xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มจี7แถลงกดดัน‘รัสเซีย’ให้ยุติจัดลงประชามติในไครเมีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมสำคัญของโลก (จี7) ซึ่งก็คือประเทศสำคัญๆ ทั้งหมดของโลกตะวันตก ร่วมกันออกคำแถลงในวันพุธ (12 มี.ค.) ระบุว่าการจัดลงประชามติในแหลมไครเมียที่กำลังจะมีขึ้นวันอาทิตย์(16) นี้ เพื่อให้รัสเซียเข้าปกครองดินแดนของยูเครนแห่งนี้ “จะไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ” พร้อมกับเรียกร้องให้มอสโกยุติเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นก็จะเผชิญกับ “การปฏิบัติการ” อย่างไรก็ตาม ยังแทบไม่มีสัญญาณใดๆ เลยว่าแรงกดดันของฝ่ายตะวันตกเช่นนี้จะหยุดยั้งวังเครมลินลงได้

เหล่าผู้นำของกลุ่ม จี7 กล่าวในคำแถลงว่า พวกเขาจะไม่ยอมรับผลของการลงประชามติเรื่องผนวกรวมไครเมียเข้ากับรัสเซียคราวนี้ ซึ่งพวกเขาเห็นว่า “จะไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ” พร้อมกับระบุว่า มันไม่มี “พลังทางศีลธรรม” รองรับ เนื่องจากเวลานี้มีทหารรัสเซียอยู่ในดินแดนปกครองตนเองของยูเครนแห่งนี้เต็มไปหมด

ความพยายามของรัสเซียในการผนวกไครเมีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่อยู่ทางตอนใต้ของยูเครน และเป็นฐานบัญชาการของกองทัพเรือภาคทะเลดำของรัสเซีย จะเป็นการละเมิดข้อตกลงทวิภาคีและข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ รวม 5 ฉบับ โดยฉบับหนึ่งก็คือกฎบัตรสหประชาชาติ เหล่าผู้นำจี7 ระบุในคำแถลงซึ่งเผยแพร่โดยทำเนียบขาว

“ถ้าหากสหพันธรัฐรัสเซียยังคงดำเนินจังหวะก้าวเช่นนี้แล้ว เราก็จะดำเนินการปฏิบัติการเพิ่มมากขึ้นอีก ทั้งที่กระทำโดยลำพังและทั้งโดยรวมหมู่กัน” คำแถลงของจี7 บอก

ผู้นำชาติสำคัญของโลกตะวันตกเหล่านี้ ยังเรียกร้องรัสเซียให้ถอนกองกำลังอาวุธของตนออกจากไครเมีย, เริ่มต้นเจรจากับรัฐบาลรักษาการของยูเครน, และยินยอมให้ผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในเขตนี้

กลุ่มจี7 นั้นประกอบไปด้วย สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, แคนาดา, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, และอิตาลี รวมทั้งสภายุโรปและคณะกรรมาธิการยุโรป นอกจากนั้นตั้งแต่ปี 1998 จี7 ได้รวมเอารัสเซียเข้าไปด้วย เพื่อก่อตั้งขึ้นเป็นกลุ่มจี8

รัสเซียมีกำหนดที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับผู้นำของกลุ่มจี8 ครั้งต่อไปที่เมืองโซชิ ในเดือนมิถุนายนนี้ ทว่าพวกผู้นำของจี7ได้ประกาศระงับการเข้าร่วมพบปะคราวนี้แล้ว สืบเนื่องจากวิกฤตในยูเครน

ในคำแถลงล่าสุดฉบับนี้ ผู้นำกลุ่มจี7 ก็ย้ำว่า จะยังคงระงับไม่เข้าร่วมในกิจกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับการประชุมซัมมิตจี8 ที่โซชิ จนกว่ารัสเซียจะเปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินในประเด็นเรื่องยูเครน
กำลังโหลดความคิดเห็น