เอพี - ผู้นำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะประชุมกันที่เมืองหลวงของกัมพูชาวันพฤหัสฯ นี้ (10) ที่เผชิญกับความท้าทายในความพยายามที่จะลดความรุนแรงในพม่าที่ทวีความรุนแรงขึ้น ขณะที่รัฐบาลทหารไม่แสดงสัญญาณของการปฏิบัติตามแผนสันติภาพของกลุ่ม
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่มีขึ้นในขณะที่วอชิงตันและปักกิ่งพยายามที่จะเพิ่มอิทธิพลในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และมีกำหนดร่วมการประชุม G20 ในบาหลี อินโดนีเซีย ที่จะตามมาหลังจากนั้น ที่คาดว่าจะรวมถึงประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน จากนั้นเป็นการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APEC) ในกรุงเทพฯ
นอกเหนือจากประเด็นพม่าแล้ว การประชุม 4 วัน คาดว่าจะมุ่งเน้นที่ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ การฟื้นตัวจากวิกฤตโรคระบาด การค้าระดับภูมิภาค และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อย่างไรก็ตาม คาดว่าทั้ง สี หรือ ปูติน จะไม่เข้าร่วมการประชุมอาเซียนหรือการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่จัดขึ้นคู่ขนาน แต่ทั้งจีนและรัสเซียคาดว่าจะส่งคณะผู้แทนระดับสูงนำโดยนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง และรัฐมนตรีต่างประเทศ เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ
แต่ประเด็นปัญหาสำคัญที่นอกเหนือไปจากการประชุมอาเซียน G20 และ APEC แล้ว คือ การรุกรานยูเครนของรัสเซีย และการแสวงหาตลาดใหม่สำหรับแหล่งพลังงานของรัสเซีย ตลอดจนปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และความมั่นคงด้านอาหาร การแสดงอำนาจทางทหารที่แข็งกร้าวมากขึ้นของจีนต่อไต้หวัน และความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นในคาบสมุทรเกาหลี
ด้วยการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนด้วยตนเอง ประธานาธิบดีไบเดน จะสามารถผลักดันผลประโยชน์ของอเมริกา และยังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความมุ่งมั่นของวอชิงตันต่อภูมิภาค โทมัส แดเนียล ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษาของมาเลเซีย กล่าว
อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนหลังจากปี 2560 และออกจากที่ประชุมปี 2560 ก่อนกำหนด ก่อนการประชุมเต็มคณะของการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นการเจรจาเชิงยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคที่สำคัญ ปล่อยให้เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศในเวลานั้นทำหน้าที่แทน
“สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความสำคัญมากที่จะต้องปรากฏตัว และผมคิดว่าชาวอเมริกันตระหนักดีในเรื่องนี้” แดเนียล กล่าว
“ผมไม่สามารถเน้นย้ำได้ว่าฝ่ายบริหารของทรัมป์สร้างความเสียหายมากเพียงใดที่ไม่ไปปรากฏตัว และไม่เพียงแค่ไม่ปรากฏตัวเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งตัวแทนที่ถูกมองว่าเป็นการลดระดับลงไปอีก” แดเนียล กล่าว
ในปีนี้ อาเซียนกำลังยกระดับสหรัฐฯ ให้เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้าน ที่เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็เป็นการยกระดับวอชิงตันให้อยู่ในระดับเดียวกับจีนที่ได้รับสถานะดังกล่าวเมื่อปีที่แล้ว
ก่อนการประชุม แดเนียล คริเทนบริงค์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า การเจรจาดังกล่าวจะเป็นโอกาสในการทำงานตามความสำคัญทางการทูตที่หลากหลายทั่วทั้งภูมิภาค และมุ่งเน้นที่การดำเนินการในสิ่งที่เราได้ให้คำมั่นสัญญาไว้แทนการเสนอโครงการริ่เริ่มใหม่ๆ ขึ้นมาอีก
“การปรากฏตัวของสหรัฐฯ ในระดับสูงที่การประชุมสุดยอดเหล่านี้ จะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่แข็งแกร่งและยั่งยืนของเราในภูมิภาค” คริเทนบริงค์กล่าว ที่การประชุมโต๊ะกลมปลายเดือน ต.ค. ที่จัดขึ้นโดยศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษาของวอชิงตัน
“ตั้งแต่ประธานาธิบดีไปจนถึงรัฐมนตรีต่างประเทศ ทั่วทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ เรารู้ว่าความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองในอนาคตของสหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก” คริเทนบริงค์ กล่าว
กระทรวงการต่างประเทศของจีนไม่ได้กล่าวถึงสหรัฐฯ เมื่อร่างรายละเอียดการปรากฏตัวที่จะมีขึ้นของ หลี่ เค่อเฉียง แต่กล่าวเพียงว่าประเทศมุ่งมั่นต่อนโยบายต่างประเทศในการรักษาสันติภาพของโลกและส่งเสริมการพัฒนาร่วมกัน
นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ของกัมพูชา ที่ประเทศเป็นประธานหมุนเวียนอาเซียนในปีนี้ ได้เชิญยูเครนเข้าร่วมการประชุม และรัฐมนตรีต่างประเทศของยูเครนได้พบหารือกับฮุนเซนก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนในวันพุธ (9)
สำนักงานของฮุนเซนระบุว่า ผู้นำเขมรได้พูดคุยกับประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ทางโทรศัพท์เมื่อต้นเดือน
คริเทนบริงค์ชื่นชมการไม่กีดกันยูเครนของกัมพูชา และกล่าวว่าสหรัฐฯ กำลังทำงานกับเพื่อนในอาเซียนเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่ายูเครนมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย นอกจากนี้ ยังระบุว่าสหรัฐฯ จะพูดคุยกับประเทศในอาเซียนเกี่ยวกับขั้นตอนเพิ่มเติมเพื่อกดดันรัฐบาลทหารพม่าเพื่อผลักดันให้ยุติการสังหารและมุ่งสู่เส้นทางประชาธิปไตย
“เราจะไม่นิ่งดูดายในขณะที่ความรุนแรงยังดำเนินอยู่” คริเทนบริงค์ กล่าว
อาเซียน ที่รวมถึงพม่า ได้พยายามที่จะเล่นบทบาทสร้างสันติภาพไม่นานหลังจากกองทัพขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจี และยึดอำนาจในเดือน ก.พ.2564
ที่การประชุมนัดพิเศษเมื่อปลายเดือน ต.ค. รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกในอาเซียน ประกอบด้วย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และบรูไน ยอมรับว่าความพยายามของพวกเขาที่จะนำสันติภาพมาสู่พม่าไม่ประสบความสำเร็จ และเรียกร้องการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ปฏิบัติได้จริง และกำหนดกรอบเวลา เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามแผนสันติภาพ 5 ข้อ
นอกจากนี้ ยังเรียกร้องการยุติความรุนแรงในทันที การเจรจาระหว่างทุกฝ่าย การไกล่เกลี่ยโดยทูตพิเศษอาเซียน การจัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการเยือนพม่าของทูตพิเศษเพื่อพบหารือกับทุกฝ่าย
ในเบื้องต้น รัฐบาลพม่าเห็นพ้องด้วยแต่ใช้ความพยายามเพียงเล็กน้อยในการดำเนินการตามข้อตกลงเหล่านั้น นอกเหนือจากขอความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและอนุญาตให้ ปรัก สุคน รัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชาที่เป็นทูตพิเศษของอาเซียนเยือนประเทศ แต่รัฐบาลทหารได้ปฏิเสธที่จะอนุญาตให้เขาพบหารือกับอองซานซูจี ที่ถูกจับกุมตัวและกำลังถูกดำเนินคดีในหลายข้อหาที่นักวิจารณ์กล่าวว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อกีดกันเธอจากการเมือง
ฝ่ายอาเซียนตอบโต้ด้วยการไม่อนุญาตให้ผู้นำของพม่าเข้าร่วมในการประชุมอย่างเป็นทางการของกลุ่ม และพม่าได้ปฏิเสธแนวคิดที่จะส่งตัวแทนที่ไม่เกี่ยวข้องทางการเมืองมาร่วมการประชุม แม้เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการได้เข้าร่วมการประชุมก่อนการประชุมสุดยอดในบางครั้งก็ตาม
รัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนในเดือน ส.ค. ได้สรุปการประชุมพร้อมกับคำแถลงร่วมที่วิพากษ์วิจารณ์พม่าที่ขาดความคืบหน้า และตัดสินใจที่จะทิ้งประเด็นดังกล่าวให้ผู้นำตัดสินใจในกรุงพนมเปญแทน
อย่างไรก็ตาม อาจเป็นไปได้ที่ผู้นำยังเลือกที่จะรอจนกว่าอินโดนีเซีย ที่มีท่าทีแข็งกร้าวต่อพม่า จะเข้ารับตำแหน่งประธานกลุ่มในปี 2566 ก่อนที่จะดำเนินการอย่างเด็ดขาดมากขึ้น
“มีโอกาสที่พวกเขาอาจเลือกที่จะชะลอและเตะถ่วงปัญหานี้ออกไปอีกครั้ง” นักวิเคราะห์ กล่าว.