xs
xsm
sm
md
lg

เอเชียอาคเนย์เดินหน้าสู่‘ซัมมิตอาเซียน-จี20-เอเปก’ ยึดหลัก‘เป็นกลาง’อ้าแขนรับรัสเซีย-เลี่ยงทำUSขุ่นใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเดินตรวจสถานที่จัดการประชุมซัมมิตอาเซียนในกรุงพนมเปญ, กัมพูชา วันพุธ (9 พ.ย.)  ทั้งนี้ชาติสมาชิกของสมาคมอาเซียนกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมซัมมิตระหว่างประเทศ 3 งานต่อเนื่องกัน คือ ซัมมิตอาเซียนที่พนมเปญ  ต่อด้วยซัมมิตกลุ่มจี20 ที่ บาหลี, อินโดนีเซีย  และซัมมิตเอเปก ที่กทม.
แม้อเมริกาพยายามรวบรวมสมัครพรรคพวกมาดำเนินการโดดเดี่ยวรัสเซียเพื่อลงโทษเรื่องที่ไปรุกรานยูเครน แต่คาดว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะคงความสัมพันธ์กับมอสโกควบคู่กับระมัดระวังไม่สร้างความขุ่นเคืองให้วอชิงตัน ขณะที่ภูมิภาคนี้กำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดระดับโลก 3 งานต่อเนื่องกัน ส่วนแดนหมีขาวเองนั้นก็ต้องการกระชับสัมพันธ์กับชาติอาเซียนเหล่านี้มากขึ้นทั้งเพื่อลดผลกระทบจากมาตรการแซงก์ชันของตะวันตก และลดการพึ่งพิงจีน

การสู้รบขัดแย้งในยูเครนและการแซงก์ชั่นแดนหมีขาวของฝ่ายตะวันตก ซึ่งส่งผลกระทบติดตามมา ทั้งราคาพลังงานและอาหารพุ่งทะยาน ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก ได้รับการคาดหมายว่า จะปกคลุมบรรยากาศซัมมิตทั้งของสมาคมอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้องในพนมเปญ, ซัมมิตกลุ่มจี20 ที่บาหลี และซัมมิตเอเปกในกรุงเทพฯ

เริ่มต้นด้วยการประชุมระดับผู้นำของอาเซียนในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะมีวาระการหารือกับชาติอื่นๆ เป็นต้นว่า ซัมมิตกับประเทศคู่เจรจา และอีสต์เอเชียซัมมิต อย่างไรก็ดี สมาชิกส่วนใหญ่ของอาเซียนเองต่างงดพูดถึงการรุกรานยูเครน เว้นเพียงสิงคโปร์ที่ร่วมวงกับตะวันตกออกมาตรการลงโทษรัสเซีย

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ของยูเครน ได้รับการร้องขอให้ส่งวิดีโอปราศรัยต่ออาเซียน รวมทั้งได้รับเชิญให้ร่วมประชุมสุดยอดจี20 ที่บาหลี

อินโดนีเซีย เจ้าภาพซัมมิตจี20 คราวนี้ พยายามแสดงบทผู้รักษาสันติภาพด้วยการเชิญประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย ร่วมหารือด้วย แม้ทั้งผู้นำของรัสเซียและของยูเครน ไม่ยืนยันว่า จะรับคำเชิญหรือไม่ก็ตาม

สำหรับที่อาเซียนนั้น ยูเครนจะแสดงบทรุกทางการทูต ด้วยการร่วมลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการสถาปนาความสัมพันธ์กับสมาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ

กระนั้น พวกนักวิเคราะห์คาดว่า ประเทศอาเซียนจะยังคงนโยบายเดิม นั่นคือการรักษาความเป็นกลาง

โจแอนน์ ลิน จากสถาบันยูซอฟ อิสฮัก ในสิงคโปร์ เชื่อว่า อาเซียนจะยังคงร่วมมือกับรัสเซียต่อไปตามเดิม และเสริมว่า สมาชิกหลายประเทศเชี่ยวชาญในการแยกแยะประเด็นปัญหาออกเป็นส่วนๆ โดยไม่พยายามนำมาเชื่อมโยงกัน

ทั้งนี้ รัสเซียส่งสัญญาณตั้งแต่เดือนกันยายนว่า กำลังเบนเข็มมาหาเอเชียขณะที่ถูกตะวันตกรุมแซงก์ชัน โดยปูตินกล่าวถึงโอกาสมากมายมหาศาลใหม่ในภูมิภาคนี้

นักวิเคราะห์ระบุว่า รัสเซียหวังซื้อใจประเทศอาเซียนที่กำลังเผชิญปัญหาต้นทุนพลังงานพุ่งด้วยการเสนอขายน้ำมันและก๊าซ ควบคู่กับกระชับสัมพันธ์กับพันธมิตรเก่าแก่อย่างพม่าและเวียดนาม

นอกจากนี้ ขณะที่ยุโรปพยายามหันหลังให้ไฮโดรคาร์บอนรัสเซีย มอสโกจึงต้องพยายามหาตลาดใหม่และเสนอส่วนลดก้อนโต โดยมีรายงานว่า เปอร์ตามินา รัฐวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซของอินโดนีเซีย กำลังเจรจาซื้อน้ำมันดิบของรัสเซีย ขณะที่พม่าและลาวหวังว่า มอสโกจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพลิงของพวกตนได้

ฟิลิปป์ อิวานอฟ ประธานบริหารของ สมาคมเอเชีย ออสเตรเลีย ชี้ว่า รัสเซียจะพยายามสร้างภาพเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นกลางและเคารพความเป็นอิสระของอาเซียน

ตลอดปีที่ผ่านมา เครมลินติดต่อกับพันธมิตรเก่าแก่ในเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนามและพม่า ซึ่งเป็นลูกค้าอาวุธสำคัญของรัสเซียเพื่อใช้ต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธสนับสนุนประชาธิปไตย

เดือนที่แล้ว ปูตินให้การต้อนรับมิน อ่อง หล่าย ผู้นำสูงสุดของคณะทหารพม่า ในฐานะอาคันตุกะผู้มีเกียรติในงานประชุมเศรษฐกิจที่วลาดิวอสต็อก

นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยยังเดินทางเยือนมอสโกเมื่อเดือนที่แล้วเพื่อร่วมการหารือที่เน้นหนักประเด็นการค้า ขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัวอย่างยากลำบากจากโควิด กำลังจ้องรัสเซียตาเป็นมันเนื่องจากเล็งเห็นว่า มาตรการแซงก์ชันทำให้คนรัสเซียเดินทางไปยุโรปยากขึ้น

เดือนที่ผ่านมา สายการบินแอโรฟลอตของรัสเซีย กลับมาให้บริการบินตรงสู่ภูเก็ต หลังระงับมากว่า 6 เดือนภายหลังการรุกรานยูเครน

ไทย ตลอดจนถึงเวียดนามและลาว ยังงดออกเสียงเช่นเดียวกับจีนและอินเดียในการลงมติประณามการผนวกดินแดนบางส่วนในยูเครนของรัสเซียในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อเดือนที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะชั่งน้ำหนักความเสี่ยงในการละเมิดมาตรการแซงก์ชันของอเมริกาหรือกวนโทสะวอชิงตัน

เป็นต้นว่า ต้นปีนี้มาเลเซียถูกบีบให้รีบออกมาปฏิเสธ หลังเอกอัครราชทูตแดนเสือเหลืองในมอสโกแสดงท่าทีว่า ยินดีขายเซมิคอนดักเตอร์ให้รัสเซีย

นอกจากนั้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์ยังยกเลิกข้อตกลงซื้อเฮลิคอปเตอร์ 16 ลำของรัสเซียมูลค่า 216 ล้านดอลลาร์ และปีที่แล้วอินโดนีเซียล้มข้อตกลงซื้อเครื่องบินขับไล่ 11 ลำจากรัสเซีย

มาตรการแซงก์ชันและบอยคอตต์ของตะวันตกยังทำให้มอสโกต้องเร่งหาอุปทานวัตถุดิบ ชิ้นส่วนรถ เซมิคอนดักเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า และสินค้าอุปโภคบริโภค

นอกจากนั้น รัสเซีย ซึ่งเป็นซัปพลายเออร์อาวุธรายใหญ่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วง 20 ปีล่าสุด กำลังถูกกดดันในส่วนอุตสาหกรรมการส่งออกด้านกลาโหม อีกทั้งยังกังวลว่า อาจพึ่งพิงจีนมากเกินไป

รายงานของสถาบันยูซอฟ อิสฮัก ชี้ว่า บริษัทกลาโหมรัสเซียยินดีรับเงินบางส่วนเป็นสินค้าโภคภัณฑ์และการจัดซื้อผลผลิตร่วม

อิวานนอฟจากสมาคมเอชีย ออสเตรเลีย บอกว่า การเบนเข็มมาเอเชียไม่ใช่ทางเลือกด้านนโยบายอีกต่อไป แต่เป็นความจำเป็นสำหรับรัสเซีย และการขยายความสัมพันธ์กับนานาประเทศจะช่วยให้มอสโกหลีกเลี่ยงการกลายเป็นรัฐบริวารของจีน

(ที่มา: เอเอฟพี, เอเจนซีส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น