xs
xsm
sm
md
lg

พระเจ้าชาร์ลส์ทรงเพิ่มเจ้าหญิงแอนน์ในคณะผู้แทนพระองค์ กูรูชี้ปรินซ์แฮร์รีทรงกริ้วหนักแน่ หยามกันชัดๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เพียงมองตาก็รู้ใจ : สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และเจ้าฟ้าหญิงแอนน์ สองพระเชษฐาพระกนิษฐา ทรงดูแลกันและกันมายาวนานถึง 7 ทศวรรษ ทรงรู้พระทัยกันอย่างลึกซึ้ง และในห้วงแห่งการสูญเสียพระราชบิดาและพระราชมารดา ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นกำลังพระทัยแก่กันและกัน ดังนั้น ในวันและคืนแห่งความเปลี่ยนแปลงสู่พระราชกรณียกิจพระมหากษัตริย์ ทรงได้พระกนิษฐาผู้ทรงเป็นขวัญใจประชาชนคอยช่วยสนับสนุนในเรื่องสำคัญทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าร่วมในคณะที่ปรึกษาแห่งประเทศซึ่งน่าจะเริ่มต้นกันในปี 2023
สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรอาจจะมีเหตุให้ทรงต้องถูกพระราชโอรสองค์เล็กกริ้วใส่ในประเด็นใหม่ หลังจากที่ทรงประกาศให้เจ้าหญิงแอนน์ พระขนิษฐาหนึ่งเดียวของพระองค์ และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พระอนุชาพระองค์เล็ก ได้เข้าสู่คณะพระราชวงศ์ที่จะได้เป็นผู้แทนพระองค์ในการปฏิบัติพระราชกิจสำคัญ หากพระองค์ทรงพระประชวร หรือมิได้ทรงประทับในราชอาณาจักร (คณะ Counsellors of State หรือก็คือคณะที่ปรึกษาแห่งประเทศ)

ทั้งนี้ เจ้าชายแฮร์รีอาจจะทรงรู้สึกว่าถูกกีดกันและลิดรอนสิทธิอย่างชนิดที่ไม่ไว้หน้ากันเลย โดยอาจจะทรงตีความว่านี่เป็นการนำเสด็จอาทั้งสองพระองค์มาปฏิบัติหน้าที่เพื่อกีดกันมิให้พระองค์ได้มีโอกาสแสดงบทบาทสำคัญๆ ระดับประเทศ เช่น การเข้าประชุมปรีวีเคาน์ซิล การเซ็นเอกสารอนุมัติต่างๆ และกระทั่งการรับหนังสือแต่งตั้งพร้อมกับต้อนรับเอกอัครราชทูตใหม่จากประเทศโน้นประเทศนี้

ดังนั้น บรรดาสื่อหัวสีผู้เกาะติดกิจการพระราชวงศ์อังกฤษ เช่น เดลิเมล์ออนไลน์ จึงพากันชงข่าวว่า ความเคลื่อนไหวนี้นับเป็นการดูหมิ่นอย่างแรงต่อเจ้าชายแฮร์รี ซึ่งจะส่งผลให้พระราชโอรสองค์สุดท้อง “โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ”

โดยเดลิเมล์ออนไลน์นำการวิเคราะห์ของนักข่าวคนดังในแวดวงข่าวพระราชวงศ์อย่างแอนเจลา เลวิน ผู้เขียนหนังสือเล่มอื้อฉาวเกี่ยวกับเจ้าชายแฮร์รี คือ Harry : A Biography of A Prince (2018) มารายงานว่า การตัดสินพระทัยของพระมหากษัตริย์อังกฤษในเที่ยวนี้ ซึ่ง “ถือเป็นเรื่องจำเป็น” จะทำให้เจ้าชายแฮร์รีและเจ้าชายแอนดรูว์ไม่มีโอกาสที่จะได้รับมอบอำนาจเป็นผู้แทนพระองค์ไปดำเนินพระราชกรณียกิจสำคัญทั้งปวง

การตัดสินพระทัยดังกล่าวของคิงชาร์ลส์ประกาศออกเป็นหนังสือที่ทรงเซ็นพระนามกำกับชัดเจน และมีการส่งไปยังสภาขุนนางเมื่อวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2022 อันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบรอบ 74 พรรษา โดยทรงระบุวัตถุประสงค์ว่าการเพิ่มสมาชิกแห่งพระราชวงศ์จำนวน 2 พระองค์ เข้าสู่คณะที่ปรึกษาแห่งประเทศเป็นไปเพื่อ ‘สร้างความมั่นใจว่าประสิทธิภาพแห่งพระราชกรณียกิจจะดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ในยามที่ข้าพเจ้าไม่สามารถปฏิบัติการได้’

เจ้าฟ้าหญิงแอนน์ทรงเป็นพระราชวงศ์ที่อาจเรียกได้ว่า ผู้มากบารมีแห่งสหราชอาณาจักร เพราะนอกจากที่ทรงวางพระองค์ได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นที่นิยมชื่นชมของประชาชน พระองค์ยังมีความเป็นผู้ใหญ่ที่เหนือกว่าเจ้าชายแฮร์รีและเจ้าชายแอนดรูว์ ดังนั้น การที่พระองค์จะเข้าเป็นที่ปรึกษาแห่งประเทศผ่านการแก้ไขกฎหมายครั้งสำคัญนี้ พระองค์หญิงเหล็กพระองค์นี้จะสามารถรับมือได้กับทุกปัญหา
ปลดล็อกคณะที่ปรึกษาแห่งประเทศ ใครเป็นใครและอย่างไร

คณะที่ปรึกษาแห่งประเทศเป็นผู้ที่สามารถช่วยปฏิบัติพระราชกรณียกิจสำคัญแทนพระองค์ หากพระมหากษัตริย์ทรงพระประชวร หรือมิได้ทรงประทับในราชอาณาจักร ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (Regency Act) คณะที่ปรึกษาฯ ชุดปัจจุบันประกอบด้วย 5 พระนาม ได้แก่ สมเด็จพระราชินี กับพระราชวงศ์ 4 พระองค์แรกในลำดับรัชทายาทที่มีพระพรรษาเกิน 21 พรรษา ได้แก่ เจ้าฟ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแฮร์รี เจ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าหญิงเบียทริซผู้เป็นพระธิดาของเจ้าชายแอนดรูว์

ที่ผ่านมา สื่อมวลชนสะท้อนความกังวลใจของฝ่ายต่างๆ และบรรดาพสกนิกรว่า ในกรณีที่สมเด็จพระราชินีคามิลลา และเจ้าฟ้าชายวิลเลียมตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ไปเยือนประเทศต่างๆ ผู้ที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้แทนพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจสำคัญของประเทศย่อมจะเป็นเจ้าชายแฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซกซ์ ผู้ซึ่งเสด็จไปประทับอย่างถาวรในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา กับเจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก ซึ่งเป็นพระราชวงศ์ผู้ทรงอื้อฉาวและทรงต้องถอนตัวออกจากชีวิตสาธารณะตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2019 ทั้งนี้ ทั้งสองพระองค์ต่างไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน และหากต้องมีการมอบหมายให้ทรงเป็นผู้แทนพระองค์ ก็เชื่อได้ว่าพสกนิกรจะพากันโกรธเคืองอย่างอื้ออึง และจะสร้างแรงกระทบหนักหนาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ด้วยเหตุนี้ การตัดสินพระทัยเพิ่มเจ้าหญิงแอนน์ ผู้ทรงมีพระฐานันดรศักดิ์แห่งเจ้าฟ้าหญิง (Royal Princess - ซึ่งทรงได้รับตั้งแต่ที่พระราชมารดาคือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ยังทรงพระชนม์ชีพ โดยเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลที่พระราชธิดาพระองค์โตของพระมหากษัตริย์จะได้พระฐานันดรศักดิ์นี้) และเพิ่มเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งเวสเซกซ์ เข้าไว้ในคณะ Counsellors of State จึงได้รับเสียงสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆ เป็นอย่างดี ในแง่ที่ช่วยปลดล็อกปัญหาและป้องกันปัญหาจากกระแสคัดค้านในหมู่พสกนิกร

เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กที่สุดของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แต่ทรงมิได้เป็นลูกคนโปรด เพราะเจ้าชายแอนดรูว์คือผู้ที่เสด็จแม่เป็นห่วงมากที่สุด กระนั้นก็ตาม เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทรงเป็นพระราชโอรสที่สร้างปัญหาน้อยที่สุด โดยเป็นเพียงพระองค์เดียวที่ไม่มีปัญหาหย่าร้าง และยังเป็นพระราชโอรสที่ทุ่มเทเต็มที่ให้กับพระราชกิจของพระราชวงศ์ ตลอดจนจะทรงหลีกเลี่ยงการเป็นข่าวอื้อฉาว ดังนั้น พระองค์จึงทรงเป็นปัจจัยเอื้อสำคัญสำหรับพระเจ้าชาร์ลส์ พระเชษฐาซึ่งทรงโตกว่ากันถึง 16 ปี ในการที่จะช่วยเหลือสนับสนุนในเรื่องสำคัญทั้งปวง (ภาพนี้ได้รับการบันทึกไว้ในปีนี้ที่เบอร์มิงแฮม)
กูรูฟันธง ปรินซ์แฮร์รีทรงกริ้วไฟลุกแน่ แม้ทรงไม่เสียประโยชน์ แต่มันเกี่ยวกับว่าเสด็จพ่อทรงประสงค์อะไร

“แน่นอนค่ะ เรื่องนี้เป็นการหยามเจ้าชายแฮร์รีและเจ้าชายแอนดรูว์ - แต่ก็มีเหตุผลที่เหมาะสมนะคะ และเป็นเรื่องจำเป็นค่ะ” แอนเจลา เลวิน กล่าวกับเดลิเมล์ออนไลน์ และบอกด้วยว่านี่เป็นวิธีที่ชาญฉลาดในการ ‘ปลด’ เจ้าชายแฮร์รีและเจ้าชายแอนดรูว์ ออกพ้นคณะที่ปรึกษาแบบที่มีชั้นเชิงการทูตเป็นที่สุด

นอกจากนั้น ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้พระเจ้าชาร์ลส์ได้เจ้าหญิงแอนน์ และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดมาช่วยงานกันอย่างจริงจัง

“เจ้าชายแฮร์รี กับดัชเชสเมแกนจะโกรธเป็นฟื้นเป็นไฟอย่างที่สุดกับการตัดสินพระทัยครั้งนี้ค่ะ แต่พระองค์เสด็จไปประทับในแคลิฟอร์เนียแล้ว ทรงยุติการปฏิบัติพระราชกิจแห่งพระราชวงศ์แล้ว ดังนั้น พระองค์จะเป็นที่ปรึกษาแห่งประเทศเพื่ออะไร” แอนเจลา เลวินกล่าวกับเดลิเมลออนไลน์ และตั้งประเด็นขึ้นว่า

“มันจึงไม่ใช่ประเด็นที่เกี่ยวกับตัวพระองค์เอง” แต่มันเกี่ยวกับว่าคิงชาร์ลส์ทรงมีพระประสงค์อะไรกันแน่" นักข่าวคนดังแห่งแวดวงพระราชสำนักเสนอข้อสังเกตไว้อย่างนั้น

พร้อมนี้ เธอเสนอด้วยว่าหากดยุกแห่งยอร์กได้รับมอบให้เป็นผู้แทนพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจสำคัญต่างๆ “สาธารณชนจะพากันโกรธเกรี้ยวอย่างแน่นอน”

“หากเข้าไปอ่านระหว่างบรรทัด การตัดสินพระทัยในครั้งนี้คือการสร้างความมั่นใจได้จริงๆ ว่ามีบุคคลที่เหมาะสมเข้าไปทำหน้าที่แทนพระองค์” เจ้าของผลงาน Harry : A Biography of A Prince วิเคราะห์อย่างนั้น พร้อมเสริมด้วยว่า นี่จึงเป็นการสร้างความมั่นใจว่าพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์จะสามารถดำเนินไปอย่างราบรื่นได้จริงในยามที่พระองค์ทรงไม่สามารถปฏิบัติด้วยพระองค์เอง

ด้าน ดร.เครก เพรสคอตต์ นักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับพระราชวงศ์ ให้ความเห็นแก่เดลิเมลออนไลน์ว่า การตัดสินพระทัยที่จะเพิ่มจำนวนที่ปรึกษาแห่งประเทศจะทำให้คิงชาร์ลส์สามารถ “เลี่ยงออกจากเจ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าชายแฮร์รีได้อย่างสมบูรณ์” ในยามที่พระองค์ทรงมีความจำเป็นจะต้องมีผู้แทนพระองค์มาช่วยปฏิบัติพระราชกรณียกิจสำคัญ

ลำดับแห่ง 23 ราชนิกุลที่ทรงสิทธิแห่งการสืบทอดพระราชบัลลังก์พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร โดยเจ้าฟ้าชายวิลเลียม ทรงอยู่ในลำดับที่ 1 เจ้าชายแฮร์รี ทรงอยู่ในลำดับที่ 5 เจ้าชายแอนดรูว์ ทรงอยู่ในลำดับที่ 8 เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ทรงอยู่ในลำดับที่ 13 และเจ้าฟ้าหญิงแอนน์ ทรงอยู่ในลำดับที่ 16 เพราะทรงเป็นราชนิกุลสตรี แต่เดิมนั้นลำดับของราชนิกุลในเจเนอเรชันเดียวกันกำหนดให้ราชนิกุลหญิงต้องไปต่อท้ายราชนิกุลชาย แต่ปัจจุบันนี้มีความเปลี่ยนแปลงให้จัดลำดับตามอาวุโส โดยความเปลี่ยนแปลงนี้มีขึ้นในเจเนอเรชันระดับพระราชปนัดดา (เหลน) ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
เสียงตอบรับความเคลื่อนไหวของพระเจ้าชาร์ลส์ คือเห็นพ้องสุดๆ การแก้ กม. จะฉับไวเสร็จได้ในปีนี้

เดลิเมลออนไลน์รายงานบรรยากาศภายในที่ประชุมสภาขุนนางด้วยว่า เมื่อหนังสือจากสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ถูกอ่านให้ได้ยินกันทั่วถ้วน เสียงตะโกนตอบรับดังเซ็งแซ่ขึ้นว่า “รับทราบแล้ว รับทราบแล้ว”

บรรยากาศดังกล่าวเป็นอะไรที่อาจตีความได้ถึงความพอใจว่ากระบวนการแก้ปัญหาได้เริ่มขึ้นในที่สุด หลังจากที่ฝ่ายต่างๆ ล้วนเห็นวี่แววของความวุ่นวาย

ทั้งนี้ เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สภาขุนนางมีการอภิปรายกันในประเด็นนี้ โดยตั้งกระทู้ว่าจากสภาพการณ์แท้จริงที่เจ้าชายแฮร์รีทรง “ถอนตัวออกไปจากประเทศอังกฤษ” ขณะที่เจ้าชายแอนดรูว์ก็ทรง “ถอนตัวออกไปจากชีวิตสาธารณะ” สภาขุนนางจึงต้องพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาเพื่อให้คณะที่ปรึกษามีผู้ที่จะปฏิบัติงานช่วยเหลือคิงชาร์ลส์อย่างแท้จริงได้อย่างเพียงพอ ในการนี้ แนวทางที่นำขึ้นพิจารณาคือ “การเปลี่ยนตัว” หรือมิเช่นนั้นก็ต้องเป็น “การเพิ่มจำนวน”

ปรากฏว่าสื่อมวลชนใหญ่ยักษ์ทั้งหลายได้กลิ่นแห่งการ “ปลด” สองเจ้าชายผู้ทรงไม่เป็นที่รักของพสกนิกร และจึงแห่กันนำเสนอเป็นข่าวฮือฮาตั้งแต่เช้าวันพุธที่ 26 ตุลาคม

ต่อมา ในค่ำวันเดียวกัน ได้มีการสยบบรรยากาศอันร้อนแรงด้วยข่าวคืบหน้าว่า พระเจ้าชาร์ลส์ ทรงตัดสินพระทัยในเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยทรงเลือกแนวทาง “การเพิ่มจำนวน” โดยอาจจะให้จำนวนพระราชวงศ์ที่จะได้อยู่ในลิสต์คณะที่ปรึกษามีมากขึ้น จากเกณฑ์ที่กำหนดให้มีสมเด็จพระราชินี กับพระราชวงศ์ 4 พระองค์แรก ก็ให้เพิ่มเป็น 6 พระองค์ ซึ่งจะส่งผลให้พระนามของเจ้าชายเอดเวิร์ด กับพระนามของเจ้าฟ้าหญิงแอนน์ถูกเพิ่มเข้าไปในลิสต์สำคัญนี้

หลังจากนั้นบรรยากาศจึงชัดเจนขึ้น โดยคลี่คลายมาสู่การรอพระราชดำริอย่างเป็นทางการออกมาจากคิงชาร์ลส์ เพื่อจะได้เริ่มต้นกระบวนการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ในการนี้ คาดกันว่ากระบวนการแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มจำนวนที่ปรึกษาแห่งประเทศจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้ เพื่อให้ทันการณ์กับหมายกำหนดการที่คิงชาร์ลส์ และควีนคอนสอร์ทจะทรงเสด็จเยือนนานาประเทศตามพระราชประเพณีภายในปี 2023 โดยฝ่ายต่างๆ ล้วนตระหนักดีว่าเรื่องนี้ต้องเร็วและให้ทันการณ์ เผื่อว่าเจ้าชายแห่งเวลส์อาจจะทรงต้องมีหมายกำหนดการต่างประเทศในช่วงเดียวกันกับพระราชบิดา

ดร.เพรสคอตต์ ประเมินว่าคิงชาร์ลส์ทรงอยู่ในปีแรกๆ ของการเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร

“พระองค์จะทรงต้องเสด็จเยือนออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา จาไมกา เพราะประเทศเหล่านี้ควรได้รับสิทธิจะได้แสดงความยินดีต่อสมเด็จพระประมุขพระองค์ใหม่ พอๆ กับที่พวกเราบนเกาะอังกฤษได้รับสิทธินี้ ดังนั้น พระองค์จะต้องได้ที่ปรึกษาแห่งประเทศมาช่วยปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์อย่างแน่นอนครับ” ดร.เพรสคอตต์ กล่าวกับเดลิเมลออนไลน์

นอกจากนั้น ยังยืนยันว่าเนื้อหากฎหมายที่มีอยู่ในขณะนี้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ฝ่ายต่างๆ ล้วนเห็นถึงความเหมาะสมที่จะได้เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด และเจ้าหญิงแอนน์ซึ่งได้รับความชื่นชมล้นหลามจากพสกนิกรมาร่วมเป็นที่ปรึกษาแห่งประเทศ

โดย รัศมี มีเรื่องเล่า

(ที่มา : เดลิเมลออนไลน์ เดอะซัน เอพี รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น