เอเจนซีส์ - ยูเครนออกคำสั่งในวันจันทร์ (24 มี.ค.) ถอนกำลังทหารทั้งหมดของตนออกจากแหลมไครเมียแล้ว ภายหลังที่กองทหารรัสเซียยังคงบุกยึดฐานทัพที่เหลืออยู่ในดินแดนซึ่งมอสโกประกาศรวมเข้ากับแดนหมีขาวแล้วนี้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐฯ เดินทางถึงยุโรป ซึ่งเขานัดแนะผู้นำอีก 6 ชาติของโลกตะวันตกในกลุ่ม จี7 หารือฉุกเฉินที่กรุงเฮก เพื่อพูดคุยถึงวิธีตอบโต้และปรามรัสเซียไม่ให้รุกคืบเพิ่มเติม
โอเล็กซานเดอร์ ตูร์ชินอฟ ประธานาธิบดีรักษาการของยูเครน แถลงในวันจันทร์ว่า กระทรวงกลาโหมได้ออกคำสั่งให้ถอนทหารยูเครนทั้งหมดจากเขตปกครองตนเองไครเมียในทะเลดำกลับสู่แผ่นดินใหญ่
ข่าวนี้ได้รับการยืนยันจากรัสตัม เตมีร์กาลิเยฟ รองนายกรัฐมนตรีอันดับ 1 ของเขตไครเมีย ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนมอสโก ที่ระบุว่า ทหารยูเครนทั้งหมดที่ไม่ได้แปรพักตร์มาอยู่กับรัสเซีย กำลังถอนไปจากไครเมียแล้ว
ก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน กองทหารรัสเซียได้ส่งกำลังพลร่มและยานยนต์หุ้มเกราะบุกยึดฐานทัพเรือของยูเครนในเมืองฟิโอโดเซีย ที่อยู่บนแหลมไครเมีย และจับทหาร 2 นายที่ได้รับบาดเจ็บขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไป
โดยที่ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทหารรัสเซียยังบุกยึดฐานทัพอากาศยูเครนในเบลเบ็ก ใกล้กับเมืองเซวาสโตโปล และควบคุมตัวผู้บัญชาการฐานทัพเอาไว้
ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลในกรุงเคียฟที่ที่สนับสนุนตะวันตกถูกวิจารณ์ว่า ไม่ยอมตัดสินใจเด็ดขาดเกี่ยวกับกองทหารยูเครนในไครเมียที่ถูกทหารรัสเซียปิดล้อมนานหลายสัปดาห์
มอสโกนั้นประกาศผนวกไครเมียเสร็จสมบูรณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ภายหลังมีการจัดลงประชามติประชาชนที่นั่น ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ท่วมท้นเห็นดีเห็นชอบกับเรื่องนี้ ทั้งนี้ไครเมียอยู่ใต้การปกครองของรัสเซียมาหลายร้อยปี และประชากรส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็เป็นผู้พูดภาษารัสเซีย ก่อนที่จะถูกโอนไปอยู่กับยูเครนเมื่อ 60 ปีก่อน
หลังจากรัสเซียเดินหน้าผนวกไครเมีย โดยไม่ฟังเสียงข่มขู่ทัดทานของฝ่ายตะวันตก ทั้งสหรัฐฯและสหภาพยุโรป (อียู) ก็ประกาศมาตรการลงโทษแดนหมีขาว ซึ่งมุ่งเล่นงานบุคคลจำนวนหนึ่งในรัสเซียและยูเครน ที่ถูกกล่าวหาว่ามีบทบาทสำคัญความเคลื่อนไหวผนวกดินแดนคราวนี้ ทว่ามาตรการเหล่านี้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการแซงก์ชันที่อ่อนยวบยาบ โอบามาของสหรัฐฯ จึงใช้โอกาสที่ผู้นำหลายสิบชาติของโลกนัดประชุมซัมมิตนิวเคลียร์ที่กรุงเฮกในวันจันทร์และอังคาร (24-25) นี้ นัดแนะประชุมซัมมิตฉุกเฉินกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมของโลก (จี7) ไปด้วย เพื่อหารือแนวทางเพิ่มเติมในการจัดการกับรัสเซีย
ถึงแม้รัสเซียแถลงว่าตนเองไม่ได้ต้องการผนวกดินแดนอื่นๆ ของยูเครนอีก แต่ทั้งรัฐบาลรักษาการในกรุงเคียฟ และชาติตะวันตกต่างยังคงแสดงความระแวง และโหมประโคมเรื่องที่มีทหารรัสเซียจำนวนมากประชิดชายแดนยูเครน เช่นเดียวกับพวกชาติที่เคยเป็นอดีตสาธารณรัฐในสหภาพโซเวียตหรืออยู่ใต้อิทธิพลของโซเวียต ก็แสดงความกังวลกับความมั่นคงของตนเอง และร้องโวยวายว่ารัสเซียกำลังทำตัวเป็นนักลัทธิขยายดินแดน
ในวันจันทร์ เซียร์เกย์ เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ก็มีนัดเจรจานอกรอบกับจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่า จะเป็นการหารือที่ดุเดือดที่สุดของทั้งคู่ และเป็นการพบกันครั้งแรกนับจากวอชิงตันประกาศมาตรลงโทษซึ่งอ้างว่าเป็นการเล่นงานทางการเงินต่อสมาชิกทรงอิทธิพลที่สุดที่แวดล้อมประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย
ก่อนหน้านี้ เคร์รี เตือนว่า รัสเซียเสี่ยงถูกขับออกจาก จี8 จากการบุกไครเมีย ทั้งนี้ จี8 ก็คือ จี7 บวกด้วยรัสเซียอีกชาติหนึ่ง
เมื่อไม่กี่วันมาก่อน นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ของอังกฤษย้ำว่า ผู้นำแคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น และอเมริกา ต้องหารือเรื่องการขับรัสเซียออกจาก จี8 อย่างเป็นการถาวร
ย้อนกลับไปสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี แสดงความเห็นว่า สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ไม่เอื้อให้มี จี8 ถึงแม้ แฟรงก์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ รัฐมนตรีต่างประเทศเมืองเบียร์ ออกมาแก้ข่าวในภายหลังว่า แมร์เคิลหมายความเพียงแค่การจัดประชุมซัมมิตจี8 ในปีนี้ ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นที่เมืองโซชิ ของรัสเซียเท่านั้นก็ตาม
ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดนี้ โอบามาได้เน้นย้ำพันธสัญญาของนาโตในการป้องกันร่วมกัน พร้อมให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เนเธอร์แลนด์ว่า ไม่ควรมีใครเคลือบแคลงในความมุ่งมั่นของอเมริกาที่มีต่อความมั่นคงของยุโรป และย้ำว่า นาโตเป็นกลุ่มพันธมิตรที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
ผู้นำสหรัฐฯยอมรับว่า การลงโทษต่อเศรษฐกิจรัสเซียอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกด้วย กระนั้น หากรัสเซียยังคงทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง วอชิงตันก็เห็นจำเป็นต้องเตรียมพร้อมเพิ่มบทลงโทษเพื่อให้มอสโกรู้สำนึก