xs
xsm
sm
md
lg

‘ซัมมิตไบเดน-สี’ ทั้งคู่หาทางลดความขัดแย้ง แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้สหรัฐฯ-จีนยังอยู่ในเส้นทางที่จะปะทะกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ (ขวา) และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน (ซ้าย) พบปะเจรจากันข้างเคียงการประชุมซัมมิตกลุ่มจี20 ที่นูซาดัว บนเกาะบาหลี ของอินโดนีเซีย ในวันจันทร์ (14 พ.ย.)
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประชุมซัมมิตกันที่เกาะบาหลี โดยเห็นได้ชัดว่าทั้งคู่ต่างพยายามหาทางลดอุณหภูมิความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจทั้งสอง อย่างไรก็ดี แทบไม่มีนักวิเคราะห์คนไหนคาดหวังว่าจะได้เห็นความตึงเครียดระหว่างจีน-สหรัฐฯ ผ่อนคลายลงมากนัก

หลังจากหารือกันนานกว่า 3 ชั่วโมงเมื่อวันจันทร์ (14 พ.ย.) ที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย ก่อนหน้าที่ผู้นำทั้งสองจะเข้าร่วมการประชุมซัมมิตของกลุ่ม 20 ชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก (จี20) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แถลงว่า สองชาติมหาอำนาจไม่มีความจำเป็นต้องทำสงครามเย็นรอบใหม่ ขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ระบุชัดเจนว่า จีนไม่ได้มุ่งหาทางที่จะท้าทายสหรัฐฯ หรือ “เปลี่ยนแปลงระเบียบระหว่างประเทศที่มีอยู่ในปัจจุบัน”

เวลาเดียวกัน ทำเนียบขาวแถลงว่า แอนโทนี บลิงเคน จะเดินทางไปเยือนจีน ซึ่งถือเป็นการเยือนของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี

ทางด้าน หยุน ซุน ผู้อำนวยการโครงการจีนของสถาบันวิจัย สติมสัน เซ็นเตอร์ ในกรุงวอชิงตัน ชี้ว่า จากการพบปะเจรจากันครั้งนี้ ไบเดนส่งข้อความที่ย้ำให้เกิดความมั่นใจกันใหม่ ขณะที่ฝ่ายจีนก็ให้ข้อสรุปในแง่บวกมากขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งสะท้อนว่าทั้งสองฝ่ายสนใจที่จะปรับความสัมพันธ์ที่มีอยู่ให้ดีขึ้น

กระนั้น นอกเหนือจากความหวังที่มีร่วมกันในการหลีกเลี่ยงสถานการณ์เลวร้ายที่สุดและการปะทะกันโดยตรงแล้ว ซุนมองว่า สองมหาอำนาจมีมุมมองที่แตกต่างกันมากในเรื่องนิยามความสัมพันธ์ที่มั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นร้อนอย่างไต้หวัน

เธอเสริมว่า ถ้าคาดหวังให้ซัมมิตครั้งนี้พลิกฟื้นความสัมพันธ์อเมริกา-จีนอย่างน่าอัศจรรย์แล้ว ทั้งสองฝ่ายยังจะต้องมีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้

ทางด้าน รุ่ย จง แห่งสถาบันวิจัย วิลสัน เซ็นเตอร์ เรียกซัมมิตที่บาหลีคราวนี้ว่า เป็น “งานซ่อมบำรุง” และการเยือนจีนของบลิงเคนก็เป็นแค่ “การประคองสถานการณ์” มากกว่าจะเป็นการผ่าทางตันใดๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ในการเจรกากันแบบเห็นหน้าค่าตาครั้งแรกระหว่างประธานาธิบดีอเมริกา-จีนนับจากปี 2019 ครั้งนี้ ต่างฝ่ายต่างสนใจเพียงแค่ลดความตึงเครียดเท่านั้น

จง ระบุว่า สำหรับ สี นั้นยังคงปรารถนาที่จะให้เป็นที่เข้าใจกันว่าเขายึดมั่นให้ความสำคัญกับเรื่องเสถียรภาพในภูมิภาค ถึงแม้การที่จีนขยายและใช้อิทธิพลไปทั่วเป็นสิ่งที่ประเทศเล็กกว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กังวลกันมานาน

เธอบอกว่า สี จะไม่ได้อะไรกลับไปเลยถ้าเย็นชาเกินไป ไม่ยืดหยุ่น และแข็งกร้าวต่อ ไบเดน โดยไม่จำเป็น อย่างน้อยที่สุดก็ในระหว่างการเจอกันแบบพบหน้ากัน

ส่วนสำหรับ ไบเดน เรื่องสำคัญที่สุดในด้านการทูตก็คือ การรั้งบังเหียนรัสเซียในการเข้ารุกรามยูเครน และประมุขทำเนียบขาวไม่รีรอที่จะป่าวประกาศสิ่งที่เขาเห็นว่าคือการที่ปักกิ่งไม่ได้สนับสนุนมอสโกอย่างเต็มตัว ซึ่งรวมถึงการไม่ส่งอาวุธให้

ทำเนียบขาวระบุด้วยว่า สี เห็นด้วยกับ ไบเดน ในการคัดค้านการใช้หรือการขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ในยูเครน กระนั้น ข้อความนี้ไม่ปรากฏในคำแถลงของฝ่ายจีนแต่อย่างใด

ยังคงระแวงไม่ไว้ใจกัน

แต่ไม่ว่าจะป่าวประกาศต่อโลกอย่างไร มหาอำนาจทั้งสองต่างยังคงมีความหวาดระแวงเจตนาของอีกฝ่ายเป็นอย่างมาก

ในเอกสารยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนที่แล้ว คณะบริหารของไบเดน ระบุว่า จีนเป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวที่สามารถท้าทายความเป็นหนึ่งเหนือใครๆ ของอเมริกา และวอชิงตันจะพยายามมุ่งเน้นให้เกิดความแน่ใจว่า อเมริกาจะรักษา “ความได้เปรียบในการแข่งขันเอาไว้ได้” ซึ่งรวมถึงเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ

ทั้งนี้ เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำการเปลี่ยนแปลงจีนสู่ความทันสมัยในทศวรรษ 1980 เคยกล่าวประโยคทองไว้ว่า จีนจะ “รอคอยโอกาส” และทุ่มเทเพื่อให้ประเทศเจริญรุ่งเรืองขึ้นแทนที่จะท้าทายมหาอำนาจอื่นๆ ในทันที

อย่างไรก็ดี บรรดาผู้วางนโยบายของอเมริกาต่างมองว่า จีนกล้าแสดงออกมากขึ้นในยุคสี จิ้นผิง ที่ถือเป็นผู้นำทรงอิทธิพลที่สุดในรอบหลายทศวรรษ และเพิ่งได้รับการรับรองให้ครองตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3 แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในจีน

รัช โดชิ ที่ปรึกษาด้านจีนของไบเดน ซึ่งมีส่วนร่วมในการเจรจาที่บาหลีครั้งนี้ด้วย เคยเขียนไว้ในหนังสือเมื่อปี 2019 ว่า สีเล็งเห็นโอกาสสำคัญจากจังหวะที่ตะวันตกเสื่อมทรุดลง ซึ่งมีประจักษ์พยานคือการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ของโดนัลด์ ทรัมป์ ตลอดจนถึงการที่อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป และการรับมือกับวิกฤตโรคโควิดระบาด

เขาบอกว่า ยุทธศาสตร์ของจีน คือการมุ่งใช้ความพยายามอย่างแน่วแน่และในทุกหนแห่งทั่วโลกเพื่อแทนที่อเมริกาในฐานะผู้นำโลก

ประเด็นร้อนไต้หวัน

ประเด็นที่ทำให้ความสัมพันธ์ของมหาอำนาจ 2 รายนี้เสื่อมทรามลงอย่างรวดเร็ว ได้แก่ ไต้หวัน

หลังการเจรจาซัมมิตกับ สี ผ่านไปไม่ทันไร พรรครีพับลิกันก็เปิดฉากโจมตีแนวทางการทูตของไบเดนอย่างไม่ชักช้า โดยวุฒิสมาชิกสายเหยี่ยว ทอม คอตตอน วิจารณ์ว่า ไบเดนกำลังกลับไปรื้อฟื้นนโยบายโอนอ่อนผ่อนตามจีนขึ้นมาอีกอย่างไร้เดียงสา และเรื่องนี้จะส่งผลลบต่ออเมริกา เป็นภัยต่อไต้หวัน และทำให้ สี ยิ่งฮึกเหิม

ทั้งนี้ ไบเดนกล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังเจรจากับผู้นำจีนว่า เขาเข้าใจว่า สีจะไม่รุกรานไต้หวันเร็วๆ นี้ ขณะที่ประมุขแดนมังกรเตือนเรื่องอเมริกาเรื่องการสนับสนุนให้ไทเปประกาศเอกราช

เมื่อเดือนสิงหาคม หลังจาก แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ดื้อดึงเยือนไทเปโดยไม่ฟังเสียงทักท้วงจากคณะบริหารไบเดน จีนก็จัดการซ้อมรบครั้งใหญ่ที่สุดรอบๆ เกาะไต้หวัน

เวลานี้ เควิน แมคคาร์ธี ของพรรครีพับลิกัน ซึ่งน่าจะได้เป็นประธานสภาล่างคนต่อไป ก็ประกาศชัดเจนว่า จะเยือนไต้หวันเช่นกัน

ซุน มองว่า หลังจากได้รับการยืนยันจากไบเดนครั้งนี้ อาจมีโอกาสมากขึ้นเล็กน้อยที่ สี จะไม่แสดง “ปฏิกิริยาตอบโต้เกินไป” ต่อการเยือนของแมคคาร์ธี แต่ถึงกระนั้น เธอยังสงสัยว่าจีนจะอดใจไม่ตอบโต้อย่างรุนแรงได้หรือ

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น