xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เตรียมชง คสช.ทำรถไฟฟ้าไปสะพานใหม่แทน รฟม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ตนได้มอบหมายให้สำนักการจราจร และขนส่ง (สจส.) กทม. ไปรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายหมอชิต -สะพานใหม่ ระยะทาง 8 กิโลเมตร เพื่อเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาอนุมัติให้กทม.กลับมาเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง และบริหารจัดการโครงการดังกล่าว ซึ่งเดิมเมื่อปี 2544 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เคยอนุมัติให้ กทม. ดำเนินการก่อสร้าง และบริหารจัดการ แต่ต่อมาเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลโครงการถูกโอนไปให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการก่อสร้าง มาถึงสมัยรัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้อนุมัติให้ กทม.เป็นผู้บริหารจัดการ สุดท้ายเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลอีกครั้ง ครม.ได้อนุมัติให้ รฟม.เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด ทั้งการก่อสร้างและบริหารจัดการโดยขยายเส้นทางไปจนถึง อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี แต่จนถึงขณะนี้แนวทางการก่อสร้างยังไม่มีความชัดเจนว่า จะเชื่อมสถานีจากสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ(บีทีเอส) หรือจะเชื่อมจากสถานีรถไฟฟ้ามหานคร (ใต้ดิน) ที่สถานีพหลโยธิน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กทม.ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถดำเนินการได้รวดเร็ว และเสร็จตามเวลาที่กำหนดทั้งในส่วนต่อขยายอ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า กทม.จึงต้องการให้ คสช.พิจารณาอีกครั้ง หาก คสช.อนุมัติให้ กทม. ดำเนินการคาดว่า จะสามารถก่อสร้างให้เสร็จได้ภายใน 3 ปี ซึ่งที่ผ่านมา กทม.เคยศึกษาแนวทางในการก่อสร้างไว้แล้ว แต่ถ้ากทม.ได้กลับมาดำเนินโครงการนี้ยินดีที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายที่ รฟม.ได้ลงทุนไปแล้ว และพร้อมที่จะนำแนวทางที่ รฟม.ได้วางไว้มาใช้ด้วย
นอกจากนี้ หากประชาชนและ คสช.ยังต้องการให้ขยายเส้นทางไปจนถึง อ.ลำลูกกา กทม.พร้อมพิจารณา ซึ่งคาดว่าน่าจะก่อสร้างได้จนถึงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ สำหรับงบประมาณในการดำเนินการทั้งหมดประมาณ 8,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้างประมาณ 7,000 ล้านบาท และค่ารื้อย้ายสาธารณูปโภคประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยในการก่อสร้างนั้น ไม่จำเป็นต้องสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอีก เนื่องจากมีอยู่แล้วที่หมอชิตสำหรับโครงการขนมวลชนขนาดเบา(โมโนเรล )ดินแดง - ซอยโยธี ที่ กทม.เคยขออนุมัติเส้นทางจากรัฐบาลชุดเก่าไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ จึงอาจจะต้องขออนุมัติไปอีกครั้งเนื่องจากเป็นโครงการที่จำเป็นในการรองรับการย้ายศาลาว่าการ กทม.ไปที่ดินแดง เพื่อการแก้ไขปัญหาการจราจรในบริเวณดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น