(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Chinese pundits: Xi-Biden talk can’t fix everything
By JEFF PAO
15/11/2022
ปักกิ่งเรียกร้องวอชิงตันให้มีการกระทำจริงๆ ออกมาให้เห็น ถ้าหากไม่ได้ต้องการที่จะหย่าร้างแยกขาดจากจีน อย่างที่ ไบเดน ยืนยันเอาไว้ในการเจรจาหารือกับ สี
ปักกิ่งจะไม่ยึดติดอยู่กับความหวังปลอมๆ ที่ว่า การพูดจากันเป็นเวลา 3 ชั่วโมงระหว่างผู้นำสูงสุดของสหรัฐฯ และของจีน สามารถที่จะแก้ไขคลี่คลายปัญหาทุกๆ อย่างในระหว่างมหาอำนาจทั้งสองรายนี้ได้ นี่เป็นความเห็นของนักวิเคราะห์ชาวจีนหลายๆ คน
หลังจากการพบปะแบบเจอะเจอหน้ากันตัวเป็นๆ ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ที่ บาหลี อินโดนีเซีย เมื่อวันจันทร์ (14 พ.ย.) รัฐบาลจีนจะต้องคอยเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดว่าสหรัฐฯ ทำอะไรอย่างจริงๆ จังๆ บ้างในเรื่องเกี่ยวกับการค้าและเทคโนโลยี นักวิจารณ์แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ (คอมเมนเตเตอร์) เหล่านี้หลายๆ รายเสนอแนะ
ขณะที่สื่อของทางการจีนกล่าวว่า การพบปะหารือระหว่าง สี-ไบเดน เป็นตัวแทนแสดงให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับจีนและสหรัฐฯ ในการฟื้นฟูความร่วมมือกันชนิดที่มุ่งเล็งผลเชิงปฏิบัติขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
แต่สื่อเหล่านี้ก็ย้ำว่า ไบเดนไม่ควรที่จะ “พูดอย่างหนึ่งแต่ทำอีกอย่างหนึ่ง” หลังจากที่เขาประกาศภายหลังการหารือว่า สหรัฐฯ ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะหย่าร้างแยกขาดจากจีน หรือกดขี่กำราบการเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน
นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2021 เมื่อ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เขาได้พูดคุยทางโทรศัพท์และทางวิดีโอคอลกับ สี รวม 5 ครั้งแล้ว ในตอนต้นๆ สื่อของทางการจีนแสดงความวาดหวังอย่างสูงว่าการพูดจาเหล่านี้จะช่วยปรับปรุงยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีจีน-สหรัฐฯ ให้ดีขึ้นได้ ภายหลังการอำลาลงจากเวทีไปของคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เป็นพวก “สายเหยี่ยว”
อย่างไรก็ดี ความตึงเครียดระหว่างประเทศทั้งสองยังคงขยายตัวต่อไปอีก โดยที่สหรัฐฯ ประกาศแซงก์ชันลงโทษบริษัทจีนเพิ่มขึ้นแห่งแล้วแห่งเล่า รวมทั้งบังคับใช้กฎห้ามส่งออกชิปให้แก่จีน แม้กระทั่งชิปซึ่งผลิตโดยบริษัทต่างชาติทว่ามีการใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯ ด้วย
หลังจากที่ ไบเดน กับ สี พูดจากันเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมปีนี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แนนซี เพโลซี ได้เดินทางไปเยือนไต้หวัน และพบปะหารือกับประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน ในทริปเดินทางเป็นเวลา 2 วันที่สิ้นลงลงในวันที่ 3 สิงหาคม ทางด้านกองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้ตอบโต้แก้เผ็ดโดยเริ่มการฝึกซ้อมทางทหารขนาดใหญ่โตมโหฬารเป็นเวลา 3 วันในบริเวณใกล้ๆ กับเกาะไต้หวัน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายของวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ การหารือซึ่งจัดขึ้นข้างเคียงซัมมิตของกลุ่ม จี20 ที่ บาหลี ในที่สุด สี กับ ไบเดน ก็ได้จับมือกันเป็นครั้งแรกของพวกเขา นับตั้งแต่ที่โรคระบาดใหญ่โควิด-19 เริ่มต้นอาละวาดไปทั่วโลก
ระหว่างการพบปะกันคราวนี้ ไบเดน บอกกับ สี ว่า สหรัฐฯ และจีนต้องทำงานด้วยกันเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่อยู่ในระดับข้ามชาติ เป็นต้นว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคในระดับโลก รวมไปถึงเรื่องการบรรเทาภาระหนี้สินให้พวกประเทศกำลังพัฒนา ความมั่นคงทางด้านสุขภาพ และความมั่นคงทางด้านอาหารของทั่วโลก
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2022/11/14/readout-of-president-joe-bidens-meeting-with-president-xi-jinping-of-the-peoples-republic-of-china/)
เขากล่าวว่า สหรัฐฯ คัดค้านการที่สาธารณรัฐประชาชนจีนมุ่งใช้อำนาจบังคับเอากับไต้หวัน และมีการกระทำที่ก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อไทเป ซึ่งเขากล่าวว่าเป็นการบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพทั้งของสองฟากฝั่งช่องแคบไต้หวัน และทั้งในระดับภูมิภาควงกว้างออกไป ตลอดจนเป็นภัยต่อความเจริญรุ่งเรืองของทั่วโลก
เขาพูดต่อไปว่า สหรัฐฯ จะยังคงทำการแข่งขันอย่างมีคึกคักกับจีนต่อไป ซึ่งก็รวมไปถึงการลงทุนในแหล่งที่มาต่างๆ ของความเข้มแข็งภายในประเทศ ตลอดจนการจับมือใช้ความพยายามร่วมกันกับพวกพันธมิตรและหุ้นส่วนต่างๆ ของอเมริกาในตลอดทั่วโลก
เขายังหยิบยกแสดงความกังวลห่วงใยเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติต่างๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในซินเจียง ทิเบต และฮ่องกง ตลอดจนในเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยองค์รวม
ทางด้าน สี บอกกับ ไบเดน ว่า จีนถือว่าเรื่องไต้หวันเป็นเส้นสีแดงห้ามละเมิดที่สำคัญที่สุดของตน และสหรัฐฯ จึงไม่ควรล่วงล้ำ เขาบอกว่า การเยือน ไต้หวัน ของ เพโลซี ได้สร้างความเสียหายให้แก่ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ รวมทั้งคุกคามเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันอีกด้วย
เขาระบุอีกว่า เส้นสีแดงห้ามล่วงล้ำอีกเส้นหนึ่งของจีน ก็คือ สหรัฐฯ ไม่ควรพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงคณะผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และระบบสังคมนิยมของจีน เขากล่าวว่า ประชาธิปไตยของจีนนั้นมีลักษณะพิเศษของตนเอง และไม่สมควรที่จะถูกประทับตราว่าเป็นระบอบเผด็จการรวบอำนาจ
สี บอกว่าสหรัฐฯ และจีนควรที่จะสนใจทำให้ต่างฝ่ายต่างก็ได้ประโยชน์จากการค้าทวิภาคี แทนที่จะมาทำสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีใดๆ หรือดำเนินการหย่าร้างแยกขาดจากกัน เขากล่าวว่า จีนเองนั้นจะยังคงดำเนินการผลักดันการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการเปิดกว้างเศรษฐกิจของตนต่อไปอีก
หลังจากการหารือกันแล้ว ไบเดน บอกกับสื่อมวลชนว่า เขาเชื่อว่าจีนไม่ได้มีแผนการใดๆ ที่จะรุกรานไต้หวันในเร็ววันนี้ เขากล่าวด้วยว่า สหรัฐฯ และจีนต่างก็คัดค้านการใช้อาวุธนิวเคลียร์ หรือข่มขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในยูเครน
ขณะเดียวกัน หลังการเจรจาระหว่าง สี-ไบเดน จีนได้ตกลงที่จะฟื้นฟูการประสานงานร่วมมือกันในเรื่องภูมิอากาศกับสหรัฐฯ หลังจากที่ได้หยุดชะงักไปภายหลัง เพโลซี ไปเยือนไต้หวัน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.wri.org/news/statement-us-and-china-agree-resume-climate-cooperation)
ซู เสี่ยวฮุ่ย (Su Xiaohui) รองผู้อำนวยการและนักวิจัยของแผนกอมริกันศึกษา สถาบันการระหว่างประเทศศึกษาของจีน (China Institute of International Studies) ให้ความเห็นว่า การพูดจากันครั้งล่าสุดระหว่าง สี-ไบเดน นี้ มีความสำคัญ เนื่องจากจัดขึ้นหลังจากการประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 20 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจบลงด้วยความสำเร็จในเดือนที่แล้ว ส่วนในสหรัฐฯ การเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ก็ออกมาโดยที่พรรคเดโมแครตได้รับความสนับสนุนจากผู้มีสิทธิออกเสียงอย่างแข็งแกร่งเกินกว่าที่คาดหมายกัน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://k.sina.com.cn/article_6145283913_v16e49974902001roem.html)
เธอบอกว่าจากข้อเท็จจริงที่ว่าผู้นำทั้งสองสามารถที่จะนั่งลงและพูดคุยกัน ก็มีความหมายในทางบวกแล้วสำหรับความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ซึ่งได้กลายเป็นความสัมพันธ์ที่ยุ่งยากซับซ้อนเป็นอย่างมาก หลังจากที่ฝ่ายสหรัฐฯ ได้เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ผิดพลาดบางอย่างบางประการ
“ฝ่ายจีนไม่ได้มีมายาภาพใดๆ และจะไม่วาดหวังว่าการพบปะหารือครั้งเดียวจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งหมดได้” ซู บอก “ถ้าสหรัฐฯ มีความปรารถนาที่จะเดินไปในทางเดียวกันกับจีนแล้ว ปักกิ่งก็ย่อมจะยินดีต้อนรับ แต่ถ้าสหรัฐฯ ยังคงพยายามกดขี่กำราบจีนแล้ว เราก็พร้อมแล้วที่จะใช้มาตรการตอบโต้ต่างๆ เพื่อปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์แห่งชาติของเรา”
ระหว่างการประชุมซัมมิต จี20 ที่บาหลี อี้ กัง (Yi Gang) ผู้ว่าการของธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (People’s Bank of China) หรือก็คือ แบงก์ชาติจีน ยังได้พบปะหารือกับรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) เพื่อพูดจากันถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของโลก
ตามรายงานของสื่อมวลชน เยลเลน แถลงว่า เธอคาดหวังว่าสหรัฐฯ จะมีปฏิสัมพันธ์ มีการเข้าร่วมการสนทนาอย่างเข้มข้นกับจีนเพิ่มมากขึ้น ทั้งในเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน สภาพทางเศรษฐกิจมหภาคของทั่วโลก และนโยบายด้านสาธารณสุข ทั้งในสหรัฐฯ และในจีน
ขณะที่ เซี่ย เสี่ยวหรง (Xue Xiaorong) รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (Fudan University) ในเซี่ยงไฮ้ บอกว่า ประชาชนไม่ควรจริงจังเกินไปเกี่ยวกับคำรับรองของ เยลเลน ที่บอกว่า สหรัฐฯ จะไม่หย่าร้างแยกขาดจากจีน เนื่องจากมันอาจจะกลายเป็นแค่การพูดแบบลมๆ แล้งๆ ไปก็ได้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://baijiahao.baidu.com/s?id=1749478496893097906&wfr=spider&for=pc)
อาจารย์เซี่ย กล่าวว่า การเรียกร้องของ เยลเลน ที่ต้องการให้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ มีเสถียรภาพนั้นไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าหาก แคเธอรีน ไท่ (Katherine Tai) ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) และ ไบเดน ยังคงเดินทางไปในทิศทางตรงกันข้าม
เขากล่าวว่า ถ้าสหรัฐฯ ไม่หยุดกดขี่กำราบจีนแล้ว มันก็เป็นเรื่องยากเย็นสุดๆ ที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะมีเสถียรภาพขึ้นมาได้
มีรายงานว่า ไท่ ซึ่งก็อยู่ที่ บาหลี เมื่อวันจันทร์ (14 พ.ย.) ได้บอกกับสื่อมวลชนว่า การพบปะกันระหว่าง สี-ไบเดน เป็นการส่งสัญญาณอย่างมีพลังต่อประเทศอื่นๆ ในโลกว่า จีนและสหรัฐฯ สามารถที่จะบริหารจัดการ “ความสัมพันธ์ที่มีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง” ได้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ajot.com/news/biden-trade-chief-says-xi-meeting-sends-powerful-signal-to-world)