xs
xsm
sm
md
lg

กรีซตั้ง รมว.คลังใหม่สายพิราบโน้มน้าวเจ้าหนี้ แต่เยอรมนีดับฝันยันไม่เร่งตกลง-จ่อขยายเวลาปิดแบงก์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นาย ยานิส วารูฟากิส อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ(ซ้าย) แถลงส่งมอบตำแหน่งรัฐมนนตรีต่างประเทศแก่คนใหม่อย่างนายยูคลิด ซาคาโลตอส(ขวา) ด้วยกรีซตั้งผู้แทนเจรจาสูงสุดของโต๊ะหารืออียู-ไอเอ็มเอฟรายนี้ เป็นขุนคลังคนใหม่  ด้วยหวังช่วยลดทอนความไม่พอใจของผู้นำยูโรโซน
เอเอฟพี/รอยเตอร์/ASTV ผู้จัดการ - กรีซเมื่อวันจันทร์ (6 ก.ค.) ตั้งผู้แทนเจรจาสูงสุดของโต๊ะหารืออียู-ไอเอ็มเอฟที่ชะงักงัน ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังคนใหม่ของประเทศ ด้วยหวังช่วยลดทอนความไม่พอใจของผู้นำยูโรโซน หลังจากในวันอาทิตย์ (5) ชาวกรีกลงมติท่วมท้นคว่ำข้อเสนอเงินสดแลกมาตรการรัดเข็มขัดของเจ้าหนี้ระหว่างประเทศ ขณะที่พรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลออกคำแถลงสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลสำหรับเจรจาเจ้าหนี้เพื่อบรรลุข้อตกลงช่วยเหลือใหม่ แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกบอกปัดโดยทันทีจากเยอรมี เจ้าหนี้รายใหญ่ที่ยืนยันไม่มีข้อตกลงหนี้ใหม่เร็ววันนี้แน่

ทำเนียบประธานาธิบดีระบุในถ้อยแถลงว่า นายยูคลิด ซาคาโลตอส สาบานตนเข้ารับตำแหน่งตอนเวลา 17.00 จีเอ็มที (ตรงกับเมืองไทย 24.00 น.) ทั้งนี้ นายซาคาโลตอสคือหัวหน้าคณะเจรจาความช่วยเหลือกับเหล่าเจ้าหนี้ระหว่างประเทศและเป็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่พูดจานุ่มนวล

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นตามหลังการลาออกจากตำแหน่งก่อนหน้านี้ในวันเดียวกันของนาย ยานิส วารูฟากิส ที่ขยันสร้างความเดือดดาลให้เพื่อนชาติสมาชิกในยูโรโซน ด้วยสไตล์การเจรจาที่ไม่เดินไปตามกรอบตามแบบแผน ตลอดจนชอบเลกเชอร์ขู่ขวัญคนอื่นๆ รวมทั้งรณรงค์เรียกร้องให้ประชาชนชาวกรีกโหวต “โน” ในการลงประชามติวันอาทิตย์ (5) โดยกล่าวหาว่าพวกเจ้าหนี้ของกรีซเป็น “ผู้ก่อการร้าย”

นายซาคาโลตอส วัย 55 ปี เกิดที่รอตเตอร์ดัมและจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด เคยศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยเคนท์ในสหราชอาณาจักร ระหว่างปี 1990 ถึง 1993 ก่อนกลับไปใช้ชีวิตในเอเธนส์ ทั้งนี้เขากลายเป็นแกนหลักของกรีซในการเจรจากับอียูและไอเอ็มเอฟในเดือนเมษายน หลังจากนายวารูฟากิส สร้างความไม่พอใจระหว่างการติดต่อประสานงานกับเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศยูโรโซนคนอื่นๆ

การเสียสละของวารูฟากิส ทั้งๆ ที่ได้ให้สัญญาต่อชาวกรีกว่าเขาจะต่อรองเจรจาจนกระทั่งได้ข้อตกลงฉบับที่ดีขึ้นกว่าเดิม ภายในเวลาไม่กี่วันหลังจากการลงประชามติออกมาในทางที่เขาเรียกร้องอย่างท่วมท้น บ่งชี้ให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีซีปราสมีความมุ่งมั่นที่จะพยายามบรรลุการประนีประนอมในนาทีสุดท้ายกับพวกผู้นำยุโรป
ประชาชนชาวกรีซยังคงพากันแห่กันไปถอนเงิน แม้ว่าถูกจำกัดการถอนเงินแค่ 60 ยูโรต่อวัน เพราะไม่มั่นใจในสถานะของธนาคารหากรัฐบาลยังไม่สามารถเจรจาเพื่อต่อายุโครงการเงินช่วยเหลือของกลุ่มเจ้าหนี้ได้
อย่างไรก็ตามเยอรมนีในวันจันทร์ (6 ก.ค.) ปฏิเสธอย่างทันควัน ต่อความพยายามของกรีซที่จะบรรลุข้อตกลงหนี้ใหม่อย่างรวดเร็ว หลังประชาชนชาวกรีกโหวต "โน" ต่อมาตรการรัดเข็มขัดที่หนักหน่วงขึ้น แม้รัฐมนตรีคลังกรีซ สร้างความประหลาดใจด้วยการยอมลาออกจากตำแหน่งก็ตาม

การลาออกของเขามีขึ้น 1 วันหลังจากที่ผู้ออกเสียงชาวกรีก 61.31% โหวตไม่ยอมรับข้อเสนอของฝ่ายเจ้าหนี้ ขณะที่ผู้ลงคะแนนยอมรับมีเพียง 38.69% โดยที่มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 62.5% และทำให้เกิดกระแสความหวั่นกลัวเพิ่มสูงขึ้นมากว่า กรีซคงไม่แคล้วต้องออกไปจากยูโรโซน หรือที่นิยมเรียกขานกันว่า “เกร็กซิต” (Grexit)

กระนั้นก็ดี เบอร์ลินกล่าวว่า การลาออกของนายวารูฟากิส ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ใดๆ “มันไม่เกี่ยวกับคน แต่มันเป็นเรื่องของจุดยืนมากกว่า” สเตฟเฟ เซเบิร์ต โฆษกของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล กล่าว พร้อมระบุว่า ณ ปัจจุบันยังไม่มีพื้นฐานของการเข้าสู่โต๊ะเจรจาโครงการช่วยเหลือใหม่

“มันขึ้นอยู่กับกรีซแล้ว ว่าพวกเขาต้องการอยู่ในยูโรโซนหรือไม่” โฆษกผู้นำเยอรมนีกล่าว “เรากำลังรอดูว่ารัฐบาลกรีซจะมีข้อเสนอใดมายื่นแก่คู่หูสหภาพยุโรป” ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวรัฐบาลเอเธนส์ เผยว่านายอเล็กซิส ซีปราส นายกรัฐมนตรีกรีซและนางแมร์เคิล ได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์และเห็นพ้องกันว่ากรีซจะนำข้อเสนอต่างๆเหล่านั้นไปเสนอต่อที่ประชุมซัมมิทยูโรโซน ที่มีการเรียกประชุมด่วนในวันอังคาร (7 ก.ค.)

ท่าทีที่อึกอักของเบอร์ลิน ต่อการกลับมาเปิดเจรจากันอีกรอบ ย้ำให้เห็นความแตกแยกอย่างมากภายในยุโรปเกี่ยวกับวิกฤตหนี้กรีซ เนื่องจากอีกด้านหนึ่ง ฝรั่งเศส อิตาลีและสเปน มีจุดยืนที่ต้องการไกล่เกลี่ยมากกว่า

ความเคลื่อนไหวปรับเปลี่ยนตำแหน่งรัฐมนตรีคลังของกรีซ มีขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับที่พรรครัฐบาลและฝ่ายค้านของเอเธนส์ ออกคำแถลงร่วมในวันจันทร์ (6 ก.ค.) สนับสนุนความพยายามของรัฐบาลในการบรรลุข้อตกลงช่วยเหลือใหม่ของเจ้าหนี้ แสดงให้เห็นว่านายซีปราส ได้รับแรงสนับสนุนอย่างกว้างขวาง หลังมีชัยชนะในประชามติข้อเสนอมาตรการรัดเข็มขัดของเจ้าหนี้
พรรครัฐบาลและฝ่ายค้านของเอเธนส์ ออกคำแถลงร่วมในวันจันทร์(6ก.ค.) สนับสนุนความพยายามของรัฐบาลในการบรรลุข้อตกลงช่วยเหลือใหม่ของเจ้าหนี้ แสดงให้เห็นว่านายซีปราส ได้รับแรงสนับสนุนอย่างกว้างขวาง หลังมีชัยชนะในประชามติข้อเสนอมาตรการรัดเข็มขัดของเจ้าหนี้
เหล่าผู้นำบอกว่า พวกเขากำลังแสวงหาข้อตกลงกับเจ้าหนี้สหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทุนอย่างพอเพียง มาตรการปฏิรูปที่น่าเชื่อถือ แผนการเติบโต รวมถึงคำสัญญาเริ่มพิจารณาหารือถึงหนี้ก้อนมหาศาลของกรีซ พร้อมระบุว่าเป้าหมายลำดับแรกในตอนนี้คือทำให้ธนาคารกลับมาเปิดบริการอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างแหล่งข่าวแบงค์อย่างน้อย 4 แห่ง เผยในวันจันทร์ (6 ก.ค.) ว่าธนาคารต่างๆ ของกรีซจะปิดทำการต่อไปอย่างน้อยจนถึงวันศุกร์ (10 ก.ค.) ในขณะที่ประเทศแห่งนี้กำลังพยายามกลับมาเปิดเจรจาเงินช่วยเหลือกับเจ้าหนี้นานาชาติและปกป้องระบบการเงินของประเทศจากการพังครืน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เอเธนส์การประกาศใช้มาตรการควบคุมเงินทุน ให้ธนาคารต่างๆ ระงับการให้บริการ 1 สัปดาห์ และจำกัดการถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม หลังจากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ระงับการให้เงินทุนฉุกเฉินแก่ธนาคารในกรีซ ตามหลังการเจรจาระหว่างกรีซกับเจ้าหนี้ประสบกับความล้มเหลว

วิกฤตเลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก หลังผู้มีสิทธิออกเสียงชาวกรีซลงคะแนนปฏิเสธประชามติข้อเสนอเงื่อนไขแลกเงินช่วยเหลือของเจ้าหนี้ระหว่างประเทศ เพิ่มความเป็นไปได้ที่กรีซ เสี่ยงต้องออกจากยูโรโซน

ธนาคารกลางของกรีซประสบปัญหาในการทำให้ตู้ทีเอ็มมีเงินสดต่อความต้องการของประชาชนที่ยังคงพากันแห่กันไปถอนเงิน แม้ว่าถูกจำกัดการถอนเงินแค่ 60 ยูโรต่อวัน เพราะไม่มั่นใจในสถานะของธนาคารหากรัฐบาลกรีซยังไม่สามารถเจรจาเพื่อต่อายุโครงการเงินช่วยเหลือของกลุ่มเจ้าหนี้ได้

รอยเตอร์อ้างแห่งข่าวประธานสมาคมธนาคารกรีซ บอกว่าข้อกำหนดจำกัดการถอนเงิน 60 ยูโรต่อวันจะยังถูกบังคับใช้ต่อไป หลังจากคำสั่งเดิมมีกำหนดหมดอายุในวันจันทร์ (6 ก.ค.) และคาดหมายว่าจะมีการออกคำสั่งใหม่แทนของเดิม “วันหยุดธนาคารจะถูกขยายออกไปจนถึงวันศุกร์ (10 ก.ค.) หรือวันจันทร์หน้า (13 ก.ค.)”


กำลังโหลดความคิดเห็น