xs
xsm
sm
md
lg

ประชามติ ชี้ชะตากรีซ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคมนี้ คนกรีกจะไปลงประชามติว่าจะยอมรับ (Yes) หรือ ไม่ยอมรับ (No) มาตรการรัดรัดเข็มขัด ตัดค่าใช้จ่ายด้านบำนาญ ขึ้นภาษี ที่คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ยื่นเป็นข้อแลกเปลียนกับเงินกู้ก้อนใหม่เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง

ถ้าเสียงส่วนใหญ่บอกว่า No เท่ากับว่า กรีซเลือกออกจากการเป็นประเทศสมาชิกยูโร กลับไปใช้เงินสกุล drachma ซึ่งเลิกใช้มา 13 ปีแล้ว ไม่มีใครรู้ว่าเงินสกุลดั้งเดิมนี้จะเป็นที่ยอมรับหรือไม่ จะมีค่าเท่าไร เป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับคนกรีก เพราะต้องนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ น้ำมันเชื้อเพลิงและยารักษาโรค

ถ้าเสียงข้างมาก บอกว่า Yes ก็แสดงว่าคนกรีกต้องการอยู่ในยูโรต่อไป แม้ว่าชีวิตจะต้องลำบากมากขึ้น

และถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการออกจากยูโร นายอเล็กซีส ซีปราส นายกรัฐมนตรีกรีซ ซึ่งเป็นผู้สั่งให้มีการลงประชามติและสนับสนุนให้ประชาชนลงมติไม่รับเงื่อนไขของกลุ่มยูโร ก็คงต้องลาออกจากตำแหน่ง

นายซีปราส ซึ่งเป็นนักการเมืองที่มีแนวความคิดแบบฝ่ายซ้าย ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง เมื่อต้นปีนี้ ด้วยนโยบายการหาเสียงที่ต่อต้านแผนการรัดเข็มขัดของอียู แต่ยังคงให้กรีซเป็นส่วนหนึ่งของยูโรต่อไป

การจัดให้มีการลงประชามติครั้งนี้ ถือว่าเป็นกลยุทธ์การเอาตัวรอดของนายซีปราสก็ได้ เพราะการเจรจากับอียูที่ผ่านมาสามเดือนประสบความล้มเหลว เนื่องจาก อียู เสนอเงื่อนไขลดค่าใช้จ่าย รัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจแลกกับเงินกู้ก้อนใหม่ ซึ่งขัดกับนโยบายที่นายซีปราสหาเสียงไว้ แต่ถ้าไม่ยอมรับ ยูโรก็จะไม่ให้เงิน

นายซีปราส เลยต้องโยนไปให้ประชาชนตัดสิน ฟังดูแล้วก็เป็นประชาธิปไตยดี แต่ความจริงคือ การผลักภาระความรับผิดชอบในการตัดสินใจไปให้ประชาชน การลงประชามติครั้งนี้ เกิดขึ้นกะทันหัน ก่อนที่จะถึงเส้นตายวันกำหนดชำระหนี้ไอเอ็มเอฟ และต่ออายุสัญญาเงินกู้รอบใหม่กับอียูเพียงสองสามวัน และเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้นำประเทศอียู โดยเฉพาะนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี แสดงท่าทีแข็งกร้าวว่าจะไม่ยอมอ่อนข้อให้กับกรีซอีกต่อไป

หลังประกาศให้มีการลงประชามติเพียงสองสามวัน นายซีปราส กลับมายื่นข้อเสนอให้อียู
ใหม่ แต่อียูไม่สน ขอให้เริ่มคุยกันหลังจากรู้ผลประชามติแล้ว

วิกฤติหนี้สิ้นของกรีซ เกิดขึ้นมา 5 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2010 ในครั้งนั้น คณะกรรมมาธิการยุโรป ธนาคารกลางยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ “สามประสาน” (Troika) จับมือกันอัดฉีดเงินกู้ จำนวน สองแสนกว่าล้านดอลลาร์ เพื่ออุ้มกรีซให้พ้นจากภาวะล้มละลาย เพราะหนี้สินล้นพ้นตัว โดยมีเงือนไขบีบบังคับให้กรีซต้องปฏิรูปเศรษฐกิจ ลดรายจ่าย ด้วยการตัดงบประมาณ สวัสดิการ เพิ่มรายได้ด้วยการขึ้นภาษี เปิดเสรีการลงทุน

เป็นยาแรงขนานเดียวกับที่ไอเอ็มเอฟ ใช้กับประเทศไทย แลกกับเงินกู้ประมาณ 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อตอนวิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อ 18 ปีก่อน

ประเทศไทยเอาตัวรอดได้ภายในเวลาเพียง 4 ปี แลกกับการ “สูญเสียเอกราชทางเศรษฐกิจ” แต่กรีซกลับอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่กว่าเดิม เพราะเงินที่ไอเอ็มเอฟ ธนาคารกลางยุโรป และอียูให้มานั้น ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ชำระหนี้คืนให้กับเจ้าหนี้ต่างประเทศ เหมือนที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ไม่ได้ถูกนำไปใช้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสักเท่าไร

ในขณะที่เงื่อนไขที่มาพร้อมกับเงินกู้ คือ มาตรการลดรายจ่ายรัฐบาล เพิ่มรายได้ด้วยการขึ้นภาษี ซ้ำเติมเศรษฐกิจให้ทรุดหนักลงกว่าเดิม ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจกรีซจะดีขึ้น ในปี 2012 ซึ่งผิด สิ่งที่เกิดขึ้นคือ 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจกรีซลดลงไปถึง 1 ใน 4 อัตราคนว่างงานสูงถึง 25 %

รัฐบาลกรีซเองมีส่วนรับผิดชอบในวิกฤติการณ์ที่ยืดเยื้อนี้ด้วย เพราะไม่ได้มีความตั้งใจ และไม่มีประสิทธิภาพที่จะทำการปฏิรูปเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ได้แต่ซื้อเวลาเรื่อยมา จนใกล้กำหนดเส้นตายที่จะต้องชำระหนี้คืนไอเอ็มเอฟจำนวน 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ประจวบกับ เงินช่วยเหลือสภาพคล่องจากอียูก้อนที่ 2 จะหมดอายุลงในวันเดียวกัน จึงต้องเจรจาขอเงินก้อนใหม่จากอียู เพื่อมาใช้หนี้ไอเอ็มเอฟและใช้จ่ายภายในประเทศ

การเจรจาที่ผ่านมา 3 เดือนไม่ได้ข้อสรุป เพราะรัฐบาลกรีซไม่ยอมรับเงื่อนไขของเจ้าหนี้ ที่ต้องการให้กรีซลดงบประมาณด้านสวัสดิการบำนาญ ให้ยืดการเกษียณอายุไปจนถึง 67 ปี และขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้คณะกรรมาธิการยุโรปไม่ให้เงินกู้ก้อนใหม่ กรีซจึงไม่มีเงินมาชำระหนี้ไอเอ็มเอฟ ต้องสั่งปิดธนาคารชั่วคราว จำกัดการถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มของประชาชน และควบคุมการนำเงินออกนอกประเทศ เพราะเงินหมดแล้ว

เมื่อปัญหาหนี้สินของกรีซเริ่มออกอาการในปี 2010 ตอนนั้นสหรัฐฯ กำลังเกิดวิกฤติซับไพรม์ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดการเงินโลก ในยุโรปเอง นอกจากกรีซแล้ว โปรตุเกส ไอร์แลนด์ และสเปน ก็มีปัญหาหนี้สิน ผู้นำของชาติใหญ่ๆ ในยูโรคือ เยอรมนีและฝรั่งเศส เกรงว่าหากกรีซล้มละลาย และต้องออกจากยูโร จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่จนคุมไม่อยู่ โดยเฉพาะผลกระทบต่อประเทศที่เป็นเจ้าหนี้ คือ เยอนมนีเอง รวมถึงเจ้าหนี้ภาคเอกชน จึงยื่นมือมาช่วยเหลืออย่างเต็มที่

ในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา ที่กรีซไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ กลุ่มสมาชิกยูโรโดยรวมมีความเข้มแข็งขึ้น ประเทศลูกหนี้อย่างโปรตุเกส ไอร์แลนด์ และสเปน มีความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหา ธนาคารกลางยุโรปมีโครงการรับซิ้อพันธบัตรจากรัฐบาลของประเทศสมาชิกยูโร ทำให้รัฐบาลในแต่ละประเทศ ไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง หากจะต้องรับมือกับความผันผวนในตลาด ในขณะที่เจ้าหนี้กรีซที่เป็นสถาบันการเงิน และนักลงทุน ได้ขายหนี้และเงินลงทุนในกรีซออกไปเป็นส่วนใหญ่แล้วตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์เมื่อ 5 ปีก่อน

กลุ่มผู้นำของประเทศยูโร มั่นใจว่า หากกรีซต้องออกจากยูโรไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะถูกควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้ จึงตัดสินใจเล่นไม้แข็ง ไม่ลดราวาศอกให้กับกรีซอีกต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น