xs
xsm
sm
md
lg

ชี้วิกฤตหนี้กรีซ-ฟองสบู่หุ้นจีนแตก เป็นเครื่องฟ้องธนาคารกลางไม่ใช่ยาวิเศษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“วิกฤตหนี้กรีซ” และ “ตลาดหุ้นจีนไหลรูด” สะท้อนให้เห็นว่า “ธนาคารกลาง” ไม่สามารถเยียวยาอาการป่วยไข้ทางเศรษฐกิจได้ทั้งหมด ซ้ำร้ายยังฟ้องถึง “การไร้อำนาจควบคุม” ซึ่ง “บีไอเอส” ระบุว่า เป็นหนึ่งในภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดของระบบการเงินโลก

วาทะ “จะทำทุกทาง” เพื่อปกป้องเงินยูโรของ มาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เมื่อสามปีที่แล้ว อธิบายได้อย่างชัดเจนที่สุดถึงการดำเนินการเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง ของธนาคารกลางที่มีอำนาจและรู้จักตัวเอง ซึ่งช่วยปลอบประโลมตลาดโลกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตภาคการเงินจนระบบการธนาคารและสินเชื่อพังครืนเป็นแถบๆ เมื่อ 8 ปีที่แล้ว

จากอเมริกาถึงยุโรปและเอเชีย ตลาดการเงินได้รับการประคบประหงมและปกป้องด้วยอำนาจไร้ขีดจำกัดของบรรดาธนาคารกลาง ผ่านการพิมพ์ธนบัตรใหม่เพื่อปัดเป่าผลกระทบเชิงระบบและภาวะเงินฝืด

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว ใช่ว่าธนาคารกลางจะสามารถปกป้องค่าเงิน หยุดยั้งภาวะถดถอย สร้างงาน กระตุ้นอัตราเงินเฟ้อ ฟื้นตลาดหุ้น ฯลฯ ได้เสมอไป

ดังกรณีของวิกฤตหนี้กรีซที่มีบางคนคาดการณ์ว่า หากกรีซเป็นประเทศแรกที่ต้องออกจากสหภาพสกุลเงินที่เคยประกาศไว้ว่า ไม่สามารถแตกแยกได้ จะทำให้วลีทองของดรากีถูกรื้อฟื้นมาทบทวนใหม่อีกครั้ง

เช่นเดียวกัน ความสามารถของธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (พีเพิลส์ แบงก์ ออฟ ไชน่า หรือ พีบีโอซี) ธนาคารกลางแดนมังกร ในการบริหารแบบจุลภาคต่อเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก และตลาดหุ้นใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กำลังถูกท้าทายอย่างดุเดือด

หลังจากช่วยปลุกภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ ผ่านนโยบายผ่อนคลายด้านสินเชื่อในช่วงปีที่ผ่านมา มาตอนนี้ ทั้งพีบีโอซีและหน่วยงานผู้คุมกฎอีกหลายแห่งของรัฐบาล กำลังพยายามอย่างหนักเพื่อควบคุมการระเบิดอย่างปัจจุบันทันด่วนของฟองสบู่ ที่ภายในเวลาเพียง 3 สัปดาห์ได้ส่งผลให้ราคาหุ้นดิ่งลงถึง 30% คิดเป็นมูลค่าถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว

ที่น่าเป็นห่วงคือ หลังจากลดดอกเบี้ยและผ่อนคลายข้อกำหนดในการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ไปเมื่อปลายเดือนที่แล้ว แถมอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่บริษัทการเงินที่รัฐสนับสนุน แต่ตลาดกลับมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อมาตรการเหล่านี้เพียงผิวๆ เท่านั้น

นอกจากนั้น จากข้อเท็จจริงที่ว่า 85% ของการซื้อขายหุ้นในจีนมาจากนักลงทุนรายย่อย สถานการณ์นี้จึงอาจส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในขณะที่อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอลงต่ำกว่า 7% เป็นครั้งแรกนับจากวิกฤตการเงิน

การสูญเสียอำนาจการควบคุมของแบงก์ชาติจีนแม้ในช่วงสั้นๆ จึงนำมาซึ่งคำถามที่ว่า จริงหรือที่พวกธนาคารกลางนั้น “มีอำนาจไม่สิ้นสุด” อย่างที่เคยเชื่อกันมาพักหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น