xs
xsm
sm
md
lg

‘ฝ่ายหนุน-ต้านมอสโก’ จัดชุมนุมใหญ่ ‘ยูเครน’ ยังระอุ-แม้ตะวันตกเร่งบีบรัสเซีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มผู้สนับสนุนรัสเซียไปชุมนุมกันที่เมืองซิมเฟโรโปล เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองไครเมีย เมื่อวันอาทิตย์ (9) โดยที่ในวันเดียวกันนี้ก็มีกลุ่มชาวยูเครนซึ่งสนับสนุนฝ่ายตะวันตก ไปชุมนุมแสดงการต่อต้านคัดค้านรัสเซีย ทั้งที่เมืองหลวงเคียฟและเมืองอื่นๆ ทางภาคตะวันตกของยูเครน
กลุ่มชาวยูเครนนิยมตะวันตก จัดการชุมนุมเพื่อระลึกวันครบรอบ 200 ปีวันเกิดของ ทารัส เชฟเชนโก กวีและวีรบุรุษของประเทศ และใช้โอกาสนี้รณรงค์กระแสรักชาติเพื่อต่อต้านรัสเซีย ณ บริเวณใกล้ๆ อนุสาวรีย์ของเขาในใจกลางกรุงเคียฟเมื่อวันอาทิตย์(9)
เอเจนซีส์ – ผู้คนนับหมื่นนับแสนคนออกมาสู่ท้องถนนเมื่อวันอาทิตย์ (9 มี.ค.) เพื่อเข้าร่วมการชุมนุมตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ยูเครนที่มีทั้งของฝ่ายนิยมรัสเซียและฝ่ายต่อต้านมอสโก กลายเป็นการยกระดับความตึงเครียดของการแบ่งแยกดินแดนในอดีตรัฐสังกัดสหภาพโซเวียตแห่งนี้ ขณะที่ความพยายามของโลกตะวันตกในการคลี่คลายวิกฤตยูเครนด้วยแนวทางการทูต ยังคงไม่มีความคืบหน้าให้เห็น

อาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค นายกรัฐมนตรีรักษาการของยูเครน ซึ่งโลกตะวันตกให้การรับรองแต่รัสเซียยังคงตราหน้าว่าขึ้นครองอำนาจอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้กล่าวปราศรัยต่อประชาชนจำนวนนับหมื่นๆ ในเมืองหลวงเคียฟว่า ยูเครนจะไม่ยอมสละดินแดนของตนแม้แต่ “1 เซนติเมตร” ให้แก่มอสโก หลังจากที่กองทหารรัสเซียและกองกำลังอาวุธฝักใฝ่มอสโก เข้าควบคุมแหลมไครเมียเอาไว้แล้วในทางพฤตินัย

กลุ่มชาวยูเครนที่นิยมตะวันตกทั้งในเคียฟและเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะทางด้านตะวันตกของประเทศ นัดชุมนุมกันในวันอาทิตย์ (9) เพื่อรำลึกวันครบรอบวันเกิด 200 ปีของทารัส เชฟเชนโก กวีและวีรบุรุษของประเทศ และใช้โอกาสนี้รณรงค์กระแสรักชาติเพื่อต่อต้านรัสเซีย

ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้สนับสนุนรัสเซียก็จัดการชุมนุมแสดงพลังในหลายเมืองของแหลมไครเมีย ตลอดจนที่เมืองโดเนตสก์ ทางตะวันออกของยูเครน ซึ่งสถานการณ์ตึงเครียดอยู่แล้ว ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า อาจเกิดการปะทะระหว่างคนสองกลุ่ม
กลุ่มผู้สนับสนุนรัสเซีย (ซ้าย) และนักเคลื่อนไหวนิยมตะวันตก (ขวา) โต้เถียงกันในระหว่างที่ต่างฝ่ายต่างจัดการชุมนุมขึ้นที่เมืองเซวาสโตโปล ในเขตปกครองตนเองไครเมีย เมื่อวันอาทิตย์ (9) โดยที่มีรายงานว่าได้เกิดเหตุปะทะกันระหว่างสองกลุ่มนี้ด้วย
ความขัดแย้งภายในยูเครนเกี่ยวกับอัตลักษณ์และอนาคตของประเทศ ยังสะท้อนให้ปรากฏบนเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งมีการเผชิญหน้าครั้งรุนแรงที่สุดในยุคหลังสงครามเย็นระหว่างรัสเซียกับตะวันตก

ในวันเสาร์ (8) กลุ่มติดอาวุธที่ภักดีต่อมอสโกได้ยิงปืนขึ้นฟ้าเป็นการข่มขู่ ทำให้คณะผู้สังเกตการณ์จากองค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (โออีซีอี) ไม่สามารถเข้าสู่ไครเมียเพื่อตรวจสอบสถานการณ์การเผชิญหน้าระหว่างทหารยูเครนกับกองทหารรัสเซียและกลุ่มติดอาวุธที่สนับสนุนมอสโก ตามที่ยูเครนร้องขอเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน

การตรวจสอบสถานการณ์ของโออีซีอีเป็นส่วนหนึ่งของแผนการทางการทูต 3 ขั้นตอนที่ผลักดันโดยประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการเรียกร้องให้รัสเซียถอนกำลังออกจากไครเมีย และให้ยูเครนจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคม

นอกจากนั้น หน่วยยามฝั่งของยูเครนยังรายงานว่า เครื่องบินตรวจการณ์ขนาดเบาลำหนึ่งของตนถูกกลุ่มหัวรุนแรงในไครเมียยิง แต่ไม่ได้รับความเสียหายและไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ขณะที่รัสเซียยังยึดท่าเรือเฟอร์รีและอู่เก็บเรือทางตะวันออกและตะวันตกเฉียงใต้ของไครเมีย เพื่อส่งขบวนรถลำเลียงทางทหาร 67 คันพร้อมกำลังทหารไปยังเมืองซิมเฟโรโปล เมืองหลวงของไครเมีย ซึ่งมีกำหนดจัดการลงประชามติเพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียในวันที่ 16 นี้

ทั้งนี้ การผนวกไครเมียมีขึ้นภายใต้ข้อกล่าวอ้างของเครมลินว่า รัฐบาลรักษาการที่สนับสนุนตะวันตกของยูเครน สร้างสถานการณ์ข่มขู่ประชาชนที่พูดภาษารัสเซีย ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน

ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ของมอสโก ทำให้วอชิงตันประกาศงดออกวีซ่า รวมถึงอายัดทรัพย์สินพวกเจ้าหน้าที่รัสเซีย และระงับความร่วมมือทางทหารกับแดนหมีขาว เช่นเดียวกับสหภาพยุโรปที่ขู่ลงโทษทางเศรษฐกิจต่อมอสโก

จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เตือนทางโทรศัพท์ระหว่างการหารือเป็นวันที่ 4 ติดต่อกันกับเซียร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียว่า การผนวกไครเมียจะปิดช่องทางการทูตในการแก้ไขวิกฤตครั้งนี้

ขณะที่โอบามา ก็ได้ยกหูโทรศัพท์หาผู้นำอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี รวมถึง ลิทัวเนีย, ลัตเวีย และเอสโตเนีย 3 ชาติอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียตในแถบบอลข่านที่เวลานี้เป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาปกป้องแอตแลนติกเหนือ (นาโต) โดยยืนยันว่า นาโตจะปกป้อง 3 ชาตินี้ เมื่อมีความจำเป็นขึ้นมา

ทว่า เครมลินตอบโต้โดยแสดงว่าไม่ได้หวั่นเกรงแต่อย่างใด ตรงกันข้าม เจ้าหน้าที่ทหารคนหนึ่งของรัสเซียเผยว่า มอสโกอาจระงับการให้ต่างชาติเข้ามาตรวจสอบคลังแสงหัวรบนิวเคลียร์ของตน ตามที่ได้เคยตกลงไว้กับฝ่ายตะวันตก

ขณะเดียวกัน กาซปรอม บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัฐบาลรัสเซีย ก็ขู่หยุดส่งก๊าซให้ยูเครนเนื่องจากยังค้างหนี้เก่า ซึ่งเรื่องนี้อาจกระทบต่อบริษัทหลายแห่งในยุโรปตะวันตกซึ่งเป็นลูกค้าของยูเครน

การเผชิญหน้าทางทหารและการทูตยังลุกลามกลายเป็นสงครามข้อมูล โดยนักข่าวตะวันตกและยูเครนถูกกลุ่มติดอาวุธในไครเมียข่มขู่ และไครเมียออกอากาศรายการทีวีจากสถานีของรัสเซียแทนสถานีในเคียฟ

นอกจากนี้ บีเออี บริษัทกลาโหมและระบบรักษาความปลอดภัยของอังกฤษยังรายงานว่า ยูเครนถูกโจมตีด้วยไวรัสคอมพิวเตอร์ที่มีอานุภาพร้ายแรงแบบที่ไม่เคยพบมาก่อน นับแต่โปรแกรมประสงค์ร้าย “สตักซ์เน็ต” ที่โจมตีระบบเพิ่มความเข้มข้นของยูเรเนียมของอิหร่านในปี 2010 โดยที่รหัสของไวรัสดังกล่าวบ่งชี้ว่า มีที่มาจากเขตเวลาเดียวกับมอสโก
กำลังโหลดความคิดเห็น