เมแกน มาร์เคิล ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ เคยได้รับคำข่มขู่เอาชีวิต “ของจริงและน่ารังเกียจ” หลายครั้งในห้วงที่เป็นยังสมาชิกพระราชวงศ์ซึ่งร่วมปฏิบัติพระราชกิจต่างๆ ของพระราชสำนัก อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ฝ่ายปฏิบัติการพิเศษ) ของสหราชอาณาจักรให้สัมภาษณ์แก่สถานีข่าวช่อง 4News ของอังกฤษในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2022 โดยเป็นการให้สัมภาษณ์เป็นรอบสุดท้ายในฐานะประธานคณะผู้วางนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายในอังกฤษ ก่อนจะก้าวพ้นจากตำแหน่ง
พร้อมนี้ นายตำรวจรายดังกล่าว นามว่า นีล บาซู ซึ่งเคยรับผิดชอบภารกิจถวายอารักขาสมาชิกราชวงศ์ บอกว่าเขาเข้าใจได้ดีเลยหากดัชเชสเมแกนจะรู้สึก “อยู่ใต้ภัยคุกคามตลอดเวลา” บีบีซีรายงาน
มีการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีผู้ต้องสงสัยเป็นจำนวนมาก นายตำรวจอังกฤษวัย 54 ปี ผู้มีเชื้อสายอินเดีย (คุณพ่อมาจากโกลกาตา อินเดีย คุณแม่มาจากเวลส์) เล่าไว้อย่างนั้นทางช่อง 4News
เจ้าชายแฮร์รี ซึ่งย้ายถิ่นไปประทับในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา พร้อมพระชายาเมแกน ตั้งแต่ปี 2020 ทรงกล่าวไว้เมื่อปีที่แล้วว่าพระองค์ไม่ทรงรู้สึกปลอดภัยเมื่อมาเยือนสหราชอาณาจักร
นอกจากนั้น ทั้งดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ทรงกล่าวบ่อยครั้งในเรื่องของการถูกดูหมิ่นเหยียดหยามในช่วงที่ยังประทับที่อังกฤษ ตลอดถึงเรื่องที่ว่าการถูกดูหมิ่นเหยียดหยามมีผลต่อสุขภาพจิตมากมายเพียงใด
มากมายขนาดที่ว่า ในช่วงต้นปี 2016 เมื่อเจ้าชายแฮร์รีทรงประกาศให้สาธารณชนทราบถึงความสัมพันธ์เป็นคู่รักกับเมแกน มาร์เคิล ปรากฏว่าพระคู่รักทรงถูกเกรียนคีย์บอร์ดโจมตีบนโซเชียลมีเดียรุนแรงกระทั่งว่า เจ้าชายทรงต้องออกคำแถลงโต้ตอบออกมา
อานิล กันตี นีล บาซู ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผิวสีที่อาวุโสที่สุด ผู้ที่ว่าในวันรุ่งขึ้นก็จะกลายเป็นอดีตประธานคณะผู้วางนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายในอังกฤษ กล่าวถึงกลุ่มที่ส่งคำข่มขู่รุนแรงระดับขู่ฆ่าก็มี ว่าเป็นพวกขวาจัดและเหยียดผิวรุนแรง และบอกว่าถ้าผู้ใดได้เห็นสิ่งที่พวกนั้นเขียนข่มขู่มา และถ้าไม่รู้จักศักยภาพแท้จริงของคนเหล่านี้ ก็ย่อมจะรู้สึกผวาอยู่ภายใต้ภัยคุกคามตลอดเวลา
เมื่อถูกถามว่ามีการขู่เข็ญคุกคามมาจากพวกขวาจัด จริงหรือ เขาตอบว่า “จริงที่สุดครับ เรามีหลายทีมที่ทำการสืบสวนสอบสวน และมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีหลายราย”
พร้อมนี้ เขาบอกว่าที่ผ่านมาเคยพูดออกสื่อเกี่ยวกับภัยคุกคามจาก “ผู้ก่อการร้ายปีกขวาสุดโต่ง” และได้บอกแล้วว่าภัยคุกคามเหล่านี้ขยายตัวรวดเร็วที่สุดในบรรดากลุ่มต่างๆ ที่เขาเคยรับมือมา
“ตอนที่ผมเข้าร่วมในปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายในปี 2015 กลุ่มนี้มีสัดส่วนประมาณ 6% ของปริมาณงานทั้งหมด แต่เมื่อผมได้เลื่อนขึ้นมาสู่ระดับนโยบายเมื่อ 15-16 เดือนที่แล้ว สัดส่วนนี้ขยายขึ้นเป็น 20%” บีบีซีรายงานคำให้สัมภาษณ์ไว้อย่างนั้น
ด้วยเหตุนี้ เมื่อเจ้าชายแฮร์รีทรงมีพระภารกิจที่ต้องเสด็จจากสหรัฐฯ กลับเข้าอังกฤษ พระองค์จึงทรงร้องขอการอารักขาจากทางการ แต่เนื่องจากพระองค์และพระชายาได้ลาออกจากพระราชกิจในพระราชตระกูล ตลอดจนปราศจากสถานภาพพระองค์เจ้า – His Royal Highness และ Her Royal Highness เหลือแต่พระยศ เจ้าชาย และ ดัชเชส พระองค์จึงมิใช่ราชนิกูลที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และจึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับสิทธิแห่งการอารักขาจากทางการ ในการนี้ แม้พระองค์ทรงบอกว่าจะรับผิดชอบด้านค่าใช้จ่าย รัฐบาลก็ไม่สามารถละเมิดหลักเกณฑ์ เพื่อสนองคำร้องขอของพระองค์
อันที่จริงประเด็นนี้ไม่น่าจะเป็นปัญหาในเมื่อภายในอังกฤษ มีบริษัทเอกชนให้บริการงานอารักขากันหลายบริษัท และในเวลาที่ประทับในสหรัฐฯ พระองค์และพระชายาก็ใช้บริการอารักขาจากบริษัทเอกชนมาโดยตลอด ดังนั้น ในท้ายที่สุด พระสวามีของดัชเชสเมแกนก็ทรงยอมไปใช้บริการอารักขาของภาคเอกชนอังกฤษ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทรงเสียความรู้สึกอย่างยิ่ง ดยุกแห่งซัสเซกซ์จึงทรงยื่นฟ้องศาลเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว เพื่อจะเล่นงานกระทรวงมหาดไทยอังกฤษ และศาลรับคำฟ้องเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ฮัฟฟิงตันโพสต์ในอังกฤษรายงาน
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา: บีบีซี, ฮีฟฟิงตันโพสต์)