ความพยายามที่นำโดยฝ่ายตะวันตกเพื่อประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย กลายเป็นประเด็นครอบงำการประชุมซัมมิตกลุ่ม 20 ประเทศเศรษฐกิจรายใหญ่ของโลก (จี20) เมื่อวันอังคาร (15 พ.ย.) ซึ่งเป็นวันแรกของการหารือเป็นเวลา 2 วันที่เกาะบาหลี อินโดนีเซียคราวนี้
การที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียเข้ารุกรานยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และติดตามมาด้วยการที่ฝ่ายตะวันตกดำเนินการแซงก์ชันรัสเซียอย่างหนักหน่วง ได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันและก๊าซพุ่งพรวด จนกระทบเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง รวมทั้งยังเป็นการฟื้นชีพความแตกแยกแบ่งขั้วในทางภูมิรัฐศาสตร์ของทั่วโลกแบบยุคสงครามเย็นขึ้นมาใหม่ ขณะที่มนุษยชาติเพิ่งเริ่มต้นโซซัดโซเซเงยหน้าขึ้นมาจากช่วงเลวร้ายที่สุดของโรคระบาดใหญ่โควิด-19
เช่นเดียวกับในเวทีประชุมระหว่างประเทศครั้งอื่นๆ ในช่วงหลังๆ มานี้ สหรัฐฯ และพวกชาติพันธมิตรตะวันตกกำลังหาทางผลักดันให้ซัมมิตจี20 คราวนี้ ออกคำแถลงที่มีเนื้อหาประณามการปฏิบัติการทางทหารของมอสโก
ทว่ารัสเซียตอบโต้ว่า การทำให้ซัมมิตคราวนี้ “กลายเป็นเรื่องการเมือง” เช่นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม
“ใช่ครับ กำลังเกิดสงครามอยู่ยูเครนเวลานี้ เป็นสงครมไฮบริดลูกผสมที่ฝ่ายตะวันตกปล่อยออกมาหลังจากที่ได้เตรียมการกันอยู่หลายปี” รัฐมนตรีต่างประเทศ เซียร์เก ลาฟรอฟ ของรัสเซีย แถลง โดยเน้นย้ำข้อโต้แย้งของ ปูติน ที่ว่า การที่กลุ่มพันธมิตรทางทหารของฝ่ายตะวันตกอย่างนาโต้ ขยายตัวไม่ยอมหยุด เป็นภัยคุกคามต่อการดำรงคงอยู่ของรัสเซีย
ถึงแม้ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ของอินโดนีเซียที่เป็นเจ้าภาพการประชุมคราวนี้ เรียกร้องความเป็นเอกภาพและมุ่งเน้นการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลก เช่น ภาวะเงินเฟ้อ และความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน และไม่ปล่อยให้โลกแตกแยกและเข้าสู่สงครามเย็นครั้งใหม่ก็ตาม
แต่สำนักข่าวฝ่ายตะวันตกหลายแห่ง เป็นต้นว่า รอยเตอร์ เปิดเผยว่า มีความพยายามที่จะร่างคำแถลงยาว 16 หน้า ซึ่งระบุว่า สมาชิกส่วนใหญ่ของ จี20 ประณามสงครามในยูเครนอย่างแข็งกร้าว และย้ำว่ามันเป็นสาเหตุให้มนุษยชาติประสบความยากลำบากแสนสาหัส รวมทั้งยังกัดกินเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางอยู่แล้ว
เวลาเดียวกัน ร่างคำแถลงนี้กล่าวยอมรับด้วยว่า ยังมีทัศนะมุมมองและการประเมินอย่างอื่นๆ ที่แตกต่างออกไปเกี่ยวกับสถานการณ์ ในยูเครน และมาตรการแซงก์ชันรัสเซีย
คำแถลงนี้ยังไม่ได้รับการรับรองจากบรรดาผู้นำของ จี20 และน่าจะถูกรัสเซียคัดค้าน พวกนักการทูตเผยว่า ไม่มีแนวโน้มที่ที่ประชุมจะตัดสินใจเกี่ยวกับร่างคำแถลงนี้ก่อนวันพุธ (16)
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ผู้หนึ่งเผยว่า อเมริกาคาดหวังว่า จี20 จะประณามสงครามยูเครนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ดี การประชุมรัฐมนตรีจี20 ที่ผ่านๆ มาไม่สามารถออกคำแถลงร่วมได้เนื่องจากมีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกเกี่ยวกับถ้อยคำในคำแถลง ซึ่งจะกล่าวถึงสงครามในยูเครน
ในช่วงแรกๆ ของการประชุมซัมมิตเมื่อวันพุธ ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ได้โอกาสกล่าวปราศรัยแบบทางไกลต่อที่ประชุม โดยเขาประกาศว่า ถึงเวลาแล้วที่จะหยุดสงครามภายใต้แผนการที่เขาเสนอ ซึ่งเขาอ้างว่ามีความเหมาะสมและอิงกับกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ
ผู้นำยูเครนยังเรียกร้องให้ฟื้น “ความปลอดภัยทางรังสี” ซึ่งหมายถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซีย จำกัดราคาแหล่งพลังงานของรัสเซีย และขยายแผนการริเริ่มส่งออกธัญพืช
ในช่วงหลายเดือนก่อนหน้าซัมมิตคราวนี้ มีผู้นำตะวันตกบางชาติเรียกร้องให้บอยคอตต์การประชุม รวมทั้งพยายามกดดันให้ประเทศเจ้าภาพยกเลิกการเชิญประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียเข้าร่วมการประชุม ทว่า อินโดนีเซียปฏิเสธ
อย่างไรก็ดี ในที่สุดแล้ว ปูติน ก็ไม่ได้มาเข้าร่วม โดยฝ่ายรัสเซียบอกว่า ปูตินมีภารกิจมากมายจนไม่สามารถรับคำเชิญได้ และส่ง รัฐมนตรีต่างประเทศ ลาฟรอฟ เข้าประชุมแทน
จีนสนับสนุนหยุดยิง
พร้อมๆ กับที่การประชุมซัมมิตเริ่มต้นขึ้น บรรดาผู้นำของชาติต่างๆ ก็มีการนัดหารือพูดคุยข้างเคียงการประชุมหลักอย่างกระตือรือร้น
ในวันอังคาร ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้พบปะกับประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส โดยสื่อของทางการจีนรายงานว่า สี บอก มาครง ว่า จีนสนับสนุนการหยุดยิงในยูเครนและการเจรจาสันติภาพ
ด้านสำนักงานประธานาธิบดีฝรั่งเศสแถลงสรุปผลการเจรจาว่า มาครง เสนอให้ฝรั่งเศสและจีนควรร่วมมือกันใกล้ชิดขึ้นเพื่อเอาชนะผลกระทบจากสงคราม โดยที่ผู้นำทั้งคู่เห็นพ้องถึงความเร่งด่วนในการแก้ไขความขัดแย้งในยูเครน และย้ำจุดยืนในการป้องกันการใช้อาวุธนิวเคลียร์
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเจนซีส์)