xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : ทั่วโลกเฝ้าลุ้น บทสรุปมหากาพย์หนี้กรีซจะอยู่หรือไปใน “ยูโรโซน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาวิกฤตหนี้สิน รวมถึงสถานะทางเศรษฐกิจที่ร่อแร่เจียนอยู่เจียนไปของ “กรีซ” อดีตดินแดนแห่งอารยธรรมที่ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นเสมือนศูนย์กลางของโลกใบนี้ ได้กลายเป็นข่าวเด่นประเด็นร้อนที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันด้วยความกังวลใจมากที่สุดข่าวหนึ่งในรอบกว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ โดยเฉพาะในแง่ของความเสียหายต่อตลาดเงิน-ตลาดทุนของประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงไทย

ตลอดระยะเวลากว่า 2 สัปดาห์มานี้ แทบไม่มีเรื่องดีๆ เกี่ยวกับกรีซให้สื่อมวลชนได้เขียนถึงกันมากนัก และเมื่อวันอังคารที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา “ที่สุดของข่าวร้าย” ก็ถาโถมเข้าโจมตีกรีซอีกจนได้ นั่นคือ ข่าวเศร้าที่กรีซมีอันต้องถูกจารึกชื่อเอาไว้ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลกว่า เป็นประเทศพัฒนาแล้วชาติแรกในประวัติศาสตร์ที่ “ผิดนัดชำระหนี้” ต่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หลังไม่สามารถจ่ายคืนหนี้สินจำนวน 1,500 ล้านยูโร (ราว 50,680 ล้านบาท) ที่ครบกำหนดชำระคืนไปเมื่อเวลา 05.00 น.ของวันพุธตามเวลาประเทศไทย

ที่ผ่านมา รัฐบาลฝ่ายซ้ายของกรีซภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซีปราสและกลุ่มการเมือง “ซีริซา” ได้พยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อทาบทามเหล่าเจ้าหนี้นานาชาติจนถึงในนาทีสุดท้าย เพื่อขอความช่วยเหลือทางการเงินในวันอังคาร (30 มิ.ย.) แต่มันก็ยังไม่เพียงพอที่จะปกป้องกรีซจากการกลายเป็นประเทศพัฒนาชาติแรกที่ต้องผิดนัดชำระหนี้ไอเอ็มเอฟนำมาซึ่งความโกลาหลทางการทูตและภาวะตื่นตระหนกตกใจของบรรดานักลงทุนทั้งรายใหญ่รายย่อยทั่วโลก ที่ต่างไม่คาดคิดว่าการเจรจารอบแล้วรอบเล่าระหว่างกรีซและเจ้าหนี้ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 5 เดือนจะจบลงแบบพังครืนไม่เป็นท่า และปราศจากข้อสรุปที่เป็นชิ้นเป็นอัน

ด้านหนังสือพิมพ์ “Süddeutsche Zeitung” ของพวกเสรีนิยมหัวก้าวหน้าและพวกกลุ่มการเมืองสายกลาง-ซ้ายซึ่งมีฐานอยู่ที่นครมิวนิคของเยอรมนี เปิดเผยข้อมูลซึ่งอ้างเอกสารลับของรัฐบาลเยอรมนี ที่ระบุว่า ในความเป็นจริงแล้ว ภาวะหนี้สินของกรีซนั้นสูงลิ่วกว่าที่หลายฝ่ายคาดคิดเอาไว้ถึงขั้นที่ว่าเมื่อถึงปี ค.ศ. 2030 ยอดหนี้สินของกรีซในเวลานั้นก็จะยังคงพุ่งสูงถึงระดับ 118 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเลยทีเดียว ถึงแม้ว่ากรีซจะยอมถอยด้วยการรับข้อเรียกร้องทั้งหมดของเจ้าหนี้ 3 ฝ่าย (ทรอยกา) ที่ประกอบด้วยสหภาพยุโรป (อียู), กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)

ในเวลานี้กรีซซึ่งต้องแบกรับตัวเลขหนี้สินที่มีสัดส่วนสูงถึง 175 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพีถูกมองว่า กำลังนับถอยหลังสู่การก้าวออกจากกลุ่มยูโรโซนหรือกลุ่ม 19 ประเทศในยุโรปที่ใช้เงินสกุลยูโรร่วมกัน แต่นั่นก็ถือเป็นผลโดยตรงจากความไร้วินัยทางการเงินการคลังของกรีซตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

ด้านผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดที่จัดทำและเผยแพร่ในกรีซเมื่อ 1 ก.ค. ระบุว่า ประชาชนชาวกรีกส่วนใหญ่จะโหวต “โน” ไม่เอาแผนปฏิรูปรับเงินช่วยเหลือจากองค์กรเจ้าหนี้ทรอยกาในการทำประชามติครั้งประวัติศาสตร์ ในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ (5 ก.ค.)

โดยผลสำรวจความคิดเห็นซึ่งจัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 มิ.ย. และเผยแพร่เมื่อ 1 ก.ค.ทางหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่งของกรีซ พบข้อมูลว่า ชาวกรีก 54 เปอร์เซ็นต์ ที่จะออกไปใช้สิทธิลงประชามติในวันอาทิตย์นี้ “ไม่เห็นด้วย” กับการยอมรับเงื่อนไขปฏิรูปที่พวกเจ้าหนี้เสนอมา ขณะที่อีก 33% คิดว่ากรีซควรกัดฟันยอมรับเงื่อนไขสุดโหดของเจ้าหนี้ เพื่อความอยู่รอด

อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจในช่วงก่อนและหลังจากที่รัฐบาลกรีซได้ประกาศใช้มาตรการควบคุมเงินทุน และปิดสถาบันการเงินทั่วประเทศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (28 มิ.ย.) พบว่า ช่องว่างระหว่างกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเริ่มจะ “ลดน้อยถอยลง” โดยกลุ่มตัวอย่างชาวกรีก 57 เปอร์เซ็นต์ ที่ตอบคำถามก่อนที่รัฐบาลเอเธนส์จะสั่งปิดธนาคาร ระบุว่าพวกเขาจะโหวต “โน” ในขณะที่ผู้โหวต “เยส” มีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

แต่หลังจากที่มีการสั่งปิดธนาคารและจำกัดการถอนเงิน กลุ่มที่จะโหวต “โน” ลดลงมาเหลือ 46 เปอร์เซ็นต์แต่พวกที่คิดจะโหวต “เยส” กลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 37 เปอร์เซ็นต์

แต่ถึงกระนั้น กระแสโหวต “โน” ยังถือว่าค่อนข้างมาแรงในกลุ่มพลเมืองกรีกที่ว่างงาน (62%) และในภาพรวมประชาชนทุกกลุ่มอาชีพก็ยังพบว่ามีผู้จะโหวต “โน” มากกว่า “เยส” ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ คนวัยเกษียณที่รับเงินบำนาญ พนักงานบริษัทเอกชน รวมถึงแม่บ้าน

ล่าสุดมีรายงานว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังยูโรโซน (ยูโรกรุ๊ป) ออกโรงเตือนว่าจะยอมเจรจาคำร้องขอเงินกู้ยืมใหม่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลประชามติในกรีซ 5 ก.ค.นี้ว่า ชาวกรีกจะยอมรับข้อตกลงช่วยเหลือตามเงื่อนไขของเจ้าหนี้ระหว่างประเทศ หรือไม่ เพราะหากชาวกรีกส่วนใหญ่โหวต “โน” ก็คงเป็นเรื่องที่ยากยิ่งที่ฝ่ายเจ้าหนี้จะช่วยเหลือกรีซต่อไป

แต่ในทางกลับกัน หากชาวกรีกโหวต “เยส” บรรดาเจ้าหนี้ก็จะได้ชัยชนะ และรัฐบาลฝ่ายซ้ายที่นำโดยนายอเล็กซิส ซีปราสก็จะต้องกระเด็นจากอำนาจ ซึ่งจะช่วยให้ฝ่ายเจ้าหนี้กลับมาเป็นผู้กุมอำนาจในการเจรจา และเป็นผู้กุมชะตากรรมของชาวกรีก 10.8 ล้านคนทั่วประเทศไว้ในกำมือ และคงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ชะตากรรมของประเทศที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวอย่างกรีซอาจมีความชัดเจนมากขึ้นหลังจากวันที่ 5 ก.ค.นี้ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดกันต่อไป







กำลังโหลดความคิดเห็น