เอเจนซีส์ - ข้อตกลงสงบศึกระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านในยูเครน ล้มคว่ำลงอย่างไม่เป็นท่า ภายหลังประกาศออกมาไม่กี่ชั่วโมง เมื่อพวกผู้ชุมนุมประท้วงกับตำรวจปราบจลาจลเกิดการปะทะกันอย่างดุเดือดรุนแรงในวันพฤหัสบดี (20 ก.พ.) ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 27 คน ท่ามกลางกระแสกดดันหนักหน่วงจากตะวันตกให้ประธานาธิบดี วิกตอร์ ยานูโควิช ยุติการใช้กำลังกับผู้ชุมนุม สวนทางกับรัสเซียที่ประณามว่า ผู้ประท้วงหัวรุนแรงและฝ่ายตะวันตกอยู่เบื้องหลังวิกฤตการณ์ครั้งนี้
ศพหลายศพของผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนอนจมกองเลือดท่ามกลางซากอาคารและข้าวของที่ยังคงคุโชนไหม้ลามอย่างช้าๆ หลังจากที่ผู้ประท้วงใส่หน้ากากจำนวนหนึ่งขว้างระเบิดขวดน้ำมันและก้อนหิน เพื่อบังคับให้ตำรวจที่ถือปืนอยู่ในมือ ถอยออกไปจากบริเวณจัตุรัสไมดาน (จัตุรัสเอกราช) อันเป็นศูนย์กลางของวิกฤตที่ดำเนินมาตลอด 3 เดือนในประเทศที่เป็นอดีตสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียตแห่งนี้
แต่ขณะที่ตำรวจล่าถอยนั้นก็ได้สาดกระสุนที่ระบุว่าเป็นกระสุนยางเข้าใส่ผู้ประท้วง พร้อมๆ กับที่มีควันแสบร้อนของแก๊สน้ำตาฟุ้งกระจายไปในอากาศ และการแตกระเบิดของระเบิดแสง
บริเวณโถงล็อบบี้ของโรงแรม “ยูเครนา” ซึ่งตั้งอยู่ตรงจัตุรัสแห่งนี้ ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสถานที่เก็บศพชั่วคราว ศพผู้ประท้วงที่เสียชีวิต 7 ศพถูกนำมาวางเรียงกันและมีผ้าปูที่นอนห่มคลุม บนพื้นหินอ่อนด้านหน้าโต๊ะพนักงานต้อนรับของโรงแรม
พวกผู้สื่อข่าวของเอเอฟพีรายงานว่า ในวันพฤหัสบดี ได้เห็นศพผู้ประท้วงที่มีร่องรอยว่าถูกยิงอย่างน้อย 25 ศพอยู่รอบๆ โรงแรมยอดนิยม 2 แห่งในบริเวณจัตุรัสเอกราช และวางอยู่ด้านนอกของที่ทำการไปรษณีย์กลางของกรุงเคียฟ
ขณะที่กระทรวงมหาดไทยแถลงว่า มีตำรวจตายไป 2 คนเนื่องจากถูกยิง
ทางด้านตำรวจระบุว่ามีนักแม่นปืนรายหนึ่งซุ่มอยู่บนหลังคาของโรงแรมแห่งหนึ่ง คอยเฝ้ายิงเจ้าหน้าที่ด้วยกระสุนจริงจนทำให้เจ้าหน้าที่บาดเจ็บไป 20 คนแล้ว ขณะที่พวกผู้นำการประท้วงกล่าวหาว่า ตำรวจต่างหากคือผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีของสไนเปอร์
อาคารที่ทำการหลักของรัฐบาลซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ จัตุรัส มีการอพยพคนออกไปแล้ว ขณะที่พวกสมาชิกรัฐสภาเร่งยุติการประชุมแต่เนิ่นๆ ภายหลังความรุนแรงปะทุตัวขึ้นมา
พวกผู้นำของ 3 พรรคฝ่ายค้านหลักของยูเครนต่างเรียกความไม่สงบล่าสุดนี้ว่าเป็น “การยั่วยุที่วางแผนเอาไว้ล่วงหน้า” ของรัฐบาลซึ่งเป็นพวกฝักใฝ่รัสเซีย ขณะที่มอสโกก็ประณาม “พวกสุดโต่งและพวกแนวทางแข็งกร้าว” ว่ากำลังมุ่งหวังจะให้ยูเครนเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นมา
การปะทะกันล่าสุดนี้ยังเท่ากับฉีกทิ้งทำลายข้อตกลงสงบศึกซึ่งประธานาธิบดียานูโควิชประกาศออกมาในคืนวันพุธ (19) หลังจากเกิดการต่อสู้อย่างรุนแรงระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจปราบจลาจลในวันอังคาร (18) จนถึงวันพุธ ทำให้มีผู้ถูกสังหารไป 28 คน
ดูเหมือนว่ายานูโควิชยังตัดสินใจไม่ได้เด็ดขาดว่าจะจัดการอย่างไรกับความรุนแรงคราวนี้ซึ่งถือว่านองเลือดที่สุดนับแต่ที่ยูเครนเป็นเอกราชมา ตลอดจนจะรับมืออย่างไรกับศึกน้ำลายแบบยุคสงครามเย็นระหว่างฝ่ายตะวันตกกับมอสโกที่เคยเป็นเจ้านายปกครองยูเครนมาก่อน ซึ่งต่างฝ่ายต่างพยายามดึงยูเครนให้เอนเอียงเข้ามาฝากอนาคตด้วย
ประธานาธิบดียูเครนดูเหมือนกับตัดสินใจในวันพุธที่จะยุติวิกฤตด้วยกำลัง หลังจากหน่วยงานความมั่นคงประกาศแผนกวาดล้างผู้ก่อการร้ายทั่วประเทศ โดยอ้างว้า มีการบุกปล้นคลังอาวุธหลายแห่ง
ผู้นำยูเครนยังปลดนายทหารใหญ่ผู้หนึ่ง ที่ไม่ยอมรับคำสั่งให้ใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วง อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นยานูโควิชกลับนัดหารือกับ 3 ผู้นำพรรคฝ่ายค้านสำคัญ และให้สัญญาว่า จะไม่จู่โจมแคมป์ผู้ประท้วงในไมดาน
ในวันพฤหัสบดี ยานูโควิช ยังได้หารือฉุกเฉินกับรัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศส เยอรมนี และโปแลนด์ ก่อนที่รัฐมนตรีเหล่านี้จะบินไปร่วมการประชุมฉุกเฉินของเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศอียูในกรุงบรัสเซลส์ตอนค่ำวันเดียวกัน ซึ่งอียูจะตัดสินใจว่า จะประกาศมาตรการลงโทษรัฐบาลยูเครนสำหรับเหตุการณ์รุนแรงล่าสุดนี้หรือไม่ โดยมีรายงานว่า จะมีการพิจารณามาตรการอย่างเช่น ห้ามผู้นำยูเครนเดินทางเข้าสู่อียู และอายัดทรัพย์สินซึ่งจะกระทบต่อนักธุรกิจใหญ่ที่หนุนหลังยานูโควิช
ก่อนหน้านั้น ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐฯ เรียกร้องเมื่อวันพุธให้ทางการเคียฟงดเว้นการใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วงโดยสันติ ไม่เช่นนั้นอาจได้รับ “ผล” จากการลุแก่อำนาจ และว่า จะจับตาข้อตกลงหยุดยิงในยูเครนอย่างใกล้ชิด
ขณะเดียวกัน กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศงดออกวีซ่าแก่เจ้าหน้าที่อาวุโสยูเครนราว 20 คนที่เกี่ยวข้องหรือรับผิดชอบในการสั่งการให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ตรงข้ามกับมอสโกที่ออกคำแถลงประณามทั้งผู้ประท้วงหัวรุนแรงในยูเครนและตะวันตกอย่างต่อเนื่อง โดยคำแถลงล่าสุดจากกระทรวงกสนต่างประเทศแดนหมีขาววิจารณ์ว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นความพยายามรัฐประหาร และรัสเซียจะใช้อิทธิพลทั้งหมดเพื่อฟื้นความสงบเรียบร้อยในอดีตชาติสมาชิกสหภาพโซเวียตแห่งนี้
นอกจากนี้ เครมลิน ยังแสดงท่าทีว่า จะระงับการอัดฉีดความช่วยเหลือรอบใหม่ เนื่องจากไม่มั่นใจในอนาคตของยูเครน