xs
xsm
sm
md
lg

“สัมฤทธิ์” จี้ ก.เกษตรฯเร่งหาสารทดแทน “พาราควอต” โอดเกษตรกรเดือดร้อนหนัก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์
“สัมฤทธิ์ ตั้งกระทู้ถาม ก.เกษตรฯ ขอแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรหลังยกเลิก “พาราควอต” โอดทำเกษตรกรต้นทุนสูง ฝากรัฐบาลช่วยดูแล ประวัตร ยันเข้าใจความเดือดร้อน แต่ต้องทำตามกฎหมาย เผยให้ “กรมวิชาการเกษตร” เร่งศึกษาผลกระทบ

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 63 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม ในวาระการตั้งกระทู้ถามทั่วไป นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคพลังประชารัฐ ตั้งกระทู้ถาม รมว.เกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ รับมอบหมายตอบกระทู้แทน

โดย นายสัมฤทธิ์ ตั้งกระทู้ถามเกี่ยวกับมาตรการรองรับการยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรว่า เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติยกเลิกการใช้ สารเคมีทางการเกษตร 2 ชนิด คือ พาราควอตและคลอร์ไฟรีฟอส โดยการเปลี่ยนจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นชนิดที่ 4 ห้ามนำเข้า ส่งออกและครอบครอง การยกเลิกสารเคมีไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ผ่านมาประเทศของเรามีการยกเลิกกว่า 100 ชนิด แต่ต้องถามว่า ในส่วนคลอร์ไฟรีฟอส ทำไมยกเลิกแล้ว เกษตรกรไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่มีการต่อต้านแต่อย่างใด เพราะเรายกเลิกแล้วไม่กระทบเกษตรกร เขายังสามารถไปหาซื้อสารอื่นมาใช้ทดแทนได้ ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายและราคาใกล้เคียงกัน แต่สารพาราควอตนั้น เกษตรกรไม่เห็นด้วย บางกลุ่มไปฟ้องศาลปกครองกลาง มีการร้องเรียน เพราะวันนี้เรายกเลิกพาราควอต ที่เป็นยาฆ่าหญ้าที่เกษตรกรใช้มากที่สุดในประเทศ และมีราคาต่ำที่สุดในประเทศ ทำให้พวกเขาทำการเกษตรไม่ได้

“การยกเลิกพาราควอต โดยกล่าวอ้างถึงความปลอดภัยของเกษตรกร และผู้บริโภค และมี 55 ประเทศที่ยกเลิก แต่เราไม่เคยพูดว่ามีอีก 78 ประเทศ ยังใช้อยู่และอีกหลายประเทศมีการจำกัดการใช้ เช่น บราซิล, สหรัฐอเมริกา, อาร์เจนตินา และญี่ปุ่น ที่แย่กว่านั้นคือ วันนี้เราไม่อนุญาตให้เกษตรกรใช้พาราควอต แต่เราอนุญาตให้บริษัทเอกชนสามารถนำพืชผลทางการเกษตรจากประเทศที่เขาใช้พาราควอตอยู่นำเข้ามาได้ เรื่องนี้ค่อนข้างจะใจร้ายกับเกษตรกรไทย” นายสัมฤทธิ์ กล่าว

นายสัมฤทธิ์ กล่าวต่อว่า ตนเข้าใจว่า เราต้องทำปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ต้องขอสอบถามไปยังรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ว่า เมื่อยกเลิกการใช้สารพาราควอตที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนโดยตรงแลเว กรมวิชาการเกษตรต้องหาสารทดแทนที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ตนอยากทราบว่า บัดนี้กระทรวงได้หาสารทดแทน มีความคืบหน้าเพียงใด และมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

ประภัทร์ โพธสุธน
นายประภัตร กล่าวชี้แจงว่า ขอทำความเข้าใจว่า พาราควอต คือ ยาฆ่าหญ้า สิ่งที่เริ่มต้นมาจากคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช กระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 60 ถึงสารอันตรายที่ห้ามใช้ พาราควอต หากถูกร่างกายและสะสมมากๆ จะอันตรายถึงชีวิต กระทรวงสาธารณสุขเป็นห่วง เราเห็นว่า คนที่รับจ้างฉีดยาฆ่าหญ้า นานๆ เข้าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ตนเข้าใจว่า สารตัวอื่นราคาสูง แต่เราต้องเข้าใจถึงภัยอันตรายต่อร่างกาย แต่เมื่อกฎหมายออกมาอย่างนี้เราก็ต้องปฏิบัติตาม ตอนนี้มีหลายสารที่เราสามารถใช้ทดแทน แต่ตนก็เห็นใจเกษตรกรเพราะมีราคาที่สูงกว่า นอกจากนี้ ในงบเงินกู้ เราได้ให้กรมส่งเสริมฯขอเครื่องมือไปดายหญ้า ตัดหญ้า แม้กระทั่งรถไถ เป็นการบรรเทาหรือแก้ไขให้เกษตรกรแทนการใช้ยาฆ่าหญ้า เราเชื่อว่าราคาจะถูกกว่า แต่อาจจะไม่เร็ว แต่เป็นทางออกที่จะรักษาสุขภาพให้ประชาชน

จากนั้น นายสัมฤทธิ์ ถามอีกว่า การยกเลิกสารพาราควอต เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่จากข้อมูลมีการยกเลิกสารเคมีอื่นไปแล้วและมีการมายกเลิก พาราควอต จนกระทบต่อต้นทุนการผลิตจนไม่สามารถทำการเกษตรได้ อย่าง มาเลเซีย มีการยกเลิกในปี 2548 และกลับมาให้ใช้อีกครั้ง 2549 เพราะต้นทุนราคาสูงและไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ รัฐบาลไม่สามารถหาสารทดแทนได้ ตนขอถามว่า หากประเทศเราไม่มีสารพาราควอตแล้ว เกษตรกรไม่สามารถทำการเกษตรได้เพราะต้นทุนสูงขึ้น รัฐบาลจะมีการกลับไปทบทวนการจำกัดการใช้หรือไม่ และจะมีการทบทวนการกลับมาใช้พาราควอตอีกหรือไม่ หากไม่มีจะมีแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรอย่างไร

“ขออนุญาตฝากไปยังท่านรัฐมนตรีและรัฐบาล ในการยกเลิกพาราควอต มีผลกระทบต่อเกษตรกร โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งจากโครงสร้างของพืชไม่สามารถใช้สารอื่นมาทดแทนได้ เราส่งออกอ้อยเป็นอันดับสองของโลก และส่งออกมันสำปะหลังเป็นอันดับหนึ่งของโลก จึงขอฝากไปยังรัฐบาลให้ช่วยเกษตรกรเหล่านี้ด้วย” นายสัมฤทธิ์ ระบุ

นายประภัตร กล่าวว่า ตนเข้าใจว่า หากวันหนึ่งเรายกเลิกไปแล้วอาจจะเกิดผลกระทบกับต้นทุนการเกษตร ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรไปศึกษา อย่าง มาเลเซียที่กลับมาใช้ ถ้าจำเป็นเราอาจจะกำหนดว่าพืชชนิดใดจะกลับมาใช้ได้บ้างซึ่งเราให้กรมวิชาการเกษตรไปศึกษาอยู่ และต้องอบรมการใช้สารเคมีให้เกษตรกรเข้าใจ และแม้กระทั่งผู้ขายก็ต้องอบรม แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น เราต้องทำตามมาตรการ รัฐบาลก็เข้าใจแต่เราต้องรักษาชีวิตคนไว้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น