รอยเตอร์ - “วิกฤตหนี้กรีซ” และ “ตลาดหุ้นจีนไหลรูด” สะท้อนให้เห็นว่า “ธนาคารกลาง” ไม่สามารถเยียวยาอาการป่วยไข้ทางเศรษฐกิจได้ทั้งหมด ซ้ำร้ายยังฟ้องถึง “การไร้อำนาจควบคุม” ซึ่ง “บีไอเอส” ระบุว่า เป็นหนึ่งในภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดของระบบการเงินโลก
วาทะ “จะทำทุกทาง” เพื่อปกป้องเงินยูโรของ มาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เมื่อสามปีที่แล้ว อธิบายได้อย่างชัดเจนที่สุดถึงการดำเนินการเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง ของธนาคารกลางที่มีอำนาจและรู้จักตัวเอง ซึ่งช่วยปลอบประโลมตลาดโลกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตภาคการเงินจนระบบการธนาคารและสินเชื่อพังครืนเป็นแถบ ๆ เมื่อ 8 ปีที่แล้ว
จากอเมริกาถึงยุโรปและเอเชีย ตลาดการเงินได้รับการประคบประหงมและปกป้องด้วยอำนาจไร้ขีดจำกัดของบรรดาธนาคารกลาง ผ่านการพิมพ์ธนบัตรใหม่เพื่อปัดเป่าผลกระทบเชิงระบบและภาวะเงินฝืด
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว ใช่ว่าธนาคารกลางจะสามารถปกป้องค่าเงิน หยุดยั้งภาวะถดถอย สร้างงาน กระตุ้นอัตราเงินเฟ้อ ฟื้นตลาดหุ้น ฯลฯ ได้เสมอไป
ดังกรณีของวิกฤตหนี้กรีซที่มีบางคนคาดการณ์ว่า หากกรีซเป็นประเทศแรกที่ต้องออกจากสหภาพสกุลเงินที่เคยประกาศไว้ว่า ไม่สามารถแตกแยกได้ จะทำให้วลีทองของดรากีถูกรื้อฟื้นมาทบทวนใหม่อีกครั้ง
แน่นอนว่า อีซีบีไม่ต้องการผลักไสเอเธนส์ออกจากยูโรโซน แต่การ “ทำทุกทาง” อาจไม่เพียงพอในการปกปักรักษาบูรณาภาพของระบบเงินตราสกุลเดียวที่ประกอบด้วยสมาชิก 19 ชาติได้อีกต่อไป หากอำนาจที่ได้รับมอบหมายกลับขัดขวางไม่ให้อีซีบีอัดฉีดสภาพคล่องฉุกเฉินแก่ระบบแบงก์กรีซอย่างไม่รู้จักจบสิ้น
ยิ่งถ้าเอเธนส์ยังตกลงกับเจ้าหนี้ไม่ได้ด้วยแล้ว อีซีบีคงไม่สามารถให้การสนับสนุนทางการเงินที่ละเมิดกฎของตัวเองได้เช่นเดียวกัน
กระนั้น อีซีบีจะยังคงยืนกรานว่า จะใช้อำนาจทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตหนี้กรีซลุกลามไปยังสมาชิกยูโรโซนชาติอื่นๆ แต่ปัญหาก็คือ ผลพวงจาก “เกร็กซิต” ไม่ได้มีแค่ด้านการเงินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลกระทบทางการเมืองภายในพวกประเทศที่ต้องอดทนแบกรับมาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งถือเป็นภาวะการลุกลามที่อยู่เหนือการควบคุมของอีซีบี
เช่นเดียวกัน ความสามารถของธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (พีเพิลส์ แบงก์ ออฟ ไชน่า หรือ พีบีโอซี) ธนาคารกลางแดนมังกร ในการบริหารแบบจุลภาคต่อเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก และตลาดหุ้นใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กำลังถูกท้าทายอย่างดุเดือด
หลังจากช่วยปลุกภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ ผ่านนโยบายผ่อนคลายด้านสินเชื่อในช่วงปีที่ผ่านมา มาตอนนี้ ทั้งพีบีโอซีและหน่วยงานผู้คุมกฎอีกหลายแห่งของรัฐบาล กำลังพยายามอย่างหนักเพื่อควบคุมการระเบิดอย่างปัจจุบันทันด่วนของฟองสบู่ ที่ภายในเวลาเพียง 3 สัปดาห์ได้ส่งผลให้ราคาหุ้นดิ่งลงถึง 30% คิดเป็นมูลค่าถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว
ที่น่าเป็นห่วงคือ หลังจากลดดอกเบี้ยและผ่อนคลายข้อกำหนดในการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ไปเมื่อปลายเดือนที่แล้ว แถมอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่บริษัทการเงินที่รัฐสนับสนุน แต่ตลาดกลับมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อมาตรการเหล่านี้เพียงผิว ๆ เท่านั้น
นอกจากนั้น จากข้อเท็จจริงที่ว่า 85% ของการซื้อขายหุ้นในจีนมาจากนักลงทุนรายย่อย สถานการณ์นี้จึงอาจส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในขณะที่อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอลงต่ำกว่า 7% เป็นครั้งแรกนับจากวิกฤตการเงิน
การสูญเสียอำนาจการควบคุมของแบงก์ชาติจีนแม้ในช่วงสั้น ๆ จึงนำมาซึ่งคำถามที่ว่า จริงหรือที่พวกธนาคารกลางนั้น “มีอำนาจไม่สิ้นสุด” อย่างที่เคยเชื่อกันมาพักหนึ่ง
สตีเฟน เจน จากกองทุนป้องกันความเสี่ยง เอสแอลเจ มาโคร พาร์ตเนอร์ส ชี้ว่า ถ้าพีบีโอซีไม่สามารถพยุงตลาดหุ้นได้ จะถือเป็นธนาคารกลางแห่งแรกที่ล้มเหลวในการพยายามชี้นำตลาดสินทรัพย์ที่อยู่ใต้การบริหารจัดการมีการกำหนดเป้าหมาย และนักลงทุนจะเริ่มสงสัยว่า ธนาคารกลางโดยทั่วไปอาจมาถึงจุดหักเหที่ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนลดลง
ก่อนหน้านี้ เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) ได้ออกมาเตือนว่า การสูญเสียอำนาจการควบคุมของธนาคารกลาง ที่หลายแห่งกำลังมีปัญหาขาดแคลนวิธีการในการจัดการภาวะตลาดทรุดหนักหรือเศรษฐกิจโลกชะลอตัวกะทันหันนั้น เป็นหนึ่งในภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดของระบบการเงินโลก
รายงานประจำปีที่ 85 ของบีไอเอส เสริมว่า นโยบายทางการเงินแบกภาระหนักและนานเกินไป และถึงเวลาแล้วที่จะหันมาปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจังเพื่อผ่อนเพลาภาระของนโยบายการเงินและรัฐบาลที่มีหนี้สินจำนวนมาก
ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารแห่งประเทศอังกฤษที่กังวลว่า อัตราดอกเบี้ยใกล้ 0% ซึ่งพวกเขาใช้มานานปี อาจจะไม่ได้เพียงแค่บิดเบือนการลงทุนเท่านั้น แต่ยังจะสร้างปัญหาสังคมจากการเพิ่มความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ดังนั้น พวกเขาจึงพากันส่งสัญญาณว่า จะขึ้นดอกเบี้ยอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
ทว่า หากปัญหาตลาดหุ้นจีนหรือหนี้กรีซลุกลาม กลายเป็นวิกฤตการเงินครั้งใหม่ที่เขย่าความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลก ธนาคารกลางของอเมริกาและของอังกฤษ ก็อาจยังไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างที่วางแผนไว้ ถึงแม้ขณะนี้จะเป็นช่วงขาขึ้นในตลาดการเงินที่ยาวนานที่สุดช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ก็ตาม