เอเจนซีส์ - วิกฤตยูเครนทวีความเข้มข้นขึ้นอีก หลังจากเมื่อวันพฤหัสบดี (6 มี.ค.) รัฐสภาไครเมีย ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองที่อยู่ในยูเครนแต่ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนพูดภาษารัสเซีย ลงมติขออยู่ใต้ร่มธงแดนหมีขาว โดยรัฐบาลที่สนับสนุนมอสโกเตรียมจัดลงประชามติเรื่องนี้ภายใน 10 วัน ขณะเดียวกัน ทางด้านผู้นำยุโรปเปิดประชุมฉุกเฉินหาทางกดดันเครมลินถอนกำลังจากไครเมียและยอมไกล่เกลี่ยกับกรุงเคียฟ ทว่า นักการทูตดักคอว่า อย่างมากที่สุดบรัสเซลส์คงได้แค่ประณามที่มอสโกบุกรุกยูเครนเท่านั้น
รัฐสภาของเขตปกครองตนเองไครเมียในยูเครนลงมติเป็นเอกฉันท์ในวันพฤหัสบดี เพื่อเข้าร่วมในสหพันธรัฐรัสเซีย และขอให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย พิจารณาคำร้องนี้ โดยไครเมียจะจัดให้มีการลงประชามติในวันที่ 16 นี้
นอกจากคำถามว่า จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียหรือไม่แล้ว แบบฟอร์มการลงประชามติครั้งนี้ยังมีคำถามที่ 2 คือ ไครเมียจะยังคงสภาพเขตปกครองตนเองตามรัฐธรรมนูญปี 1992 หรือไม่
มติดังกล่าวนี้ซึ่งพวกนักการทูตชี้ว่า ไม่สามารถทำได้หากปราศจากการอนุมัติของปูติน ทำให้เดิมพันยิ่งสูงขึ้นอีก สำหรับวิกฤตการเผชิญหน้าครั้งรุนแรงที่สุดระหว่างตะวันออกกับตะวันตกนับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลงคราวนี้
ขณะเดียวกัน สถานการณ์ในแหลมไครเมีย ซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพของกองเรือภาคทะเลดำของรัสเซียมาเป็นร้อยๆ ปี ยังมีความตึงเครียดรุนแรงยิ่งขึ้น โดยตัวแทนอาวุโสของสหประชาชาติ ถูกฝูงชนที่สนับสนุนรัสเซียโอบล้อมและบีบบังคับให้ขึ้นเครื่องกลับออกจากดินแดนแห่งนั้น
ในวันพฤหัสบดีเช่นกัน พวกผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) เปิดประชุมฉุกเฉินที่กรุงบรัสเซลส์เพื่อกำหนดท่าทีต่อกรณีที่รัสเซียแทรกแซงทางทหารในยูเครน
ประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์แห่งฝรั่งเศส กล่าวหลังเดินทางถึงบรัสเซลส์ว่าจะมีการกดดันอย่างรุนแรงที่สุดต่อมอสโก ซึ่งสุดท้ายคือการใช้มาตรการลงโทษ
อย่างไรก็ดี มีแนวโน้มว่าผลสรุปของซัมมิตอียูจะมีเพียงมาตรการเชิงสัญลักษณ์ต่อรัสเซีย ซึ่งเป็นทั้งซัปพลายเออร์ก๊าซรายใหญ่สุดของยุโรป และเป็นทั้งลูกค้าสำคัญของสมาชิกหลายชาติในอียู เนื่องจากเกรงว่า การใช้ไม้แข็งอาจทำให้รัสเซียปฏิเสธการใช้มาตรการทางการทูต หรือตอบโต้ด้วยสงครามการค้า
นักการทูตมองว่า อย่างมากที่สุดผู้นำอียูคงแค่ประณามการยึดไครเมียของรัสเซีย และระงับการเจรจาเปิดเสรีวีซ่าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับมอสโก ตลอดจนขู่ว่า จะมีมาตรการเพิ่มเติมหากปูตินไม่ยอมเจรจากับยูเครนโดยเร็ว
พร้อมกันนั้น ผู้นำอียูจะแสดงการสนับสนุนต่อรัฐบาลรักษาการของยูเครนที่สนับสนุนตะวันตก โดยอาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค นายกรัฐมนตรีรักษาการของยูเครน มีกำหนดร่วมหารือที่บรัสเซลส์ด้วย
ตั้งแต่ก่อนหน้าการประชุมนี้ คณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของอียู ได้ประกาศอัดฉีดเงินช่วยเหลือยูเครน 15,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 2-3 ปีหน้า ภายใต้เงื่อนไขว่า กรุงเคียฟต้องปฏิบัติตามมาตรการปฏิรูปของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)
ด้านอเมริกาประกาศความพร้อมในการออกมาตรการลงโทษแดนหมีขาว เป็นต้นว่า งดออกวีซ่าและอายัดทรัพย์สินในสหรัฐฯ ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงบางคนของรัสเซีย รวมทั้งจำกัดความสัมพันธ์ทางการค้ากับมอสโกภายในไม่กี่วันนี้
สำหรับท่าทีของรัสเซียนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศ เซียร์เกย์ ลาฟรอฟ ได้ปฏิเสธที่จะพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศรักษาการยูเครนเพื่อหาทางออกจากวิกฤต ระหว่างการหารือที่ปารีสเมื่อวันพุธ แม้จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และรัฐมนตรีอีกหลายคนของยุโรปช่วยกันกดดันก็ตาม ทั้งนี้ รัสเซียถือว่ารัฐบาลรักษาการของยูเครนเป็นรัฐบาลที่ขึ้นสู่อำนาจอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กระนั้น มอสโกยังเปิดช่องทางการทูตแง้มไว้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดเอง โดยประกาศในวันพฤหัสบดีว่า การประชุมอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียตในกลุ่มเครือรัฐเอกราช (ซีไอเอส) ซึ่งรวมถึงยูเครน ในวันที่ 4 เดือนหน้านั้น จะมีการเตรียมการหารือก่อนระหว่างนักการทูตรัสเซียและเคียฟ
ลาฟรอฟยังสำทับว่า ความพยายามของชาติตะวันตกในการดำเนินการกับวิกฤตยูเครนผ่านองค์กรทางการทูต อย่างองค์การความร่วมมือและความมั่นคงแห่งยุโรป (โอเอสซีอี) และพันธมิตรทางทหารอย่างองค์การสนธิสัญญาปกป้องแอตแลนติกเหนือ (นาโต) นั้นไม่ได้ช่วยสร้างบรรยากาศของการหารือและความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์แต่อย่างใด
นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีดมิตริ เมดเวเดฟของรัสเซีย ยังประกาศผ่อนคลายการออกหนังสือเดินทางให้แก่ผู้พูดภาษารัสเซียเป็นภาษาแม่ ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะอยู่ในรัสเซียหรืออดีตสหภาพโซเวียตก็ตาม สอดรับกับแนวทางของปูตินที่มักกล่าวอ้างว่า พลเมืองรัสเซียกำลังถูกคุกคาม เพื่อใช้เป็นข้ออ้างสนับสนุนความชอบธรรมในการเปิดปฏิบัติการทางทหารดังเช่นที่เกิดขึ้นในจอร์เจียเมื่อปี 2008 และในยูเครนขณะนี้