xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.ยุโรปร้องกรีซโหวต YES เจ้าหนี้แบะท่าพร้อมเจรจาใหม่หลังประชามติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 ฌอง-โคลด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อวันจันทร์(29มิ.ย.) เรียกร้องชาวกรีซโหวต YES ในประชามติชี้ชะตารับข้อเสนอกู้ยืมหรือออกจากยูโร
เอเอฟพี - ฌอง-โคลด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อวันจันทร์(29มิ.ย.) เรียกร้องชาวกรีซโหวต “YES” ในประชามติชี้ชะตารับข้อเสนอกู้ยืมหรือออกจากยูโร ขณะที่คำสั่งปิดธนาคารของเอเธนส์ทำประชาชนตะเกียกตะกายควานหาเงินสด อย่างไรก็ตามพอมีสัญญาณแง่ดีเข้ามาบ้าง หลังเหล่าเจ้าหนี้อย่างเยอรมนี แบะท่าประนีประนอมพร้อมเปิดโต๊ะเจรจารอบใหม่ แต่ต้องหลังประชามติ ส่วนประธานยูโรกรุ๊ปก็เชื่อว่ายังมีหนทางที่จะหลีกเลี่ยง “Grexit” หรือกรีซต้องออกจากยูโรโซน

จุงเกอร์ กล่าวโจมตีตรงๆ ต่อนายอเล็กซิส ซีปราส นายกรัฐมนตรีของกรีซ โดยบอกว่าเขารู้สึกผิดหวังต่อพฤติกรรมของรัฐบาลซ้ายจัดเอเธนส์ พร้อมระบุถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลของนายซีปราสต้องบอกความจริงกับผู้มีสิทธิออกเสียง

กรีซ ซึ่งประกาศมาตรการควบคุมเงินทุนเมื่อวันอาทิตย์ (28 มิ.ย.) กำลังโงนเงนสู่การผิดนัดชำระหนี้ต่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในวันอังคาร (30 มิ.ย.) และเป็นไปได้ที่ต้องออกจากยูโรโซน หลังสร้างความตกตะลึงด้วยการล้มโต๊ะเจรจาหนี้กับเหล่าเจ้าหนี้ระหว่างประเทศเมื่อวันเสาร์ (27 มิ.ย.)

เมื่อยังไม่มีข้อตกลงปฏิรูปแลกความช่วยเหลือซึ่งจะปลดล็อกเงินกู้งวดสุดท้าย 7,200 ล้านยูโรที่ถูกแช่แข็งไว้ กรีซซึ่งนับตั้งแต่ปี 2010 ได้รับแพกเกจเงินกู้ช่วยไม่ให้ล้มละลาย 2 แพกเกจคิดเป็นมูลค่ารวม 240,000 ล้านดอลลาร์แล้ว ก็คงต้องผิดนัดชำระหนี้ ไม่มีเงินผ่อนจ่ายคืนเงินกู้ให้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เมื่อถึงกำหนดชำระในวันอังคาร (30 มิ.ย.)

“ผมจะบอกกับชาวกรีซ คนที่ผมที่รักอย่างสุดใจว่าคุณไม่ควรเลือกฆ่าตัวตายเพียงเพราะคุณกลัวความตาย” อดีตนายกรัฐมนตรีลักเซมเบิร์กล่าว พร้อมเรียกร้องชาวกรีซโหวต “เยส” ในการลงประชามติวันอาทิตย์ (5 ก.ค.) นี้ “การโหวตโนอาจหมายถึง กรีซปฏิเสธยุโรป” เขาแถลงต่อผู้สื่อข่าวในกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม
ชาวกรีซแห่ไปยังตู้เอทีเอ็มเพื่อถอนเงิน หลังรัฐบาลเอเธนส์ชุดปัจจุบันซึ่งเป็นพวกฝ่ายซ้ายประกาศจัดการลงประชามติในวันที่ 5 กรกฎาคมนี้ ว่ามหาชนชาวกรีกจะยอมรับหรือปฏิเสธผลลัพธ์การเจรจาข้อตกลงช่วยเหลือทางการเงินระหว่างเอเธนส์กับเจ้าหนี้นานาชาติกลุ่มทรอยกา
นายจุงเกอร์ แสดงความผิดหวังอย่างยิ่งต่อนายซีปราสวัย 40 ปี เนื่องด้วยในช่วงเวลา 5 เดือนแห่งการเจรจาหนี้ที่เต็มไปด้วยปัญหา ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปรายนี้เป็นพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดหรือบางครั้งก็เป็นพันธมิตรเพียงหนึ่งเดียวของกรีซ อย่างไรก็ตามเอเธนส์ ก็ตอบโต้กลับมาอย่างทันควัน โดยตั้งคำถามถึงความจริงใจของนายจุงเกอร์ในโต๊ะเจรจา

นายซีปราส สร้างความตกตะลึงแก่ยุโรปในช่วงกลางดึกวันศุกร์ (26 มิ.ย.) ด้วยประกาศจัดลงประชามติในวันที่ 5 กรกฎาคม ให้ชาวกรีซเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะสนับสนุนข้อตกลงช่วยเหลือของเจ้าหนี้หรือไม่ ซึ่งเหล่าผู้นำอียูบางคนมองว่าการโหวตครั้งนี้ ในความเป็นจริงก็เหมือนเป็นการตัดสินอนาคตของกรีซในยูโรโซน

นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เรียกร้องประนีประนอมด้วยเตือนว่าหากเงินยูโรล้ม ยุโรปก็จะล้มตามไปด้วย โดยเธอบอกว่าพร้อมเจรจารอบใหม่กับรัฐบาลกรีซ แต่การเจรจาใดๆ น่าจะมีขึ้นหลังการลงประชามติแล้ว

ส่วนนายเจอโรน ดิจเซลโบลม ประธานยูโรกรุ๊ป ยืนยันว่าประตูสำหรับกรีซยังเปิดอยู่ แม้ถูกล้มโต๊ะเจรจาเงินช่วยเหลือไปเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมเชื่อยังมีความเป็นไปได้ที่จะหลีกเลี่ยง “Grexit” หรือกรีซต้องออกจากยูโรโซน “ผมขอบอกอีกครั้งว่า สำหรับเราประตูยังคงเปิดอยู่ แม้ในขณะเดียวกันความเป็นไปได้และเวลาที่เหลือนั้นมีอย่างจำกัดอย่างยิ่ง”

ซีปราส ซึ่งพรรคซีรีซาของเขา ก้าวขึ้นสู่อำนาจในเดือนมกราคม ด้วยโนยายหาเสียงต้านมาตรการรัดเข็มขัด แนะนำให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงโหวตต่อต้านข้อตกลง โดยบอกว่ามันจะซ้ำเติมความทุกข์ทรมานแก่ประเทศที่ต้องอดทนกับภาวะถดถอย ความยุ่งเหยิงและตัวเลขคนว่างงานที่สูงลิ่วมานานกว่า 5 ปี

เหล่ารัฐมนตรีคลังยูโรโซนเมื่อวันเสาร์ (29 มิ.ย.) แสดงความโกรธเกรี้ยวต่อกรีซที่ปฏิเสธขยายข้อตกลงช่วยเหลือ ที่จะช่วยให้การเงินของเอเธนส์ยังอยู่ในภาวะลอยตัวเกินวันที่ 30 มิถุนายน และล่วงเลยไปจนถึงวันลงประชามติ

การตัดสินใจดังกล่าวกระตุ้นให้ชาวกรีซแห่ไปยังตู้เอทีเอ็มเพื่อถอนเงิน เพิ่มความตึงเครียดแก่ภาคธนาคารของประเทศที่แต่เดิมก็ง่อนแง่นอยู่ก่อนแล้ว และเพื่อหยุดการไหลออกของเงิน เอเธนส์จึงประกาศปิดธนาคารไปจนถึงวันที่ 6 กรกฎาคม ด้วยออกข้อกำหนดให้ประชาชนชาวกรีซสามารถถอนเงินได้เพียงวันละ 60 ยูโร (ราว 2,230 บาท) เท่านั้น ยกเว้นเพียงชาวต่างชาติที่ยังคงสามารถถอนเงินออกจากบัญชีได้ตามเกณฑ์การถอนเงินขั้นสูงสุด ตามที่ธนาคารแต่ละแห่งเป็นผู้กำหนด ขณะที่ตลาดหุ้นเอเธนส์ก็ปิดทำการไปจนถึงวันที่ 7 กรกฎาคม

อย่างไรก็ตาม มาตรการเข้มงวดนี้ที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องระบบธนาคารจากความตื่นตระหนกของประชาชน ก็ไม่อาจยับยั้งประชาชนชาวกรีซได้ โดยผู้คนยังคงรุดกันออกไปต่อแถวเพื่อถอนเงินตามเพนดานสูงสุดที่สามารถเบิกได้ในแต่ละวัน “ไม่มีเงิน ไม่มีความหวัง เราจะผ่านสถานการณ์แบบนี้ไปได้อย่างไร” คริส เบกัส หนุ่มว่างงานวัย 28 ปีคนหนึ่งบอกกับเอเอฟพีระหว่างที่กำลังกดเงินจากตู้เอทีเอ็ม

วิกฤตที่ลุกลามอย่างรวดเร็วนี้มีขึ้นหลังจากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้ออกคำแถลงภายหลังการประชุมฉุกเฉินทางโทรศัพท์ของสภาผู้ว่าการของธนาคาร โดยระบุว่า มีมติให้คงเพดานการจัดหาความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องฉุกเฉินให้แก่พวกธนาคารต่างๆ ของกรีซเอาไว้ในระดับที่ได้ให้ไปเมื่อวันศุกร์ (26 มิ.ย.) ที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีการอัดฉีดให้เม็ดเงินเพิ่มเติมให้อีก หลังจากที่ได้เพิ่มเพดานความช่วยเหลือดังกล่าวนี้มาแล้วหลายครั้ง ตลอดระยะเวลาหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น