xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มจี7 แถลงกดดัน ‘รัสเซีย’ ให้ยุติจัดลงประชามติฮุบแหลมไครเมีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - กลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมสำคัญของโลก (จี7) ซึ่งก็คือประเทศสำคัญๆ ทั้งหมดของโลกตะวันตก ร่วมกันออกคำแถลงในวันพุธ (12 มี.ค.) ระบุว่าการจัดลงประชามติในแหลมไครเมียที่กำลังจะมีขึ้นวันอาทิตย์ (16) นี้ เพื่อให้รัสเซียเข้าปกครองดินแดนของยูเครนแห่งนี้ “จะไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ” พร้อมกับเรียกร้องให้มอสโกยุติเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นก็จะเผชิญกับ “การปฏิบัติการ” อย่างไรก็ตาม ยังแทบไม่มีสัญญาณใดๆ เลยว่าแรงกดดันของฝ่ายตะวันตกเช่นนี้จะหยุดยั้งวังเครมลินลงได้

เหล่าผู้นำของกลุ่มจี7 กล่าวในคำแถลงว่า พวกเขาจะไม่ยอมรับผลของการลงประชามติเรื่องผนวกรวมไครเมียเข้ากับรัสเซียคราวนี้ ซึ่งพวกเขาเห็นว่า “จะไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ” พร้อมกับระบุว่ามันไม่มี “พลังทางศีลธรรม” รองรับ เนื่องจากเวลานี้มีทหารรัสเซียอยู่ในดินแดนปกครองตนเองของยูเครนแห่งนี้เต็มไปหมด

ความพยายามของรัสเซียในการผนวกไครเมีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่อยู่ทางตอนใต้ของยูเครน และเป็นฐานบัญชาการของกองทัพเรือภาคทะเลดำของรัสเซีย จะเป็นการละเมิดข้อตกลงทวิภาคีและข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ รวม 5 ฉบับ โดยฉบับหนึ่งก็คือกฎบัตรสหประชาชาติ เหล่าผู้นำจี7 ระบุในคำแถลงซึ่งเผยแพร่โดยทำเนียบขาว

“ถ้าหากสหพันธรัฐรัสเซียยังคงดำเนินจังหวะก้าวเช่นนี้แล้ว เราก็จะดำเนินการปฏิบัติการเพิ่มมากขึ้นอีก ทั้งที่กระทำโดยลำพังและทั้งโดยรวมหมู่กัน” คำแถลงของจี7 บอก

ผู้นำชาติสำคัญของโลกตะวันตกเหล่านี้ ยังเรียกร้องรัสเซียให้ถอนกองกำลังอาวุธของตนออกจากไครเมีย, เริ่มต้นเจรจากับรัฐบาลรักษาการของยูเครน, และยินยอมให้ผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในเขตนี้

กลุ่มจี7 นั้นประกอบไปด้วย สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, แคนาดา, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, และอิตาลี รวมทั้งสภายุโรปและคณะกรรมาธิการยุโรป นอกจากนั้นตั้งแต่ปี 1998 จี7 ได้รวมเอารัสเซียเข้าไปด้วย เพื่อก่อตั้งขึ้นเป็นกลุ่มจี8

รัสเซียมีกำหนดที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับผู้นำของกลุ่มจี8 ครั้งต่อไปที่เมืองโซชิ ในเดือนมิถุนายนนี้ ทว่าพวกผู้นำของจี7ได้ประกาศระงับการเข้าร่วมพบปะคราวนี้แล้ว สืบเนื่องจากวิกฤตในยูเครน

ในคำแถลงล่าสุดฉบับนี้ ผู้นำกลุ่มจี7 ก็ย้ำว่า จะยังคงระงับไม่เข้าร่วมในกิจกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับการประชุมซัมมิตจี8 ที่โซชิ จนกว่ารัสเซียจะเปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินในประเด็นเรื่องยูเครน

ทางด้านประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ นั้น มีกำหนดที่จะพบปะหารือกับ อาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค นายกรัฐมนตรีรักษาการของยูเครนในวันพุธ (12) ณ ห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาว อันเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการรับรองสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อรัฐบาลใหม่ของยูเครน

นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังแถลงว่า กำลังเตรียมดำเนินการลงโทษคว่ำบาตรรัสเซียสืบเนื่องจากประเด็นปัญหาไครเมียนี้ โดยที่ก่อนหน้านี้ก็ได้ออกมาตรการไม่ให้ออกวีซาเข้าอเมริกาตลอดจนอายัดทรัพย์สินที่อยู่ในสหรัฐฯของชาวรัสเซียที่ถูกระบุว่ารับผิดชอบต่อการละเมิดบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน

แต่สำหรับสหภาพยุโรป ซึ่งภาคการเงินและภาคพลังงานมีความผูกพันและต้องพึ่งพาอาศัยรัสเซียยิ่งกว่าภาคเหล่านี้ของสหรัฐฯ เวลานี้ทำเพียงข่มขู่จะดำเนินมาตรการเข้มข้นมากขึ้น หลังจากที่ได้ดำเนินจังหวะก้าวอ่อนๆ อย่างเช่น การระงับไม่ให้ชาวรัสเซียได้เดินทางในอียูอย่างเสรี และหยุดการเจรจาทำข้อตกลงทางด้านเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันจากโลกตะวันตกเหล่านี้ยังแทบไม่ได้ชะลอความพยายามของรัสเซียที่จะลากเส้นแบ่งพรมแดนของยุโรปหลังสงครามเสียใหม่ ด้วยการผนวกรับไครเมีย ซึ่งถูกส่งมอบเป็น “ของขวัญ” ให้แก่ยูเครนเมื่อปี 1954 ในขณะที่ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต

ทั้งนี้ รัฐสภารัสเซียมีกำหนดประชุมกันในวันที่ 21 มีนาคม เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายซึ่งจะปรับปรุงกระบวนวิธีในการผนวกดินแดน อันจะทำให้รัสเซียสามารถผนวกไครเมียได้ง่ายยิ่งขึ้น

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ โอเล็คซานเดอร์ ตูร์ชินอฟ รักษาการประธานาธิบดียูเครน แจกแจงระหว่างให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวเอเอฟพีเมื่อวันอังคาร (11) ว่า แม้ไครเมียขู่แยกตัวไปสวามิภักดิ์รัสเซีย เคียฟจะไม่ใช้ปฏิบัติการทางทหารต่อเขตปกครองตนเองในทะเลดำดังกล่าวซึ่งกองกำลังที่สนับสนุนมอสโกได้เข้ายึดครองโดยพฤตินัยไว้แล้วในขณะนี้ เนื่องจากจะเข้าทางรัสเซียที่เริ่มซ่องสุมหน่วยรถถังจำนวนมากตามแนวชายแดนติดกับภาคตะวันออกของยูเครน เพื่อยั่วยุและใช้เป็นข้ออ้างในการแทรกแซงยูเครน

อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีรักษาการยืนยันว่า กองทัพยูเครนจะไม่นิ่งเฉย หากกองทัพรัสเซียรุกคืบเข้าสู่ดินแดนแผ่นดินใหญ่ของยูเครน

ตูร์ชินอฟที่เข้ารับตำแหน่งปลายเดือนที่แล้ว โดยได้รับความสนับสนุนอย่างแข็งขันจากฝ่ายตะวันตก แต่ถูกรัสเซียประณามว่าเป็นการก่อรัฐประหารยึดอำนาจอย่างไม่ถูกกฎหมาย ยังกล่าวประณามแผนการทำประชามติของไครเมียเพื่อแปรพักตร์ไปรวมผนวกเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียในวันอาทิตย์ (16) นี้ โดยเขาอ้างว่ามันเป็น “การตบตา” เนื่องจากชาวไครเมียส่วนใหญ่จะไม่สนับสนุนการทำประชามติ ซึ่งเครมลินเองรับรู้เรื่องนี้ดีจึงจัดเตรียมผลการออกเสียงปลอมไว้แล้ว

ผู้นำรักษาการที่ฝ่ายตะวันตกหนุนหลังแข็งขันผู้นี้ ยังตอบโต้ข้อกล่าวอ้างของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่ว่า คนที่พูดภาษารัสเซียในยูเครนถูกเลือกปฏิบัติ ดังนั้น รัสเซียจึงมีความชอบธรรมในการปกป้องประชาชนเหล่านั้นด้วยการบุกไครเมีย โดยเขากล่าวว่า เป็นข้ออ้างที่ “เสียสติ”

พวกมหาอำนาจตะวันตกย้ำข้อเรียกร้องให้มอสโกและเคียฟหารือกันเพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์ในไครเมีย ทว่า รัสเซียยืนยันว่าเนื่องจากรัฐบาลรักษาการในเคียฟตั้งแต่ตัวตูร์ชินอฟลงมา ขึ้นครองอำนาจโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญของยูเครน จึงไม่ยอมรับรองและไม่ยอมเจรจาด้วย

ตูร์ชินอฟกล่าวย้ำในการให้สัมภาษณ์คราวนี้ว่า ผู้นำรัสเซียเป็นฝ่ายที่ปฏิเสธการเจรจา และเคียฟหวังพึ่งความช่วยเหลือจากตะวันตกในการ “หยุดยั้งความก้าวร้าวของรัสเซีย”
กำลังโหลดความคิดเห็น