xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีสุวรรณ”เผยศาลปกครองพิพากษาสั่งอุตสาหกรรมเร่งจัดการเหมืองแร่เชียงคาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (21 ส.ค.) เวลา 10.00 น.นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมชาวบ้านใน อ.เชียงคาน จ.เลยเดินทางมาฟังคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง หลังจากที่ได้ยื่นฟ้องกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รมว.อุตสาหกรรม อธิบดีกรมป่าไม้ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 - 11 ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2557 โดยขอให้เพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ รวมทั้งใบอนุญาต หรือประทานบัตรของโครงการเหมืองแร่ของบริษัท พาลิน จำกัด บริษัท พรราชันย์ จำกัด และบริษัท ซัมทองไมนิ่ง จำกัด แปลงสัมปทานในท้องที่ หรือพื้นที่ ต.บุฮม อ.เชียงคาน จ.เลย เพิกถอนคำสั่งอนุมัติ หรืออนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูเขาแก้ว และป่าดงปากชม ในท้องที่ ต.บุฮม ต.เชียงคาน ต.เขาแก้ว และ ต.ธาตุ อ.เชียงคาน และ ต.หากคัมภีร์ ต.ปากชม และ ต.เชียงกลม อ.ปากชม จ.เลย ไม่ให้เป็นพื้นที่เหมืองแร่ใดๆ เสีย และให้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดร่วมกันกำหนดมาตรการและดำเนินการฟื้นฟูสภาพลำธารที่เสียหายจากมลพิษ และปนเปื้อนสารพิษให้กลับคืนสภาพเหมือนดังเดิม โดยงบประมาณของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดภายใน 90 วันนับแต่คดีถึงที่สุด

ต่อมาศาลได้มีคำสั่งเรียกบริษัทเหมืองแร่ทั้ง 3 บริษัทเข้ามาในคดี เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 12 ถึง 14 ด้วย

ทั้งนี้ ศาลได้ชี้และวินิจฉัยว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีอนุมัติให้ผู้ประกอบการเอกชนได้รับประทานบัตรในการทำเหมืองแร่ท้องที่ ต.บุฮม อ.เชียงคาน จ.เลย ไปแล้วกลับไม่ดำเนินการให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตให้ครบถ้วน ไม่ทำบ่อดักตะกอน ไม่ทำคันทำนบดินและคูป้องกันน้ำรั่วไหล ไม่ปลูกต้นไม้ใหญ่และหญ้าแฝกบนคันดินรอบโครงการ ย่อมทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากน้ำแร่ลงในลำห้วย ที่ชาวบ้านต้องใช้เพื่อการบริโภค อุปโภค หรือทำเกษตรกรรมเหมือนแต่ก่อน สร้างผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ มีผลต่อสุขภาพอนามัย และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ดั้งเดิมของชุมชนท้องถิ่น ถือได้ว่าเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ศาลจึงพิพากษาให้อุตสาหกรรมจังหวัดเลยต้องปฏิบัติหน้าที่สั่งหรือบังคับให้บริษัทเหมืองแร่ทั้ง 3 รายต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตภายใน 90 วัน

ทั้งนี้หลังจากนี้แล้ว ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ดังกล่าวจะนำความ และผลของคำพิพากษาไปฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมา และจะนำความไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.เพื่อเอาผิดอุตสาหกรรมจังหวัดเลยฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ต่อไปด้วย