รอยเตอร์ / เอพี / เอเอฟพี/เอเจนซีส์ /ASTV ผู้จัดการออนไลน์ – นายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซีปราส ผู้นำรัฐบาลฝ่ายซ้ายของกรีซสร้างความตกตะลึงไปทั่วยุโรปในวันอาทิตย์ ( 28 มิ.ย.) หลังออกมาประกาศมาตรการควบคุมเงินทุน และสั่งปิดทำการสถาบันการเงินทั่วประเทศ เพื่อรับมือกับ “วิกฤตแห่ถอนเงิน” ของประชาชนในประเทศที่รู้สึกกังวลต่ออนาคตของกรีซ หลังรัฐบาลเอเธนส์เลือกใช้การจัดลง “ประชามติ” เป็นทางออกว่าจะทำอย่างไรกับข้อตกลงทางการเงินกับเจ้าหนี้ต่างชาติ
นายกรัฐมนตรีหนุ่มวัยเพียง 40 ปีของกรีซซึ่งก้าวขึ้นครองอำนาจเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังนำกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้าย “ซีริซา” คว้าชัยในการเลือกตั้งเหนือฝ่ายอนุรักษ์นิยม ระบุถึงการตัดสินใจประกาศบังคับใช้ “ มาตรการควบคุมเงินทุน” มิให้ไหลออกจากระบบธนาคารของกรีซเพิ่มเติม รวมถึง คำสั่งปิดทำการธนาคารทั่วประเทศว่า เป็นผลจากการที่กรีซถูกบีบคั้นจนไม่เหลือ “ทางเลือกอื่น” จากบรรดาหุ้นส่วนในยุโรปและธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)
อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีของกรีซยืนยัน จะไม่ล้มเลิกแผนจัดลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ในวันอาทิตย์หน้า ( 5 ก.ค.) เพื่อชี้ชะตาอนาคตของประเทศที่ถูกมองว่า “กำลังนับถอยหลัง” ขยับเข้าใกล้การหลุดกระเด็นออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มยูโรโซนและการใช้เงินสกุลยูโร หรือปรากฏการณ์ “เกร็กซิต” (Grexit) ทุกขณะ
จนถึงขณะนี้ นายกรัฐมนตรีซีปราสยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดว่า จะสั่งปิดทำการธนาคารและสถาบันการเงินรูปแบบต่างๆในประเทศเป็นระยะเวลายาวนานมากน้อยเพียงใด ตลอดจนยังไม่มีการเปิดเผยถึงรายละเอียดใดๆ ของการบังคับใช้มาตรการควบคุมเงินทุนด้วยเช่นกัน
แหล่งข่าวทางการทูตในกรุงเอเธนส์ได้เปิดเผยว่า ทางคณะกรรมาธิการกำกับดูแลเสถียรภาพทางการเงินของกรีซเตรียมออก “ข้อแนะนำ” ให้รัฐบาลสั่งปิดทำการธนาคารนาน “6 วันทำการ” จนถึงวันจันทร์หน้า ( 6 ก.ค.)
นอกจากนั้น ทางคณะกรรมาธิการฯชุดดังกล่าวยังเสนอให้รัฐบาลเอเธนส์ออกข้อกำหนดให้ประชาชนชาวกรีกสามารถถอนเงินได้เพียง “วันละ 60 ยูโร” (ราว 2,230 บาท) เท่านั้น เมื่อธนาคารกลับมาเปิดทำการอีกครั้งในวันอังคารที่ 7 กรกฎาคม ยกเว้นเพียงชาวต่างชาติที่ยังคงสามารถถอนเงินออกจากบัญชีได้ตามเกณฑ์การถอนเงินขั้นสูงสุด ตามที่ธนาคารแต่ละแห่งเป็นผู้กำหนด
อย่างไรก็ดี มาตรการควบคุมเงินทุนมิให้ไหลออกจากระบบธนาคารของกรีซเพิ่มเติม รวมถึง คำสั่งปิดทำการธนาคารทั่วประเทศนี้ที่ประกาศโดยนายกรัฐมนตรีซีปราสยังจำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และต้องยื่นเสนอต่อประธานาธิบดีโปรโกปิส ปาฟโลปูโลส ที่เป็นประมุขสูงสุดของประเทศให้ลงนามบังคับใช้อย่างเป็นทางการต่อไป
ความเคลื่อนไหวล่าสุดเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่กรีซไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับเจ้าหนี้ระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้เงินมาชำระหนี้สินภายในกำหนดเส้นตายสิ้นเดือนนี้ แล้วยังตัดสินใจหันไปประกาศจัดลงประชามติว่า ประชาชนจะยอมรับเงื่อนไขเข้มงวดของฝ่ายเจ้าหนี้หรือไม่ ส่งผลให้ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังยูโรโซน หรือ “ยูโรกรุ๊ป” ตอบโต้ด้วยการลงมติไม่ต่ออายุแพ็กเกจช่วยเหลือปัจจุบันต่อกรีซที่กำลังจะสิ้นสุดอายุลงในวันที่ 30 มิถุนายนนี้
ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งมีฐานอยู่ที่นครแฟรงค์เฟิร์ตของเยอรมนี ได้ออกคำแถลงภายหลังการประชุมฉุกเฉินทางโทรศัพท์ของสภาผู้ว่าการของธนาคาร โดยระบุว่า มีมติให้คงเพดานการจัดหาความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องฉุกเฉินให้แก่พวกธนาคารต่างๆ ของกรีซเอาไว้ในระดับที่ได้ให้ไปเมื่อวันศุกร์ (26 มิ.ย.) ที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีการอัดฉีดให้เม็ดเงินเพิ่มเติมให้อีก หลังจากที่ได้เพิ่มเพดานความช่วยเหลือดังกล่าวนี้มาแล้วหลายครั้ง ตลอดระยะเวลาหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ยังคงมีความหวังกันว่า รัฐบาลฝ่ายซ้ายของกรีซจะสามารถตกลงประนีประนอมกับบรรดาเจ้าหนี้ได้ ในเรื่องแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการได้รับเงินกู้งวดสุดท้ายมูลค่า 7,200 ล้านยูโร (ราว 268,150 ล้านบาท) มาผ่อนชำระหนี้ให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คิดเป็นวงเงินกว่า 1,500 ล้านยูโร (ราว 55,865 ล้านบาท) ซึ่งถึงกำหนดชำระคืนในวันอังคาร (30) นี้
ทั้งนี้ ตลอดช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประชาชนมากมายเข้าแถวต่อคิวกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มทั่วประเทศกรีซ กระทั่งเงินสดหมดจากตู้เอทีเอ็มบางตู้หรือกระทั่งจากธนาคารบางแห่ง เนื่องจากผู้ฝากเงินต่างหวาดกลัวว่า ทางการอาจประกาศมาตรการควบคุมเงินทุน และปิดธนาคาร
โดยในวันอาทิตย์ ( 28) สตาฟรอส คูคอส ประธานสหภาพแรงงานภาคธนาคารของกรีซออกมายอมรับว่า นับเฉพาะคืนวันศุกร์ (26) มีผู้แห่ถอนเงินสดออกจากธนาคารต่างๆ ของกรีซไปประมาณ 1,300 ล้านยูโร (ราว 48,400 ล้านบาท) ขณะที่แหล่งข่าวในแวดวงธนาคารกรีซระบุ เวลานี้มีตู้เอทีเอ็มต่างๆ เพียง 40% เท่านั้นที่ยังมีเงินสดเหลืออยู่ในตู้