xs
xsm
sm
md
lg

‘ยูเครน’ระดมกองหนุนรับทัพ‘รัสเซีย’ ‘ปูติน’ไม่ฟังแม้‘โอบามา’ทัดทานแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สนับสนุนนิยมมอสโกโบกธงชาติรัสเซีย อยู่ที่ด้านหน้าของกลุ่มติดอาวุธโปรมอสโกซึ่งสวมชุดลายพรางของทหาร และกำลังพยายามขัดขวางความเคลื่อนไหวภายในค่ายกองกำลังรักษาชายแดนยูเครน เมื่อวันเสาร์ (1)  ณ เมืองบาลาคลาวา ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองเซวาสโตโปล ที่ตั้งฐานทัพเรือภาคทะเลดำของรัสเซียไม่ไกลนัก
เอเจนซีส์ – ยูเครนออกคำสั่งวันอาทิตย์ (2 มี.ค.) ระดมกำลังทหารกองหนุนทั่วประเทศเตรียมพร้อม หลังประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ประกาศส่งกองทัพเข้าสู่แหลมไครเมีย เพื่อปกป้องชาวรัสเซียในยูเครน โดยไม่ฟังเสียงทัดทานกระทั่งคำวิจารณ์ตรงไปตรงมาจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ขณะที่ฝ่ายตะวันตกระดมสมองหาทางหยุดยั้งสถานการณ์ที่ถือว่า เป็นการเผชิญหน้าครั้งใหญ่ที่สุดกับหมีขาวนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นสิ้นสุดลง

ความขัดแย้งที่อาจกลายเป็นวิกฤตความสัมพันธ์อย่างเลวร้ายที่สุดในยุคหลังสงครามเย็น ปะทุลุกลามขึ้นมาเมื่อกองกำลังอาวุธสนับสนุนรัสเซียได้เข้าควบคุมอาคารรัฐบาลและสนามบินหลายแห่งในเขตปกครองตนเองไครเมีย ของยูเครน ต่อมาในวันเสาร์ (1 ) วุฒิสภาแดนหมีขาวยังอนุมัติให้ส่งกองทหารรัสเซียเข้าสู่ยูเครน

ประธานาธิบดีปูติน แถลงเมื่อวันเสาร์ว่า ตนมีความรับผิดชอบต้องดูแลความปลอดภัยของชาวรัสเซียตลอดจนผลประโยชน์ของรัสเซียในไครเมีย รวมทั้งดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน ทั้งนี้แหลมไครเมียตกอยู่ในความปกครองของรัสเซียมายาวนาน อีกทั้งเป็นที่ตั้งของกองทัพเรือภาคทะเลดำของแดนหมีขาวมาถึงราว 250 ปี ครั้นเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย ไครเมียตกเป็นของยูเครน โดยมีการทำข้อตกลงให้เช่าเพื่อให้รัสเซียตั้งฐานทัพเรือที่เมืองเซวาสโตโปล ต่อไปได้ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครนก็เป็นพื้นที่ซึ่งผู้มีพูดภาษารัสเซียพำนักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากและมีความสัมพันธ์กับมอสโกมายาวนาน และไม่พอใจรัฐบาลรักษาการณ์ในเคียฟที่สนับสนุนสหภาพยุโรป (อียู)

ทว่า อาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค นายกรัฐมนตรีรักษาการของยูเครน กล่าวว่าการกระทำของรัสเซียอาจเป็นจุดเริ่มต้นของสงคราม และจุดสิ้นสุดของสัมพันธภาพระหว่างกัน ทั้งนี้รัฐบาลใหม่ยูเครนได้สั่งกองทัพของตนเตรียมพร้อมเต็มที่ตั้งแต่วันเสาร์ เป็นการตอบโต้ความเคลื่อนไหวของมอสโกที่ถือเป็นการบุกรุกประเทศเพื่อนบ้านครั้งแรก นับแต่เกิดการเผชิญหน้ากันช่วงสั้นๆ กับจอร์เจียเมื่อปี 2008

อันดรีย์ ปารูบีย์ ประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติของยูเครนปราศรัยทางทีวีว่า ได้สั่งให้กระทรวงกลาโหมเรียกระดมกำลังกองหนุนทั้งหมด เพื่อรับประกันความมั่นคงและบูรณาภาพแห่งดินแดน หลังจากก่อนหน้านั้น รัสเซียได้ส่งยานยนต์หุ้มเกราะ 30 คัน และทหาร 6,000 นายเข้าสู่ไครเมียเพื่อช่วยกลุ่มนักรบที่สนับสนุนเครมลินแข็งข้อต่อรัฐบาลในเคียฟ

นอกจากนี้ อันดรีย์ เดสชีสยา รัฐมนตรีต่างประเทศของยูเครนยังเรียกร้องให้องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) พิจารณาทางเลือกทั้งหมด เพื่อปกป้องบูรณาภาพแห่งดินแดนและอธิปไตยของยูเครน
กลุ่มผู้นิยมมอสโกพากันชูธงชาติรัสเซีย ระหว่างการชุมนุมที่บริเวณใจกลางเมืองโดเนตสก์ ทางภาคตะวันออกของยูเครนเมื่อวันอาทิตย์ (2) ก่อนหน้านี้ในวันเสาร์ก็มีประชาชนกว่า 10,000 คนออกมาชุมนุมที่เมืองนี้ ซึ่งเป็นที่มั่นสำคัญของ วิกตอร์ ยานูโควิช ผู้ถูกฝ่ายค้านในกรุงเคียฟปลดออกจากตำแหน่งประธานาธิบดียูเครน โดยพวกเขาประกาศสนับสนุน “ความปรารถนาของไครเมียที่จะกลับไปรวมกับรัสเซีย”
กลุ่มผู้สนับสนุนมอสโกพากันออกเสียงลงมติ ระหว่างการชุมนุมที่บริเวณใจกลางเมืองโดเนสต์ ทางภาคตะวันออกของยูเครนเมื่อวันอาทิตย์ (2)
กลุ่มชาวยูเครนผู้นิยมตะวันตก เข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัสเซีย ที่บริเวณจัตุรัสเอกราชของกรุงเคียฟเมื่อวันอาทิตย์ (2) ยูเครนออกคำสั่งระดมทหารกองหนุนทั้งหมด หลังจากที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ประกาศส่งทหารเข้าสู่แหลมไครเมีย
ปรากฏว่านาโตตอบสนองข้อเรียกร้องดังกล่าว ด้วยการเรียกประชุมฉุกเฉินเอกอัครราชทูต 28 ชาติสมาชิกในวันอาทิตย์ โดยอเมริกาเสนอส่งคณะผู้ตรวจสอบไปยังยูเครนภายใต้การนำของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) หรือองค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป ซึ่งล้วนเป็นองค์กรที่มอสโกมีอำนาจวีโตยับยั้งมติต่างๆ

ขณะที่วิลเลียม เฮก รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ มีกำหนดเยือนเคียฟในวันเดียวกัน เพื่อหารือกับประธานาธิบดีรักษาการ โอเลคซานเดอร์ เทอร์ชินอฟ

การตัดสินใจของมอสโกในส่งทหารเข้าสู่ยูเครน ดูเหมือนมีขึ้นหลังจากพันธมิตรสำคัญของตนคือ วิกเตอร์ ยานูโควิช กลายเป็นผู้พ่ายแพ้ในวิกฤตการเมืองที่ยืดเยื้อนาน 3 เดือนและถูกปลดจากตำแหน่งประธานาธิบดียูเครน แถมคณะผู้นำใหม่ในเคียฟยังประกาศเจตนารมณ์ขอเป็นสมาชิกอียู ดับฝันของปูตินในการฟื้นตำแหน่งมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารของรัสเซีย

ทว่า การตัดสินใจดังกล่าว กำลังทำให้รัสเซียเหินห่างแปลกแยกกับฝ่ายตะวันตกมากที่สุด นับตั้งแต่ที่ปูตินครองอำนาจในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตะวันตกคนหนึ่งระบุว่า นี่อาจเป็นสถานการณ์อันตรายที่สุดในยุโรปนับจากที่โซเวียตบุกเชคโกสโลวาเกียในปี 1968 และว่า ความท้าทายเฉพาะหน้าคือ การหยุดยั้งไม่ให้รัสเซียเข้าครอบครองดินแดนทางตะวันออกของยูเครน

ระหว่างการพูดคุยทางโทรศัพท์กับปูตินนาน 90 นาทีเมื่อวันเสาร์ (1) ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ วิจารณ์ตรงไปตรงมาว่า การส่งทหารเข้าสู่ยูเครนของเครมลินถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและละเมิดอธิปไตยของยูเครน และทำให้ภาพของรัสเซียติดลบในสายตานานาชาติ

โอบามายังแนะนำให้ปูตินแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจาโดยตรงกับรัฐบาลรักษาการของยูเครน รวมทั้งส่งคณะผู้สังเกตการณ์นานาชาติเข้าไปตรวจสอบสถานการณ์ความเป็นอยู่ของชาวรัสเซียในยูเครน

ทว่า ผู้นำเครมลินโต้กลับโดยย้ำภัยคุกคามจากกลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรงในยูเครนที่มีต่อชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของชาวรัสเซียในประเทศดังกล่าว

ขณะเดียวกัน จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้จัดประชุมทางโทรศัพท์กับรัฐมนตรีต่างประเทศ 6 ชาติจากยุโรป แคนาดา และญี่ปุ่น เพื่อหารือมาตรการต่อไปสำหรับวิกฤตยูเครน

ทางด้านชัค เฮเกล รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เตือนรัสเซียว่า กำลังคุกคามสันติภาพและความมั่นคงของยุโรปและนานาชาติ

นอกจากนั้น ในระหว่างการประชุมฉุกเฉินคณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็นตามที่ยูเครนร้องขอ วอชิงตันยังเรียกร้องให้มอสโกถอนกำลังออกจากไครเมีย ทว่าที่ประชุมไม่สามารถออกมติใดๆ ได้ โดยที่รัสเซียยืนกรานจะใช้อำนาจยับยั้ง หากมีการเสนอญัตติที่ขัดกับผลประโยชน์ของฝ่ายตน

ระดับความบาดหมางระหว่างรัสเซียกับตะวันตกได้รับการตอกย้ำเมื่อเจ้าหน้าที่อาวุโสของอเมริกาเปิดเผยว่า โอบามาและผู้นำยุโรปอีกหลายคนอาจงดร่วมประชุมสุดยอดจี8 ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพในเดือนมิถุนายนนี้ และนายกรัฐมนตรีสตีเฟน ฮาร์เปอร์แห่งแคนาดา ออกมาขานรับว่า อาจคว่ำบาตรซัมมิตดังกล่าวเช่นเดียวกัน และล่าสุดได้เรียกเอกอัครราชทูตประจำมอสโกกลับประเทศแล้ว

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนตะวันตก กระทั่งวอชิงตันมีทางเลือกจำกัดในการกดดันปูติน โดยนอกเหนือจากการงดเข้าร่วมซัมมิตจี8 แล้ว อเมริกาอาจตัดความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าที่มอสโกต้องการ หรือใช้มาตรการลงโทษกับสถาบันการเงินหรือเจ้าหน้าที่สำคัญของรัสเซีย ทว่า ลึกๆ นั้น โอบามาต้องการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าแบบยุคสงครามเย็น อีกทั้งยังต้องการการสนับสนุนจากเครมลินในประเด็นนโยบายต่างประเทศ อาทิ การเจรจายุติโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน และการทำลายอาวุธเคมีของซีเรีย เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น