xs
xsm
sm
md
lg

'จตุพร'เชื่อ'บิ๊กตู่'รอดยากปมบ้านพักหลวง พร้อมทำนายนายกฯ คนต่อไปคือใคร

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการ "ลมหายใจพีซทีวี เวทีทัศน์" ระบุว่า สถานการณ์การเมือง และการเคลื่อนไหวในประเทศที่ผ่านมานั้น ตนเคยพูดอยู่เสมอว่า การเมืองมีอยู่เพียง 3 ระยะในการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม หากทุกคนลองนึกดูว่าการขับเคลื่อนของ นปช.นั้นจะเป็นไปด้วยความสวยสดงดงาม ระยะที่ 2 การเคลื่อนไหวจะเป็นไปด้วยความแข็งแรงมากที่ และสุดระยะที่ 3 เมื่อกลไกรัฐในขณะนั้นตั้งหลัก คือ ระยะตะลุมบอนและเวลานี้ตนก็ประเมินสถานการณ์การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ว่า เดินมาสู่ในระยะที่ 3 แม้จะมีการปกป้องแนวทางสันติวิธีทุกประการก็ตาม
ดังนั้น ในแต่ละเหตุการณ์ไม่ใช่ว่าแต่ละฝ่ายต้องการให้เกิดเรื่อง แต่มือที่ 3 เท้าที่ 4 พร้อมจะใส่เสื้อทั้ง 2 ทาง และการสร้างสถานการณ์ของทั้งสองฝ่ายรูปแบบจะไม่เปลี่ยนแปลงไป ครั้งล่าสุดที่รัฐสภาเกียกกายถือว่าโชคดีที่ยังไม่มีใครตาย และรูปแบบก็เป็นแบบเดียว จนสุดท้ายนำไปสู่การปะทะกัน และระหว่างนั้นจะมีลูกผสมเข้ามามากมาย

ดังนั้นสถานการณ์ขณะนี้ที่ตนต้องส่งเสียงไปยังรัฐบาล ว่า กลเกมต่างๆ และลูกผสมต่างๆ ส่วนใหญ่รัฐในขณะนั้นๆ จะเข้ามามีบทบาทในการสร้างสถานการณ์ทุกครั้ง และครั้งเมื่อเลือดได้หลั่ง แล้วมันจะหยุดยาก แต่หากรัฐไม่ต้องการจะให้เกิดเรื่อง ก็ขอให้จำปากตนไว้อย่างหนึ่งว่า ตำรวจรู้ทุกเรื่อง หากตำรวจเอาจริงเอาจัง และได้รับการกำชับมานั้น รอดสายตาตำรวจยากมาก

อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีกล้องวงจรปิดจำนวนมาก สามารถบันทึกภาพไว้ได้หมดเพียงแต่วัตถุประสงค์จะเก็บภาพเหล่านั้นไว้เพื่ออะไร เช่น ต้องการภาพชายใส่เสื้อสีชมพูยิงไปอีกฝั่งหนึ่งแต่ไม่ปรากฏว่า อีกฝั่งนั้นได้รับบาดเจ็บแม้แต่คนเดียว ขณะเดียวกันก็มาอธิบายว่า กระสุนผิดพลาดมาเจอพวกเดียวกันเอง ทั้งหมดเป็นสูตรเดิมที่ปฏิบัติกันมายาวนาน และตนก็เชื่อว่ากระบวนการอย่างนี้ที่เจอกันมากว่า 15 ปีนั้น มันควรที่จะหยุดกันเสียทีและคนที่จะหยุดได้ก็คือรัฐ โดยวันนี้ยังเป็นการดูแลของทางตำรวจอยู่ แม้ว่าทหารจะสแตนบายต่างๆ ก็ตาม

นายจตุพร กล่าวว่า อย่างที่ตนบอกว่าประเทศไทยเราไม่เคยมีการรัฐประหารเป็นครั้งสุดท้าย แต่สถานการณ์ที่ตนพูดกันมาหลายวันที่ผ่านมานั้นดูเหมือนว่าไม่มีอะไร ในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ ซึ่งเป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยกรณีการพักบ้านหลวงของนายกรัฐมนตรี ภายหลังจากการเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ก็ไม่มีใครเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่รอด เพราะมีกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เรื่องการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทุกอย่างก็หมดหวัง แต่ขอให้เชื่อตนไว้อย่างหนึ่งว่า เมื่อมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ไม่มีใครแข็งแรงตลอดระยะเวลา

ทั้งนี้ หากคนส่วนใหญ่คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องรอด 99% แต่ตนเชื่อฝั่ง 1% ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่รอด เพราะสถานการณ์การเมืองเดินมาถึงทางตัน และการที่จะเอา พล.อ.ประยุทธ์ ให้พ้นจากกระดานนี้ทำได้อย่างเดียวคือการให้พ้นจากตำแหน่ง ดังนั้น มีกรณีเดียวขณะนี้ที่ทำได้คือ กรณีที่พักอยู่บ้านหลวง ซึ่งเรื่องนี้เหมือนกับกรณีของ นายสมัคร สุนทรเวช ที่ทำกับข้าวออกโทรทัศน์

และก่อนที่เราจะถูกยึดอำนาจ ปี 57 ตนเคยพูดไว้ว่า จำปากตนไว้ว่านายกรัฐมนตรีต่อจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ขีดเส้นใต้ไว้เลยว่าชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และวันนั้นก็ไม่มีใครเชื่อตน แต่การอ่านกระดานการเมือง และการข่าวการวิเคราะห์ต่างๆเชื่อว่า 1% นี้จะเป็นความหวัง และหากถามว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ให้ขีดเส้นใต้ไว้เหมือนกันว่า นายกรัฐมนตรีคนต่อไปชื่อ อนุทิน ชาญวีรกุล

นายจตุพร กล่าวถึง การใช้เสื้อเหลืองในการขับเคลื่อนทางการเมือง ว่า เวลานี้เสื้อเหลืองแยกเป็น 2 กลุ่มชัดเจน กลุ่มหนึ่งเป็นเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ/จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่มีลักษณะที่จะก้าวร้าวใดๆ เพราะเป็นสุภาพชน ส่วนเสื้อเหลืองที่จัดโดยนักการเมือง จะเห็นได้ชัดว่าพวกนี้พร้อมจะไล่ตีกับใครก็ได้และความเป็นจริง เสื้อเหลืองกลุ่มนี้ เข้าข่ายทำลายสถาบันกันเสียด้วยซ้ำ เพราะจะเห็นได้ชัดเจนว่า ที่หน้ารัฐสภา กลุ่มไทยภักดีที่มารอบเช้านั้นกลับไปแล้ว แต่ปรากฏว่าคนที่ต้องการเรื่องก็จัดชุดใหม่มา และข่าวกระแสก็เต็มกันไปหมดว่าเป็นคนของรัฐบาลที่ขนรถบัสมา 11 คัน

แต่สุดท้ายหัวหน้ารัฐบาลก็ไม่ได้จัดการอะไร และวันนั้นมีการบาดเจ็บร่วม 50 กว่าคน โดนกระสุนปืนไป 6 คน แต่ยังไม่มีใครตาย แต่ถามว่าเอาเสื้อเหลืองเข้ามาในลักษณะอย่างนี้นั้นตนมองว่า เป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์เสียเอง/ไม่ใช่เป็นการปกป้องสถาบันกษัตริย์ แต่เอาคนเสื้อเหลืองมาปกป้องนักการเมืองและก็ทำลายสถาบันกษัตริย์ไปในตัวด้วย ดังนั้น เมื่อภาพยิ่งปรากฏในลักษณะความรุนแรงเช่นนี้ผลลัพธ์ก็เกิดขึ้นกับสถาบัน

ส่วนกรณีการใช้มาตรา 112 นั้น จริงๆ แล้วหลังจากการยึดอำนาจคราวนี้เป็นการใช้มาตรา 112 มากที่สุด จนกระทั่งวันหนึ่งก็มีแนวพระราชประสงค์ออกมาว่าจะไม่ทรงดำเนินคดีมาตรา 112 ตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ออกมาอธิบายเรื่องมาตรา 112 รอบแรกนั้นอธิบายข้อความส่วนเดียว เพราะในวรรคต่อจากนั้นคือคนที่จะตัดสินว่าจะดำเนินคดี 112 หรือไม่ มีเพียงบุคคลเดียวเท่านั้น คืออัยการสูงสุด โดยการขอความเห็นจากสำนักพระราชวัง ดังนั้นที่มีการประกาศกันอีกครั้งเป็นแถลงการณ์ของพลเอกประยุทธ์ที่จะมีการแจ้งมาตรา 112

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยอมรับความผิดพลาดตั้งแต่รอบแรกในการประกาศเพราะดูเสมือนว่าไม่มีอะไร แต่ข้อเท็จจริงยังมีเรื่องอัยการสูงสุดเพื่อป้องกันการแกล้งกัน และที่ผ่านมาการแกล้งกันด้วยมาตรา 112 มีจำนวนมาก และลงโทษกันแต่ละครั้งนั้นจำนวนปีมากมาย เพราะฉะนั้นเมื่อประกาศมาตรการขณะนี้นั้นตนอยากจะสื่อความไปยังรัฐบาลว่าที่ทำลงไปนั้น เป็นผลดีกับรัฐบาลหรือจะเป็นผลดีกับสถาบัน หรือจะเป็นผลร้ายกับสถาบันหรือเป็นผลดีกับรัฐบาลแต่เป็นผลร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์