เอเจนซีส์ – หลังจากเฝ้ารอด้วยใจระทึกมาตลอดเกือบสัปดาห์ ในที่สุดประชาชนชาวกรีก รวมไปถึงนายกรัฐมนตรีกรีซ อเล็กซิส ซีปราสได้มีโอกาสเดินเข้าคูหาเพื่อหย่อนบัตรลงคะแนนเพื่อออกเสียงเห็นด้วยหรือคัดค้านการตอบรับเงื่อนไขข้อเสนอของเจ้าหนี้ต่างชาติ ซึ่งหากมีการออกเสียงลงคะแนน “เยส” หรือตอบรับ ส่งผลให้ซีปราสต้องลาออกจากคำมั่นที่ได้ให้ไว้ก่อนหน้านี้ ด้าน ยานิส วารูฟากิส รัฐมนตรีการคลังของกรีซออกมาแถลงข่าวปฎิเสธ 30% ของเงินในบัญชีธนาคารกรีซไม่มีทางหายเพื่อถูกใช้อุ้มระบบธนาคารกรีซ
หนังสือพิมพ์ซิดนีย์มอร์นิงเฮอรัลด์ สื่อออสเตรเลียรายงานวันนี้(5)ว่า คูหาการลงประชามติกรีซได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในความพยายามครั้งสุดท้ายที่จะกอบกู้วิกฤตหนี้สิน และการคงสถานภาพการคงอยู่สมาชิกภาพสหภาพยุโรป ตลอดไปจนถึงการใช้สกุลเงินยูโรต่อไป ซึ่งนั่นหมายความว่า ประชาชนกรีกส่วนใหญ่ต้องลงคะแนน “รับ” หรือ “เยส” ในการลงคะแนน ที่ตลอดทั้งสัปดาห์รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีกรีซเอียงซ้าย อเล็กซิส ซีปราสได้พยายามโน้มน้าวให้ชาวกรีกต่างออกไปใช้สิทธิ "โหวตโน" เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อเงื่อนไขมาตรการรัดเข็มขัดที่บรรดาเจ้าหนี้ต่างชาติต้องการให้กรีซทำเพื่อแลกรับความช่วยเหลือในส่วนที่เหลือ ซึ่งถือแม้ว่ากรีซตามกำหนดการแล้วได้ผิดการชำระหนี้กับสถาบันการเงินระหว่างประเทศ IMF ในวันอังคาร(30 มิถุนายน) ไปแล้วก็ตาม
โดยสื่อออสเตรเลียรายงานเพิ่มเติมว่า ผลประชามติครั้งนี้อาจเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่ว่า กรีซจะเป็นชาติแรกจากทั้งหมด 19 ประเทศที่ต้องออกจากเขตยูโรดซนหรือไม่ แต่ทั้งนี้ในผลการสำรวจล่าสุดพบว่า ประชาชนกรีกจำนวน 74% ยังคงต้องการอยู่ร่วมกับสหภาพยุโรปต่อไป มีเพียง 15% เท่านั้นที่ต้องการให้เอเธนส์กลับไปใช้สกุลเงินเก่าแดรชมาร์สกรีกต่อไปไป ในขณะที่อีก 11% ยังไม่สามารถตัดสินใจได้
บีบีซี สื่ออังกฤษรายงานเพิ่มเติมว่า คูหาเริ่มเปิดทำการตั้งแต่ 7.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น และคาดว่าผลการลงประชามติแรกที่จะปรากฏนั้นจะสามารถร้บรู้ได้ภายในช่วงค่ำ ซึ่งถึงแม้รัฐบาลกรีซจะออกมารณรงค์ให้ประชาชนโหวตโน แต่ทว่าฝ่ายค้านกรีซและผู่ที่ไม่เห็นด้วยเตือนว่า การโหวตโนจะทำให้กรีซถูกขับออกจากยูโรโซนในที่สุด
และสื่ออังกฤษยังรายงานเพิ่มเติมถึงคำถามในการลงคะแนนของประชาชนกรีก ที่มีรายงานว่านายกรัฐมนตรีกรีซได้เดินเข้าคูหาไปใช้สิทธิ์เสร็จสิ้นแล้ว
โดยในคำถามที่ยาวและซับซ้อนจำนวน 1 ข้อ อนุญาตให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนกาช่องออกความเห็น “รับ” หรือ “ปฎิเสธ” เท่านั้น ซึ่งในคำถามมีข้อความว่า “เห็นด้วยในข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยุโรป ธนาคารกลางยุโรป ECB และ IMF ที่ยื่นต่อกลุ่มยุโรปในวันที่ 25 มิถุนายน 2015 ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ส่วนอยู่ในข้อเสนอร่วมนี้ และตกลงรับ”
เป็นที่น่าสนใจว่า สกายนิวส์ สื่ออังกฤษได้รายงานว่า คำถามในการลงประชามติของกรีซนั้นทั้งซับซ้อนและยากที่จะคาดเดาได้ว่าต้องการสื่ออันใดกันแน่
ด้าน IMF ได้ออกแถลงการณ์ในวันพฤหัสบดี(2)เตือนว่า กรีซยังคงต้องเผชิญหน้ากับมรสุมทางการเงินขนาดมหึมาไม่ว่าผลลัพท์ทางเลือกที่ประชาชนกรีกได้ตัดสินจะออกมาในรูปใดก็ตาม และเอเธนส์ยังต้องการเม็ดเงินจำนวนมากถึง 50 ล้านยูโร และการปลดหนี้ครั้งใหญ่
ทั้งนี้สื่อออสเตรเลียระบุว่า หากปรากฏว่าเสียงประชามติส่วนใหญ่ออกเสียง “เยส” สนับสนุนให้เดินหน้ารับข้อเสนอของกลุ่มเจ้าหนี้ต่างชาติทรอยกาแล้ว ทั้งซีปราส และรัฐมนตรีการคลังกรีซ ยานิส วารูฟากิส ได้ลั่นวาจาว่า คนทั้งคู่จะยอมลาออก ซึ่งจะนำมาสู่ความยุ่งเหยิงทางการเมืองครั้งใหม่ของเอเธนส์ ที่จะต้องเลือกว่า ต้องทำให้รัฐบาลพรรคเนชันแนล ยูนิตีของกรีซกลับคืนสู่โต๊ะเจรจากับกลุ่มเจ้าหนี้ต่างชาติต่อ หรือจะประกาศการจัดเลือกตั้งทั่วไปก่อนเดือนกันยายนที่จะถึงนี้
และในการให้สัมภาษณ์ของวารูฟากิสในวันเสาร์(4) เขาได้เรียกกลุ่มเจ้าหนี้ต่างชาติว่า “เป็นการก่อการร้าย” โดยรัฐมนตรีการคลังกรีซกล่าวผ่านการสัมภาษณ์ของหนังสือพิมพ์สเปน El Mundo daily ว่า “ในสิ่งที่คนเหล่านั้นกำลังกระทำต่อกรีซนั้นถือเป็นการก่อการร้าย” และชายผู้นี้ยังกล่าวต่อไปอีกว่า “สิ่งที่ทางบรัสเซลส์และทางทรอยกาต้องการในวันนี้คือการเห็นผลโหวตเยส เพื่อต้องการหยามกรีซ”
นอกจากนี้ซิดนีย์มอร์นิงเฮอรัลด์ยังรายงานต่อว่า รัฐมนตรีการคลังของกรีซยังได้ออกมาแถลงข่าวปฎิเสธจากการนำเสนอของสื่อธุรกิจสหรัฐ ไฟแนนซ์เชียลไทม์ว่า ถือว่าเป็นความเสี่ยงของประชาชนกรีซที่ยังคงมีบัญชีเงินฝากอยู่ในระบบธนาคาร โดยบรรดาประชาชนกรีกต้องเสี่ยงสูญเงินในบัญชีถึง 30% ของเงินฝากทั้งหมดที่มีอยู่ในบัญชีเพื่อรักษาระบบธนาคารกรีซไว้ โดยวารูฟากิสประณามว่า “เป็นข่าวลือที่ไม่มูลความจริงโดยสิ้นเชิง”
โดยหนังสือพิมพ์ธุรกิจบริติช บิสซิเนส เดลี ได้อ้างคำพูดของแหล่งข่าวทางการเงินที่ใกล้ชิดการเจรจาหนี้กรีซระบุว่า เจ้าของบัญชีเงินฝากที่มีเงินมากกว่า 8,000 ยูโรในบัญชีอาจถูกบังคับให้ต้องรับการถูกแฮร์คัท หรือปรับลดจำนวนเงินในบัญชีลง
และนอกจากเงินในบัญชีธนาคารที่ทางสกายนิวส์ สื่ออังกฤษชี้ว่า ไม่แน่่ว่าเมื่อธนาคารเปิดทำการแล้ว กรีซจะยังคงมีเงินจำนวนเพียงพอสำหรับทุกบัญชีเงินฝากของประชาชนหรือไม่ ซึ่งเป็นที่แน่ชัดในเวลานี้ว่า "กรีซถังแตกแล้ว" ในส่วนมาตรการควบคุมเงินทุนของเอเธนส์ยังได้ส่งผลทำให้อาหารและยารักษาโรคขาดแคลนหนัก ซึ่งทำให้ประชาชนกรีกต้องหวาดผวาด้วยไม่ทราบว่าธนาคารทั่วประเทศจะเปิดทำการอีกครั้งได้เมื่อใด และทำให้ประชาชนโดยทั่วไปต่างกักตุนเงินสด และสิ่งของจำเป็นในชีวิตท่ามกลางความวิตกว่าระบบเศรษฐกิจของประเทศจะล่มนับจากนี้
และสำหรับร้านค้าต่างๆที่จำหน่ายอาหารและสินค้าในชีวิตประจำวันนั้นกลับมีชั้นวางขายที่ว่างเปล่า โดยสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ แป้งสาลี น้ำตาล เกลือ และพาสต้าเป็นสินค้ายอดฮิตที่ประชาชนกรีกทั่วไปต้องมีไว้ในความครอบครอง