xs
xsm
sm
md
lg

มติ “ไครเมีย” เลือกรวมกับรัสเซีย อียู-มะกันตอบโต้ “ลงโทษ” หวิวๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - ไครเมียยื่นคำร้องขอผนวกกับรัสเซียอย่างเป็นทางการในวันจันทร์ (17 มี.ค.) หลังประชาชนเทคะแนนท่วมท้นขอแยกตัวจากไครเมีย ท่ามกลางการประณามจากชาติตะวันตก โดยที่สหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐฯ ตอบโต้ด้วยการประกาศมาตรการลงโทษชาวรัสเซียและชาวยูเครนซึ่งถูกระบุเป็นตัวการต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้

ผลอย่างเป็นทางการของการออกเสียงลงประชามติในเครเมียซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (16) ระบุว่า จากจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิทั้งสิ้นถึง 83% ผู้ออกเสียง 96.77% ในคาบสมุทรที่คนส่วนใหญ่พูดภาษารัสเซียแห่งนี้ เลือกแยกตัวจากยูเครน และรัฐสภาไครเมียซึ่งประชุมกันในเช้าวันจันทร์ ก็มีมติยื่นคำร้องขอผนวกรวมกับรัสเซีย ซึ่งเป็นกระบวนการที่คาดว่า ต้องใช้เวลานานนับเดือน ทำให้ประชาชนจำนวนมากกังวลกับความไม่แน่นอน เนื่องจากไครเมียยังคงต้องพึ่งพิงทั้งทางเศรษฐกิจและพลังงานจากยูเครนอย่างมาก

ทางด้านโลกตะวันตกได้ออกมาประณามการทำประชามตินี้ ซึ่งจะทำให้แผนที่ยุโรปเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญอีกครั้ง หลังจากปี 2008 ที่โคโซโวประกาศเอกราชจากเซอร์เบีย ภายใต้การสนับสนุนอย่างแข็งขันรวมทั้งกำลังทหารจากวอชิงตัน

อียูโจมตีว่า การทำประชามติของไครเมียผิดกฎหมายและขาดความชอบธรรม จึงไม่ยอมรับผลการลงคะแนน

นอกจากนี้ บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของอียูยังมีมติอย่างรวดเร็วในวันจันทร์ ประกาศมาตรการลงโทษคว่ำบาตรด้วยการงดออกวีซ่าและอายัดทรัพย์สินที่อยู่ในอียูของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซีย 13 คน และเจ้าหน้าที่ยูเครนจากไครเมียอีก 8 คน ทว่าไม่ได้มีการระบุชื่อว่าเป็นใครบ้าง โดยที่มีการคาดหมายก่อนหน้านี้ว่า จะไม่รวมทั้งสมาชิกคณะรัฐบาลรัสเซียแต่อย่างใด

ยังคาดกันด้วยว่า ถัดจากนี้น่าจะมีการประกาศยกเลิกการประชุมสุดยอดอียู-รัสเซียที่มีกำหนดจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนที่เมืองโซชิ เมืองในรัสเซียซึ่งเป็นสถานที่จัดโอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อเดือนที่แล้ว

หลังการประกาศมาตรการแซงชันของอียูเพียงไม่กี่นาที ทำเนียบขาวก็แถลงใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรทางการเงินต่อเจ้าหน้าที่ระดับท็อปของรัฐบาลรัสเซียและสมาชิกรัฐสภาไครเมียรวม 7 คน
ชาวไครเมียที่นิยมมอสโก พากันโบกธงชาติรัสเซีย ระหว่างที่พวกเขาออกมาเฉลิมฉลอง ณ จัตุรัสเลนิน ในเมืองซิมเฟโรโปล เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองไครเมีย เมื่อวันอาทิตย์ (16) ภายหลังเอ็กซิตโพลชี้ว่า ผู้ออกเสียงจำนวนท่วมท้นหนุนให้ไครเมียผนวกรวมกับรัสเซีย
ทำเนียบขาวบอกด้วยว่า วิกตอร์ ยานูโควิช ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งของยูเครนและเป็นฝ่ายนิยมรัสเซีย ซึ่งได้ถูกถอดออกจากตำแหน่งโดยฝ่ายค้านซึ่งตะวันตกหนุนหลังและมอสโกคัดค้านว่าทำไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญยูเครน, ตลอดจนอดีตที่ปรึกษาระดับท็อปของเขาคนหนึ่ง และเจ้าหน้าที่ “นักแบ่งแยกดินแดน” ในไครเมียอีก 2 คน, จะเจอมาตรการลงโทษจากสหรัฐฯเช่นเดียวกัน

ก่อนหน้านี้ ทำเนียบขาวแถลงว่า ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ได้เตือนวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ระหว่างหารือทางโทรศัพท์เมื่อวันอาทิตย์ว่า อเมริกาและนานาชาติไม่มีวันยอมรับการทำประชามติภายใต้การแทรกแซงทางทหารของรัสเซียเด็ดขาด

ประมุขทำเนียบขาวยังขู่ว่า มอสโกอาจ “มีต้นทุนเพิ่ม” หลังจากสัปดาห์ที่แล้ว วอชิงตันงดออกวีซ่าให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่า คุกคามเอกภาพด้านอธิปไตยหรือดินแดนของยูเครน

อย่างไรก็ตาม เซียร์กีย์ แอคไซโยนอฟ นายกรัฐมนตรีไครเมีย ที่สถาปนาตัวเอง ประกาศว่า การทำประชามติถือเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ซึ่งจะทำให้ไครเมียคืนกลับไปอยู่กับรัสเซีย ขณะที่เมืองต่างๆ บนคาบสมุทรที่ยื่นลงสู่ทะเลดำแห่งนี้เฉลิมฉลองกันอย่างครึกครื้น แม้มีคนบางกลุ่ม เป็นต้นว่า ชาวตาตาร์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยมุสลิม ส่วนใหญ่ประท้วงด้วยการไม่ไปใช้สิทธิก็ตาม

สำหรับ โอเลคซานเดอร์ ตูร์ชินอฟ นายกรัฐมนตรีรักษาการของยูเครนที่ไม่ได้รับการยอมรับจากรัสเซียและจะพ้นตำแหน่งภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 25 พฤษภาคม วิจารณ์ว่า ผลการทำประชามติ “จัดเตรียมไว้ล่วงหน้า” โดยเครมลินเพื่ออ้างความชอบธรรมในการส่งกำลังทหารเข้าสู่ไครเมีย

ขณะที่ วิลเลียม เฮก รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ เรียกการทำประชามตินี้ว่า “การล้อเลียน” ประชาธิปไตย ส่วน ลอรองต์ ฟาเบียส รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส วิจารณ์ว่า การทำประชามติเกิดขึ้นภายใต้การคุกคามของกองกำลังรัสเซียที่เข้ายึดครองไครเมีย

ด้าน โยชิฮิเดะ ซูกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น สำทับว่า โตเกียวไม่ยอมรับผลการทำประชามติของไครเมีย

แต่ดูเหมือนมอสโกจะไม่ได้ครั่นคร้ามต่อการประณามของชาติตะวันตกแม้แต่น้อย โดยปูตินบอกกับโอบามาว่า การทำประชามติเมื่อวันอาทิตย์สอดคล้องกับบรรทัดฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ เครมลินยังบอกว่า ปูตินตั้งใจที่จะ “เคารพ” ผลการทำประชามติ

ทั้งนี้ คาดว่า รัฐสภารัสเซียจะเปิดอภิปรายร่างกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกขั้นตอนการผนวกไครเมียในวันศุกร์นี้ (21)
กำลังโหลดความคิดเห็น