กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ชี้ช่องส่งออกเครื่องจักรเกษตร รถแทรกเตอร์ อุปกรณ์และชิ้นส่วนของไทยเจาะตลาดอินเดีย หลังมีความต้องการใช้ในภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นรองรับฤดูกาลเพาะปลูก เผยล่าสุดกระแสต้านสินค้าจากจีนยังขยายวงกว้างเป็นโอกาสที่ไทยจะเข้าไปชิงส่วนแบ่งตลาด
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจนไน อินเดีย ถึงแนวโน้มความต้องการเครื่องจักรกลทางการเกษตร เพราะขณะนี้อินเดียกำลังเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกผลผลิตในภาคการเกษตร ทำให้ต้องการเครื่องจักรกลการเกษตร โดยเฉพาะรถแทรกเตอร์มากขึ้น และยังต้องการรถไถพรวน เครื่องมือปักกล้า เครื่องเกี่ยวข้าว เครื่องตัดอ้อย เครื่องมือเก็บเกี่ยวผลผลิตเกษตร และอุปกรณ์และชิ้นส่วนเพิ่มมากขึ้นด้วย
“อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านการเกษตรของโลก มีผลผลิตภาคเกษตรหลากหลายประเภท เช่น ฝ้ายและเส้นใยธรรมชาติ พืชหัว ถั่วเมล็ดแห้ง มะพร้าว อ้อย พืชผักต่างๆ และเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีและข้าวรายสำคัญของโลก แต่ในช่วงการปิดประเทศช่วงโควิด-19 ส่งผลให้ภาคเกษตรของอินเดียได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนแรงงานเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว และผลผลิตยังได้รับผลกระทบจากการระงับการขนส่ง และขณะนี้เป็นฤดูกาลผลิตใหม่จึงต้องเร่งเพาะปลูก ทำให้มีความต้องการเครื่องไม้เครื่องมือที่จะนำไปใช้เพิ่มขึ้น”
น.ส.จิตติมา นาคมโน ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจนไน อินเดีย กล่าวว่ารัฐบาลอินเดียกำลังใช้นโยบายสนับสนุนเกษตรกรในการซื้อรถแทรกเตอร์และเครื่องจักรทางการเกษตรต่างๆ โดยให้การอุดหนุนร้อยละ 25 ของราคาเครื่องจักร ทำให้มีความต้องการซื้อรถแทรกเตอร์และเครื่องจักรทางการเกษตรเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะขยายตลาดรถแทรกเตอร์ เครื่องจักรเกษตร อุปกรณ์และชิ้นส่วนเครื่องจักรเข้ามาในตลาดอินเดีย
ทั้งนี้ แม้อินเดียจะผลิตเครื่องจักรเกษตรอยู่แล้ว แต่ยังมีความต้องการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยแหล่งนำเข้าหลักมาจากจีน อิตาลี ญี่ปุ่น และเยอรมนี ในช่วงปี 2562 มีการนำเข้ารวม 16.7 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วง 2 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.พ.) ไทยเป็นแหล่งนำเข้าเครื่องจักรเกษตรอันดับที่ 5 ของอินเดีย รองจากจีน เดนมาร์ก อิตาลี และญี่ปุ่น โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยยังกระจุกอยู่ในกลุ่มชิ้นส่วนเครื่องจักรกลเกษตร แต่ผลจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นทำให้ไทยมีโอกาสส่งออกรถแทรกเตอร์ และเครื่องจักรเกษตรได้
“อินเดียนำเข้าเครื่องจักรเกษตรจากจีนเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากปัจจัยด้านราคา แต่จากกระแสต่อต้านสินค้าจีนในอินเดียที่ขยายวงกว้างมากขึ้น จึงจะเป็นโอกาสให้ประเทศต่างๆ ที่จะนำเสนอทางเลือกใหม่ให้แก่ภาคเกษตรของอินเดีย และไทยมีศักยภาพในการผลิตเครื่องมือ และเครื่องจักรเกษตรอยู่มาก จึงควรพิจารณาขยายการส่งออกมายังอินเดีย เพราะรูปแบบการผลิตภาคเกษตรคล้ายคลึงกับไทย ไม่ว่าจะเป็นการปลูกข้าว อ้อย พืชสวนพืชไร่ต่างๆ” น.ส.จิตติมากล่าว
มีรายงานยอดจำหน่ายของบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรเกษตรว่า บริษัท มหินทราแอนด์มหินทรา ผู้ผลิตรถแทรกเตอร์ และเครื่องจักรเกษตรอันดับหนึ่งของโลกจากอินเดีย รายงานยอดขายรถแทรกเตอร์และเครื่องจักรเกษตรในช่วงเดือน มิ.ย. 2563 มียอดจำหน่าย 35,844 คัน ขณะที่บริษัท โซนาลิกา แทรกเตอร์ ขายได้จำนวน 13,691 คัน และบริษัท เอสคอร์ต อะกริแมชชีนเนอรี มียอดขายในช่วงเดียวกันจำนวน 12,623 คัน