เอเจนซีส์ - นายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซีปราส ของกรีซ ส่งสารถึงเจ้าหนี้ระหว่างประเทศในคืนวันอังคาร (30 มิ.ย.) ระบุเอเธนส์จะยอมรับข้อเสนอสุดท้ายซึ่งพวกเจ้าหนี้ยื่นให้เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หากจะมีการเปลี่ยนเงื่อนไขบางประการ อย่างไรก็ตาม ท่าทีอ่อนข้อลงหลังจากที่กรีซกลายเป็นชาติพัฒนาแล้วชาติแรกซึ่งผิดนัดชำระหนี้ไอเอ็มเอฟไปแล้วนี้ ได้รับการต้อนรับในเชิงลบ โดยที่เยอรมนีซึ่งเป็นถุงเงินใหญ่ของยุโรป บอกว่าไม่สามารถที่จะเจรจาต่อรองด้วยได้ ในขณะที่กรีซยังคงเดินหน้าจัดการประชามติจะยอมรับข้อเสนอของเจ้าหนี้หรือไม่ ในวันอาทิตย์ (5 ก.ค.) ที่จะถึงนี้
ในสารของผู้นำที่เป็นฝ่ายซ้ายจัดของกรีซผู้นี้บอกว่า เพื่อแลกเปลี่ยนกับการยอมรับข้อเสนออย่างมีเงื่อนไขดังกล่าว จะขอให้ฝ่ายเจ้าหนี้อนุมัติเงินกู้ก้อนใหม่ 29,100 ล้านยูโร ซึ่งเพียงพอสำหรับให้กรีซนำไปจ่ายเงินกู้และดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระในช่วง 2 ปีข้างหน้า นอกจากนั้นยังจะขอให้มีการปรับโครงสร้างหนี้เดิมด้วย ทั้งนี้ท่าทีเช่นนี้ของซีปราส เท่ากับเปลี่ยนพลิกไปจากที่เขาได้เรียกร้องให้ชาวกรีกโหวต “ไม่เอา” ในการลงประชามติข้อเสนอปฏิรูปเศรษฐกิจแลกเงินกู้ของฝ่ายเจ้าหนี้
ถึงแม้สารของซีปราสลงวันที่ 30 มิ.ย. แต่ก็ส่งมาถึงหลังจากที่พวกรัฐมนตรีคลังยูโรโซน หรือที่เรียกกันว่า “ยูโรกรุ๊ป” ได้ยุติการประชุมทางโทรศัพท์ในคืนวันนั้นของพวกเขาไปแล้ว เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป (อียู) ผู้หนึ่งบอกว่า ได้รับสารฉบับนี้ในเวลาประมาณเที่ยงคืน อันเป็นเวลาหลังจากกรีซมีฐานะกลายเป็นชาติพัฒนาแล้วชาติแรกของโลกซึ่งผิดนัดชำระหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) รวมทั้งแพกเกจเงินกู้ฉบับท้ายสุดที่เจ้าหนี้ระหว่างประเทศได้อนุมัติให้แก่กรีซซึ่งยังเหลือเงินงวดสุดท้ายค้างคาอยู่อีก 1 งวด ก็เป็นอันหมดอายุลงด้วย
อย่างไรก็ตาม ยูโรกรุ๊ปได้ตกลงที่จะหารือกันอีกครั้งในวันพุธ (1) เวลา 15.30 น. ตามเวลาจีเอ็มที (ตรงกับ 22.30 น. ของไทย) โดยที่มีรายงานว่า ฌอง-โคลด จุงเกอร์ ประธานของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (อียู) เป็นตัวตั้งตัวตีผลักดัน โดยถือเป็นความพยายามครั้งสุดท้ายเพื่อให้เกิดข้อตกลงระหว่างฝ่ายเจ้าหนี้กับรัฐบาลกรีซ เป็นการป้องกันไม่ให้ระบบเศรษฐกิจกรีซล่มจมและต้องออกจากยูโรโซน
เช่นเดียวกับ มิเชล ซาแปง รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่แสดงความเห็นอกเห็นใจเอเธนส์มากที่สุด โดยเขาบอกว่า เป้าหมายขณะนี้คือการบรรลุข้อตกลงก่อนการทำประชามติในวันอาทิตย์
ทว่าปฏิกิริยาจากเยอรมนี ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปนั้น กลับออกมาในทางลบ นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล กล่าวในวันพุธ (1) ว่า กรีซไม่ได้ทำตามพันธะข้อผูกพันของตน ถึงแม้เธอไม่คัดค้านว่าไม่ควรทำการเจรจาต่อไป แต่ก็ระบุว่าคงเริ่มการพูดคุยในเรื่องแผนการช่วยเหลือเอเธนส์ต่อไปไม่ได้ ในขณะที่กรีซยังคงเดินหน้าจัดการลงประชามติเช่นนี้
ขณะที่ รัฐมนตรีคลัง โวล์ฟกัง ชอยเบิล ของแดนดอยซ์ ก็พูดแบบดับความหวังใดๆ ที่จะมีการผ่าทางตันกันได้โดยรวดเร็ว โดยเขากล่าวว่า สารของซีปราสนั้นมาถึงช้าเกินไป แถมยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดเจนว่ากรีซจะเอาอย่างไรกันแน่ ทั้งนี้เขาย้ำว่า สารฉบับนี้ไม่ได้ทำให้มองเห็นจุดยืนของเอเธนส์ชัดเจนขึ้นเลย และดังนั้นจึง “ไม่มีพื้นฐานใดๆ” ที่จะดำเนินการเจรจาอย่างจริงจังกับกรีซในขณะนี้
ในอีกด้านหนึ่ง คณะมนตรีบริหารของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ก็นัดประชุมที่แฟรงก์เฟิร์ตในวันพุธเช่นเดียวกัน เพื่อตัดสินใจว่า จะคง เพิ่ม หรือระงับการปล่อยกู้ฉุกเฉิน ที่ก่อนหน้าช่วยต่อลมหายใจให้ธนาคารพาณิชย์กรีซท่ามกลางกระแสผู้ฝากแห่ถอนเงิน
ปัจจุบัน แบงก์กรีซอยู่ระหว่างการปิดให้บริการนาน 1 สัปดาห์ รวมทั้งจำกัดการถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มได้เพียงวันละ 60 ยูโร หลังจากอีซีบีปฏิเสธคำขอเพิ่มสภาพคล่องเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
นอกจากบุนเดสแบงก์ หรือธนาคารกลางเยอรมนี ที่ออกมาประกาศว่า อีซีบีไม่สามารถอัดฉีดเงินให้กรีซต่อได้แล้ว รัฐมนตรีคลังชอยเบิล ยังแจ้งกับรัฐสภาเยอรมนีว่า จะแนะนำอีซีบีไม่ให้เพิ่มสภาพคล่องแก่พวกธนาคารกรีซเช่นกัน
ในด้านอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนชาวกรีกนั้น ตอนค่ำวันอังคาร(30) ชาวกรีกราว 20,000 คน ออกมาชุมนุมที่จัตุรัสซินแท็กมาหน้ารัฐสภา เรียกร้องให้ลงมติสนับสนุนข้อตกลงหนี้ในวันอาทิตย์ โดยก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน กลุ่มเชิญชวนโหวตคัดค้านเพิ่งออกมาแสดงพลังในจำนวนใกล้เคียงกัน
ขณะเดียวกัน ผลสำรวจจากสถาบัน “โปรราตา” ที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ (1) พบว่า ชาวกรีก 54% ที่มีแผนออกไปลงประชามติในวันอาทิตย์จะลงคะแนนคัดค้านข้อตกลงหนี้ และ 33% จะกาว่าสนับสนุน
อย่างไรก็ดี ส่วนต่างของผู้ที่เห็นด้วยและคัดค้านข้อตกลงนี้ลดแคบลงอย่างชัดเจน กล่าวคือเมื่อสัปดาห์ที่แล้วยังมีคนถึง 57% บอกว่า จะโหวตคัดค้าน ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนมีเพียง 30% แต่หลังจากกรีซประกาศปิดแบงก์หนึ่งสัปดาห์ ผู้ที่โหวตคัดค้านลดลง และผู้ที่โหวตสนับสนุนเพิ่มขึ้น
ทางด้านอเมริกากล่าวว่า กำลังจับตาสถานการณ์ของกรีซอย่างใกล้ชิด และเรียกร้องให้มีการเปิดเจรจาใหม่ภายใต้เงื่อนไขของหนี้ที่สามารถชำระได้ ซึ่งบ่งชี้ว่า วอชิงตันสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ให้เอเธนส์