เอเจนซีส์ - กองกำลังฝ่ายสนับสนุนรัสเซียจับกุมผู้บัญชาการทหารเรือของยูเครน ภายหลังเข้ายึดกองบัญชาการของเขาในแหลมไครเมียเมื่อวันพุธ (19 มี.ค.) โดยไม่ได้มีการต่อสู้อะไรกัน ขณะที่มอสโกเร่งกระชับอำนาจหลังจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน และพวกผู้นำของไครเมีย ลงนามในสนธิสัญญาผนวกดินแดนนี้กลับมาเป็นของรัสเซีย โดยไม่แยแสการข่มขู่ลงโทษคว่ำบาตรเพิ่มเติมของสหรัฐฯและยุโรป
พวกเจ้าหน้าที่ในฐานทัพเรือเมืองเซวาสโตโปล ซึ่งเป็นเมืองท่าในแหลมไครเมีย และเป็นที่ตั้งกองทัพเรือภาคทะเลดำของรัสเซีย ตลอดจนเป็นฐานบัญชาการทัพนาวีแห่งสำคัญที่สุดของยูเครนด้วย ระบุว่ากลุ่มนักเคลื่อนไหวสนับสนุนรัสเซีย 200 คน ซึ่งบางคนมีอาวุธ ได้พังประตูและใช้รถพยาบาลบุกเข้าภายในฐานบัญชาการ และภายหลังมีการเจรจากับเจ้าหน้าที่อาวุโสของยูเครน
ต่อมาเมื่อผู้บัญชาการกองทัพเรือทะเลดำของรัสเซียเดินทางมาถึง ทหารยูเครนหลายสิบคนก็ถอนตัวออกจากฐานบัญชาการดังกล่าวโดยไม่มีการปะทะต่อสู้แต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันที่ฐานทัพเรือยูเครนในเมืองโนโว-โอไซโอมี ทางตะวันตกของไครเมีย
หลังจากนั้น อีกอร์ เยสกิน ตัวแทนคนหนึ่งของกองกำลังฝ่ายรัสเซีย ได้แถลงกับผู้สื่อข่าวในเซวาสโตโปล ว่า เซียร์กีย์ กายดุค ผู้บัญชาการทหารเรือยูเครน ได้ถูกควบคุมตัวเอาไว้
“เขาถูกสกัด และไม่มีทางหนีไปไหน เขาถูกบังคับให้ออกมาและถูกนำตัวไปแล้ว” เยสกิน กล่าว ทั้งนี้ กายดุคเพิ่งได้รับแต่งตั้งขึ้นนั่งตำแหน่งนี้ ภายหลังผู้บัญชาการคนก่อน ประกาศหันมาแสดงความจงรักภักดีต่อทางการไครเมียที่เป็นฝ่ายสนับสนุนรัสเซียเมื่อวันที่ 1 มีนาคมนี้
ทางด้านรัฐบาลยูเครนในกรุงเคียฟ ได้ออกคำสั่งให้รักษาการรัฐมนตรีกลาโหม อิกอร์ เทนียุค และรักษาการรองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่ง วิตัลลี ยาเรมา เดินทางไปยังไครเมียเพื่อเปิดการเจรจาอย่างเร่งด่วน
แต่ปรากฏว่าสำนักข่าวอินเทอร์แฟกซ์ของรัสเซีย รายงานโดยอ้างคำพูดของนายกรัฐมนตรีไครเมีย เซียร์เกย์ อัคซีโอนอฟ ที่ยังอยู่ในมอสโก ซึ่งกล่าวว่า จะไม่อนุญาตให้เทนียุคเดินทางเข้าไครเมีย
ในอีกด้านหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญของรัสเซียตัดสินในวันพุธ รับรองสนธิสัญญาผนวกไครเมียเข้ากับรัสเซีย ซึ่งปูตินกับเหล่าผู้นำไครเมียลงนามไปในวันอังคาร (18) จึงเหลือเพียงด่านสุดท้ายคือรัฐสภาแดนหมีขาว ซึ่งคาดว่า จะลงคะแนนเสียงให้สัตยาบันสนธิสัญญาฉบับนี้อย่างท่วมท้นในการประชุมวันศุกร์ (21) นี้
ทั้งนี้ ไครเมียได้จัดให้มีการลงประชามติเมื่อวันอาทิตย์ (16) ที่ผ่านมา ซึ่งผลปรากฏว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงถึง 97% สมัครใจแยกตัวจากยูเครนและผนวกกับรัสเซีย
ทว่า ตะวันตกและยูเครนประณามว่า การทำประชามติดังกล่าวจัดขึ้นอย่างผิดกฎหมาย และผลการลงประชามติจึงไม่เป็นที่ยอมรับ
ในวันจันทร์ (17) อเมริกาและสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศมาตรการลงโทษ ซึ่งอยู่ในรูปของการไม่ให้วีซ่าและยึดทรัพย์สิน เจ้าหน้าที่หลายคนของรัสเซียและยูเครน ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องในปฏิบัติการของมอสโกในไครเมีย พร้อมขู่ว่า จะขยายมาตรการลงโทษหากมีการลงนามสนธิสัญญาผนวกไครเมีย
ทว่า มอสโกหาได้กลัวเกรงไม่ โดยนอกจากจะเดินหน้าลงนามสนธิสัญญาดังกล่าวแล้ว กระทรวงการต่างประเทศแดนหมีขาวยังออกคำแถลงเตือนว่า การลงโทษของตะวันตกนั้นเป็นเรื่องที่รัสเซีย “ยอมรับไม่ได้" และขู่ว่าจะตอบโต้กลับ
วิกฤตยูเครนเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว หลังจาก วิกเตอร์ ยานูโควิช ประธานาธิบดีในขณะนั้นที่ให้การสนับสนุนรัสเซีย ยกเลิกการลงนามข้อตกลงการค้าและการเมืองกับอียู และหันไปคบค้าสมาคมใกล้ชิดกับมอสโกแทน
ยานูโควิชหนีไปรัสเซียเมื่อวันที่ 22 เดือนที่แล้ว หลังมีการประท้วงรุนแรงในเคียฟ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 80 คน จากนั้นพวกผู้ประท้วงซึ่งนิยมอียู ก็ขึ้นครองอำนาจท่ามกลางความสนับสนุนของสหรัฐฯและยุโรป แต่รัสเซียไม่ให้การรับรอง โดยระบุว่าเข้าสู่ตำแหน่งอย่างผิดกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญยูเครน และกระทำการแบบยึดอำนาจด้วยกำลัง
สำหรับไครเมียนั้น เคยเป็นของรัสเซียมาเป็นร้อยๆ ปี และประชากรส่วนใหญ่ก็เป็นคนพูดภาษารัสเซีย แต่ได้ถูกยกไปให้แก่ยูเครนเมื่อปี 1954
การผนวกไครเมียของรัสเซียคราวนี้ ใช่ว่าไม่มีการเสียเลือดเนื้อเลยเสียทีเดียว โดยเมื่อวันอังคาร กลุ่มติดอาวุธสวมหน้ากากแต่ไม่ติดเครื่องหมายใดๆ ได้บุกเข้าไปในศูนย์กลางทหารของยูเครนในเมืองซิมเฟโรโปล เมืองหลวงของไครเมีย มีทหารยูเครนเสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 1 คน ส่วนทางด้านกองกำลังท้องถิ่นไครเมียที่สนับสนุนรัสเซีย ก็มีรายงานว่าเสียชีวิตไป 1 คนจากการยิงต่อสู้กับคนร้ายไม่ทราบฝ่าย