เอเจนซีส์ - ชาวไครเมียเข้าคูหาเลือกตั้งในวันอาทิตย์ (16 มี.ค.) เพื่อแสดงประชามติจะแยกตัวจากยูเครนเพื่อเข้าร่วมกับรัสเซียหรือไม่ ขณะที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่เชียร์เครมลินเต็มที่ของเขตปกครองตนเองนี้ระบุเตรียมฉลองชัยไว้แล้ว ทั้งนี้คาดหมายกันว่า หากผลออกมาตามความคาดหมายนี้ ยุโรปและอเมริกาจะประกาศมาตรการลงโทษคว่ำบาตรมอสโกทันทีในวันจันทร์ (17) และเป็นไปได้ว่าแดนหมีขาวอาจถูกขับออกจากกลุ่มจี 8
มีกำลังทหารม้าคอสแซ็กและกลุ่มนักรบป้องกันตนเอง ออกลาดตระเวนคูหาลงคะแนนบางแห่งในเขตปกครองตนเองไครเมียในวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันลงประชามติ และธงชาติรัสเซียปลิวไสวไปทุกหนแห่งตั้งแต่รถโดยสารในเมืองจนถึงขบวนรถจักรยานยนต์ที่เคลื่อนไปตามถนนสายต่างๆ
“นี่คือช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ ทุกคนจะอยู่อย่างมีความสุข คืนนี้เราจะฉลองกัน” เซอร์กีย์ อัคซีโยนอฟ นายกรัฐมนตรีไครเมียที่มาจากการเลือกตั้งแบบปิดลับเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วและไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลรักษาการของยูเครนในกรุงเคียฟ กล่าวภายหลังไปหย่อนบัตร
ทั้งนี้ ประชากรส่วนใหญ่บนคาบสมุทรไครเมียที่ยื่นลงสู่ทะเลดำเป็นชาวรัสเซีย และกองกำลังรัสเซียเข้าควบคุมดินแดนนี้มาตั้งแต่เดือนที่แล้วหลังเกิดเหตุประท้วงรุนแรงในยูเครน ส่งผลให้ความสัมพันธ์อเมริกัน-รัสเซียตกต่ำสุดขีดนับจากกำแพงเบอร์ลินล่มสลายในปี 1989
เป็นที่คาดว่า เสียงส่วนใหญ่จากผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 1.5 ล้านคนในไครเมีย จะเลือกอยู่กับรัสเซีย เพราะคาดหวังรายได้ที่ดีขึ้นและการเป็นส่วนหนึ่งของประเทศที่สามารถปกป้องสิทธิ์ของตนบนเวทีโลก ขณะที่ชาวไครเมียบางคนที่ขอสงวนนามบอกว่า ตั้งใจจะไม่ไปลงคะแนน นอกจากนี้ยังมีการเชิญชวนบนสื่อสังคมให้ชาวไครเมียนอนหลับทับสิทธิ์
โอเลคซานเดอร์ ตูร์ชินอฟ ประธานาธิบดีรักษาการของยูเครน ที่รับตำแหน่งแทนวิกเตอร์ ยานูโควิช ผู้จงรักภักดีต่อเครมลินที่ถูกปลดเมื่อเดือนที่แล้ว เรียกร้องนานาชาติอย่ายอมรับการลงประชามติของไครเมีย และกล่าวหาว่า มอสโกเตรียมผลเลือกตั้งไว้แล้วเพื่ออ้างความชอบธรรมในการส่งกำลังเข้าสู่ไครเมียและทำสงครามกับยูเครน
ทั้งนี้ ตูร์ชินอฟ และกลุ่มนิยมสหภาพยุโรป (อียู) ขึ้นครองอำนาจในกรุงเคียฟท่ามกลางการสนับสนุนรับรองของฝ่ายตะวันตก ทว่าถูกรัสเซียและประชาชนจำนวนมากในไครเมียและภาคตะวันออกของยูเครนคัดค้าน โดยระบุว่าพวกเขาขึ้นมาอย่างไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของยูเครน และกระทำการในลักษณะของการทำรัฐประหารยึดอำนาจ
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีรายงานว่าถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปยังคูหาลงคะแนนบางแห่งในเมืองเซวาสโตโปล ที่เป็นเมืองที่ตั้งฐานบัญชาการกองทัพเรือภาคทะเลดำของรัสเซีย และเมืองซิมเฟอโรโปล ซึ่งเป็นเมืองหลวงของไครเมีย นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ประชาชน 65 คนไปกาบัตรในเซวาสโตโปลก่อนคูหาเปิด
การลงประชามติคราวนี้มีชาวต่างชาติเข้าสังเกตการณ์ ทว่า องค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (โอเอสซีอี) ปฏิเสธคำเชิญให้ส่งคณะผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมตรวจสอบการทำประชามติ โดยให้เหตุผลว่านี่เป็นการหยั่งเสียงอย่างไม่เป็นทางการเนื่องจากไม่ได้ดำเนินการโดยรัฐบาลยูเครน
การลงประชามติครั้งนี้มีคำถามให้เลือกตอบรวมสองทาง คือ เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย หรืออยู่กับยูเครนต่อไปแต่มีอำนาจปกครองตนเองมากขึ้น โดยที่ผลการลงคะแนนเบื้องต้นคาดว่าจะเปิดเผยได้ในเวลาไม่นานนักหลังจากปิดคูหาในเวลา 20.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น (01.00 น.วันจันทร์ตามเวลาไทย)
หากผลการลงประชามติชี้ว่าชาวไครเมียเลือกรวมกับรัสเซีย กระบวนการเตรียมการก็อาจจะเริ่มต้นได้ในสัปดาห์นี้ โดยคาดว่ากว่าจะเสร็จสิ้นคงต้องใช้เวลาหลายเดือน
เจ้าหน้าที่ที่สนับสนุนรัสเซียและทางการมอสโกบอกว่า การทำประชามติครั้งนี้เป็นตัวอย่างของการตัดสินขี้ชะตาตัวเอง เหมือนที่ดินแดนโคโซโวตัดสินใจแยกตัวจากเซอร์เบีย ทว่า วอชิงตันซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีสนับสนุนโคโซโว รวมทั้งการใช้กำลังทหารหนุนหลัง พยายามแย้งว่า การดำเนินการคราวนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยเนื่องจากเกิดขึ้น “ภายใต้กระบอกปืน”
ก่อนการลงประชามติได้เกิดความรุนแรงในภาคตะวันออกของยูเครนซึ่งเป็นส่วนที่มีผู้สนับสนุนรัสเซียอยู่มาก โดยนักเคลื่อนไหว 3 คนถูกฆ่าในเมืองโดเนตสก์และคาร์คีฟ ขณะเดียวกันก็มีกระแสการเรียกร้องในพื้นที่อื่นๆ ให้จัดการลงประชามติเพื่อแยกตัวจากยูเครนเช่นกัน
สำหรับในไครเมียนั้น แม้ยังไม่มีการเผชิญหน้าระหว่างกองทัพรัสเซียกับยูเครน แต่มีการโจมตีผู้สื่อข่าวและนักเคลื่อนไหวสนับสนุนการยังคงรวมอยู่กับยูเครนหลายครั้ง
นอกจากนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับทหารยูเครนในไครเมีย หากผลการทำประชามติเป็นไปตามที่มอสโกหวัง
กระนั้น สิ่งที่ชาวไครเมียกังวลอย่างมากในขณะนี้คือ สุญญากาศทางกฎหมายและความวุ่นวายทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประชาชนมากมายไปเข้าคิวถอนเงินจากธนาคาร
นอกจากนี้ ไครเมียยังไม่ได้อยู่ใต้ร่มธงของรัสเซียโดยอัตโนมัติหลังการลงประชามติ และรัฐบาลในเคียฟขู่ว่า ไครเมียอาจไปไม่รอด เนื่องจากต้องพึ่งพิงกระแสไฟฟ้า พลังงาน น้ำจากยูเครน
การประลองกำลังทางการทูตระหว่างฝ่ายตะวันตกกับรัสเซียในกรณีไครเมีย ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ รวมถึงการเผชิญหน้าในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็นที่นายกรัฐมนตรีรักษาการของยูเครน อาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค ถามว่า “รัสเซียต้องการทำสงครามใช่ไหม?”
ขณะที่การเจรจารอบแล้วรอบเล่าระหว่างจอห์น เคร์รี และเซีย์ร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ และรัสเซียตามลำดับ ล้วนแต่ล้มเหลวและดูเหมือนเคร์รีถึงขั้นยอมละเมิดพิธีการทางการทูต ด้วยการยกเลิกแผนการเดินทางไปหารือในมอสโก
กระทรวงการต่างประเทศแดนหมีขาวแถลงเมื่อวันเสาร์ (15) ว่า ลาฟรอฟบอกกับเคร์รีในการหารือครั้งล่าสุดว่า เคียฟควรควบคุมกลุ่มชาตินิยมสุดขั้วฟาสซิสต์ และกลุ่มหัวรุนแรงที่ก่อการร้ายต่อคนที่พูดภาษารัสเซียที่มีความเห็นต่างจากพวกเขา
อย่างไรก็ดี แม้ตะวันตกไม่มีอำนาจหยุดยั้งการแยกตัวของไครเมีย แต่รัสเซียกำลังจะเผชิญมาตรการลงโทษที่บรัสเซลส์ และวอชิงตันเตรียมประกาศในวันจันทร์ และอาจถูกตัดสิทธิ หรือกระทั่งขับไล่ออกจากกลุ่มจี 8