ไทยแพน-มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นร้องสอด หลังบริษัท ซินเจนทา ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตพาราควอต ฟ้องศาลปกครองเพิกถอนประกาศแบน หวังใช้ข้อมูลผลกระทบสุขภาพโต้แย้ง ชี้ข้อมูลชัดพาราควอตสัมพันธ์กับการก่อโรคพาร์กินสัน-มีผลพัฒนาการสมองทารก
วันนี้ (18 ส.ค.) เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีจำกัดศัตรูพืช หรือไทยแพน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลมลนิธิชีววิถี นำโดย น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายอัมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เข้ายื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอเป็นผู้ร้องสอด ในคดีที่บริษัท ซินเจนทา คอร์ป โปรเทคชั่น จำกัด บริษัทผู้ประกอบการผลิตและนำเข้าสารพาราควอตรายใหญ่ระดับโลกยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรมและพวก รวม 5 ราย ต่อศาลปกครอง เพื่อให้เพิกถอนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่แบนสารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา
น.ส.ปรกชลกล่าวว่า หลังรัฐบาลมีประกาศแบนสารเคมีดังกล่าว พบว่าบริษัท ซินเจนทาฯ ได้ยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐต่อศาลปกครอง ทำให้เครือข่ายเห็นว่าจำเป็นต้องเข้ามาให้ข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการสู้คดีของหน่วยงานรัฐ และเป็นการปกป้องประชาชนให้ปลอดภัยจากสารเคมีอันตรายดังกล่าว จึงต้องมาขอเป็นผู้ร้องสอด ซึ่งบริษัท ซินเจนทาฯ เป็นบริษัทที่ผลิตสารเคมีรายใหญ่ของโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งที่ประเทศนี้มีการยกเลิกใช้สารเคมีดังกล่าวมากว่า 20 ปี แต่บริษัทกลับมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกประกาศแบนสารเคมีดังกล่าว อยากย้ำว่าสารเคมีทั้งสองตัวที่มีการยกเลิกนั้นเป็นสารอันตราย และกว่า 60 ประเทศ ในจำนวนนี้รวมถึงประเทศที่เคยเป็นผู้ผลิตสารเคมีก็มีการยกเลิกการใช้ไปแล้ว โดยเหตุผลหลักเพราะเป็นสารที่มีพิษ เกษตรกรในประเทศไทยไปฉีดพ่นสารนี้ทั้งที่มีการเจือจางก็ทำให้เสียชีวิตได้ จึงไม่สมควรที่จะใช้ แม้จะมีความพยายามในการป้องกันแล้วก็ไม่สามารถลดความเสี่ยงได้ ที่สำคัญสารนี้มีความสัมพันธ์ต่อการก่อโรคพาร์กินสัน ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์ก็พบการตกค้างในพืชผัก แม้การใช้สารเป็นเพียงการฉีดพ่นวัชพืช สารนี้จึงมีพิษสูงโดยเฉพาะกับระบบประสาท เด็กทารกที่ได้รับสารนี้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ผ่านการรับประทานผักและผลไม้ที่ปนเปื้อนของมารดา ก็จะทำให้มีปัญหาพัฒนาการทางสมอง และจะมีผลกระทบเรื้อรังไปตลอดชีวิต สารเคมีทั้งสองตัวนี้จึงควรต้องถูกแบนตลอดไป
นอกจากนี้ หลังจากรัฐบาลประกาศยกเลิกการใช้สองสารเคมี ทางเครือข่ายฯ ก็ได้ลงสำรวจเบื้องต้น พบว่าเกษตรกรรายย่อยจำนวนมากไม่ได้พึ่งพาสารนี้อยู่แล้ว ผลสำรวจที่ออกมาเกษตรกรเห็นด้วยกับการยกเลิกสารดังกล่าว แต่ในพืชผักบางประเภทยังต้องการการช่วยเหลือจากภาครัฐเรื่องสารทดแทนอื่นๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทางเครือข่ายฯ พยายามจะผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐเข้าไปดูแล
ด้านนางนฤมลกล่าวว่า เรามีตัวอย่างของคนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สารพาราครอตในต่างจังหวัด มูลนิธิฯกำลังช่วยเหลือในเรื่องของการดำเนินคดีต่อผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งข้อมูลค่อนข้างขัดเจนว่าเป็นโรคที่เกิดจากผลกระทบของการใช้สารพาราควอต โดยผู้เสียหายที่เราช่วยเหลืออยู่ส่วนใหญ่จะเป็นโรคเนื้อเน่า จึงอยากจะฝากถึงประชาชนขอให้ทุกคนรณรงค์เลิกใช้สารเคมีนี้เพื่อจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ขณะที่นายอัมรินทร์กล่าวว่า การที่มาร้องสอดจะทำให้มีโอกาสเข้าไปตรวจสอบสำนวน และจะได้ร่วมจัดทำคำให้การข้อมูลเสนอต่อศาล ซึ่งเราจะพยายามโต้แย้งด้วยการนำเสนอข้อมูลทางวิชาการว่าสารดังกล่าวมีอันตราย เพื่อให้ศาลได้ข้อมูลครบถ้วนรอบด้านในการพิจารณา