปี 1999 จีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ได้สำเร็จในปี 2001 หลังจากที่เจรจามา 12 ปี ปักกิ่งชนะการยื่นขอเป็น เจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนประจำปี 2008 โดยเป็นครั้งแรกที่ประเทศที่มีประชากรมากถึง 1 ใน 5 ของประชากรโลก ได้เป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิก ซึ่งด้วยเพราะเงื่อนไขความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
ยุคเศรษฐกิจโชติช่วงชัชวาลภายใต้การนำของเจียงเจ๋อหมิน ได้แบ่งแยกสังคมจีนเป็นฝ่ายผู้ชนะและฝ่ายผู้สูญเสีย ขณะที่คลื่นผู้คนจากเขตชนบทหลั่งไหลข้ามถิ่นไปหางานทำในโรงงานตามเมืองต่างๆ เศรษฐกิจมังกรเบ่งบานโตขึ้นถึง 7 เท่า และรายได้ในเขตเมืองพุ่งกระฉูด
ส่วนปัญหาในยุคของเจียงเจ๋อหมินก็มีมาก ได้แก่ การประท้วงที่ปรากฏได้ยากในจีน คนนับล้านสูญเสียงานในวิสาหกิจรัฐ เกษตรกรร้องทุกข์เกี่ยวกับภาษีและค่าธรรมเนียม อัตราการหย่าสูง คอร์รัปชันผุดเป็นดอกเห็ดหน้าฝน
ปฏิปักษ์การเมืองตัวเอ้คือ กลุ่มลัทธิความเชื่อที่เทศนาการนั่งสมาธิ ‘ฝ่าหลุนกง’ ออกมาแผลงฤทธิ์ท้าทายผู้นำจีนในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 รัฐบาลจีนประกาศให้ฝ่าหลุนกงเป็นกลุ่มผิดกฎหมาย และตะลุยปราบสาวกของกลุ่มทั่วประเทศ เจียงยังประกาศกร้าว “เสถียรภาพสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด” ไล่ปราบกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่มีความเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาล เช่น กลุ่มที่พยายามตั้งพรรคประชาธิปไตยแห่งจีน (China Democracy Party) ด้วยโทษจำคุก 12 ปี ในความผิดบ่อนทำลายความมั่นคง
ในปี 1996 ไต้หวันจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงครั้งแรก รัฐบาลของเจียงพยายามข่มขู่ผู้ออกเสียงโดยยิงขีปนาวุธไปฟาดใกล้ๆ เส้นทางเดินเรือในช่องแคบไต้หวัน สหรัฐฯ ออกมาแทรกแซงโดยส่งเรือรบเข้ามาในบริเวณเพื่อโชว์กล้ามสนับสนุนไต้หวัน ขณะเดียวกัน การค้าระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันโตวันโตคืนถึงระดับหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
สำหรับมรดกการนำของเจียงเจ๋อหมินที่ได้รับการยกเทิดทูนไว้ในธรรมนูญพรรค คือ แนวคิดสามตัวแทน (Three Represents) หมายถึง พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องเป็นตัวแทนของพลังการผลิตที่ก้าวหน้าของจีน เป็นตัวแทนวัฒนธรรมที่ก้าวหน้าของจีน และเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของมวลชนจีนส่วนใหญ่ ซึ่งเปิดโอกาสให้นักธุรกิจภาคเอกชนเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคร่วมพัฒาประเทศได้**
ผลงานชิ้นโบแดงในการนำการปกครองบริหารประเทศชาติของเจียง คือพาจีนสู่เวทีโลกและฟื้นฟูประเทศหลังเหตุการณ์วุ่นวายปี 1989 เปิดทางให้ทุนนิยมเข้ามาในพรรคและนำจีนทะยานสู่มหาอำนาจเศรษฐกิจ โดยแซงหน้าเยอรมนีและญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับที่สองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา
ในบั้นปลายชีวิตของผู้เฒ่าเจียงเจ๋อหมิน ได้รับการดูแลจากบุตรชาย 2 คน และภรรยา หวังเย่ผิง ซึ่งทำงานในหน่วยงานของรัฐ รับผิดชอบเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของรัฐ
ที่มาข้อมูล
สำนักข่าวเอพี : Jiang Zemin, who guided China's economic rise, dies
*รายงานข่าวของสำนักข่าวซินหัว
**มังกรผงาด, 70 ปี การเมืองสาธารณรัฐประชาชนจีน (ค.ศ.1949-2019) เขียนโดย ศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมวิทยา
ชมภาพย้อนรอยประธานาธิบดี เจียง เจ๋อหมิน เยือนต่างประเทศ