เอเอฟพี – ประธานาธิบดี วิกเตอร์ ยานูโควิช แห่งยูเครน ออกมาเรียกร้องให้ฝ่ายต่อต้าน “รอมชอม” บ้าง หลังรัฐบาลยอมปล่อยตัวผู้ประท้วง 234 คนที่ถูกจับกุมแล้ว เมื่อวานนี้ (14)
สหรัฐฯแถลงชื่นชมการปล่อยตัวนักโทษว่าเป็น “ก้าวสำคัญ” ที่จะช่วยบรรเทาความตึงเครียด หลังวิกฤตการเมืองในยูเครนยืดเยื้อมานานกว่า 2 เดือน
อย่างไรก็ตาม สัญญาณประนีประนอมจากรัฐบาลคงยังไม่เป็นที่พอใจของผู้ประท้วงในกรุงเคียฟที่ต้องการขับไล่ ยานูโควิช ลงจากเก้าอี้ และเรียกร้องรัฐบาลชุดใหม่ที่มีนโยบายฝักใฝ่ตะวันตกมากกว่า
“ผมไม่ต้องการทำสงคราม” ยานูโควิช แถลงผ่านสื่อโทรทัศน์เมื่อวานนี้ (14) พร้อมกล่าวต่อว่า “ผมต้องการปกป้องความเป็นรัฐ และทำให้การพัฒนาด้านต่างๆ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เราจึงขอให้ฝ่ายค้านรอมชอมบ้างเช่นกัน”
การชุมนุมขับไล่รัฐบาลเริ่มปะทุขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว หลังจากที่ ยานูโควิช ล้มเลิกแผนเจรจาข้อตกลงการค้าและการเมืองกับสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อเห็นแก่สายสัมพันธ์กับอดีตนายเก่าอย่างรัสเซีย ซึ่งทำให้พลเมืองในภาคตะวันตกที่ฝักใฝ่อียูรู้สึกไม่พอใจ
ยานูโควิช เริ่มส่งสัญญาณรอมชอมกับผู้ประท้วง หลังการชุมนุมทวีความรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตในเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยบีบให้นายกรัฐมนตรี มึยโคลา อาซารอฟ ลาออก และยังออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้ประท้วงที่ถูกจับกุมก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดียูเครน ตั้งเงื่อนไขไว้ว่า ผู้ประท้วงจะต้องยอมออกจากสถานที่ราชการทุกแห่งที่เข้าไปปิดล้อมอยู่ เช่น ศาลาวาการกรุงเคียฟซึ่งอยู่ติดกับจัตุรัสเอกราช เป็นต้น
วิกเตอร์ พชอนกา อัยการสูงสุดยูเครน ประกาศเมื่อวานนี้ (14) ว่า ผู้ชุมนุม 234 คนที่ถูกจับระหว่างวันที่ 26 ธันวาคมถึง 2 กุมภาพันธ์ ได้รับการปล่อยตัวแล้ว พร้อมระบุว่าหากทุกฝ่ายยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายนิรโทษกรรม รัฐบาลจะถอนข้อหาอาชญากรรมทั้งหมด รวมถึงบางข้อหาที่มีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี ภายใน 1 เดือนนับตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ เป็นต้นไป
ล่าสุด ฝ่ายผู้ชุมนุมยอมที่จะเปิดพื้นที่ “บางส่วน” ของถนนกรูเชฟสกี ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา เพื่อให้รถยนต์สัญจรไปมาได้สะดวก แต่ อันดรี ซินเซีย ตัวแทนผู้ชุมนุมชี้ว่า “การทำเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะยอมคืนพื้นที่ให้ หรือถอนแนวกั้นออกไปทั้งหมด”
แมรี ฮาร์ฟ รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐบาลยูเครนและผู้ชุมนุมหาทางประนีประนอมกันต่อไปเพื่อลดความตึงเครียดของวิกฤตการเมือง
“ขั้นตอนต่อไปอาจจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มาจากหลายภาคส่วน ซึ่งมีการแบ่งปันอำนาจและความรับผิดชอบโดยแท้จริง” เธอกล่าว
อย่างไรก็ดี ขบวนการขับไล่รัฐบาลยังไม่มีแนวโน้มว่าจะสลายไปง่ายๆ โดยผู้ประท้วงยังคงเสริมแนวกั้นบริเวณจัตุรัสเอกราชเพื่อป้องกันไม่ให้ตำรวจปราบจลาจลเข้าไปยึดพื้นที่คืน
ยูลิยา ทีโมเชนโค อดีตนายกฯหญิงและแกนนำฝ่ายค้านยูเครนซึ่งถูกจำคุกอยู่ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ Dzerkalo Tyzhnia ว่า “หัวข้อเจรจากับ ยานูโควิช มีเพียงอย่างเดียวก็คือ เงื่อนไขการลาออกของเขา”