xs
xsm
sm
md
lg

ปูตินลงนามกฎหมายรับรองไครเมียเป็นรัฐเอกราช เปิดทางผนวกดินแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online





เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียเมื่อวันจันทร์(17) ลงนามในกฎหมายรับรองไครเมียในฐานะรัฐเอกราชเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังสาธารณรัฐปกครองตนเองแห่งนี้ลงประชามติแยกตัวออกจากยูเครน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย อันกระพือวิกฤตะวันออก-ตะวันตกครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามเย็น เมินคำเตือนของบารัค โอบามา ที่อาจคว่ำบาตรหนักหน่วงยิ่งขึ้น

ประกาศกฎหมายนี้ที่โพสต์อยู่บนเว็บไซต์ของเครมลินและมีผลบังคับใช้ในทันที ถือเป็นก้าวย่างแรกในการรวมไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย ขณะที่มันระบุว่ามอสโกขอรับรองไครเมียในฐานะรัฐเอกราชบนพื้นฐานตามเจตจำนงของประชาชนชาวไครเมีย

ผลอย่างเป็นทางการของการออกเสียงลงประชามติในเครเมียซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (16) ระบุว่า จากจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิทั้งสิ้นถึง 83% ผู้ออกเสียง 96.77% ในคาบสมุทรที่คนส่วนใหญ่พูดภาษารัสเซียแห่งนี้ เลือกแยกตัวจากยูเครน และรัฐสภาไครเมียซึ่งประชุมกันในเช้าวันจันทร์ ก็มีมติยื่นคำร้องขอผนวกรวมกับรัสเซีย ซึ่งเป็นกระบวนการที่คาดว่า ต้องใช้เวลานานนับเดือน ทำให้ประชาชนจำนวนมากกังวลกับความไม่แน่นอน เนื่องจากไครเมียยังคงต้องพึ่งพิงทั้งทางเศรษฐกิจและพลังงานจากยูเครนอย่างมาก

ในส่วนของปูติน มีกำหนดปราศรัยต่อทั้งสองสภาเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ไครเมียในวันอังคาร(18) ตามหลังสหรัฐฯและสหภาพยุโรป(อียู) แถลงมาตรการคว่ำบาตรเหล่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซียและยูเครน ผู้ที่ต้องรับผิดชอบสำหรับการลงประชามติแยกตัวออกจากเคียฟของไครเมีย เช่นเดียวกับกรณีที่กองกำลังฝ่ายฝักใฝ่เครมลินเข้าควบคุมแหลมแห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่แถบทะเลดำโดยพฤตินัยมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือน

คาดว่า รัฐสภารัสเซียจะเปิดอภิปรายร่างกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกขั้นตอนการผนวกไครเมียในวันศุกร์นี้ (21)

ประชามติของไครเมียถูกประณามทั้งจากเหล่าผู้นำฝ่ายฝักใฝ่ยุโรปของยูเครน ที่โค่นล้มรัฐบาลฝ่ายฝักใฝ่รัสเซียเมื่อเดือนที่แล้ว เช่นเดียวกับเหล่าประชาคมนานาชาติเกือบทั้งหมด โดยพฤติกรรมของมอสโกเกี่ยวกับไครเมียครั้งนี้ ยังทำให้ จีน พันธมิตรสำคัญตีตัวออกห่าง ไม่เข้าร่วมวีโตมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ยืนยันว่าการโหวตเมื่อวันอาทิตย์(16) ผิดกฎหมายและขาดความชอบธรรม

นอกจากนี้ บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของอียูยังมีมติอย่างรวดเร็วในวันจันทร์ ประกาศมาตรการลงโทษคว่ำบาตรด้วยการงดออกวีซ่าและอายัดทรัพย์สินที่อยู่ในอียูของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซีย 13 คน และเจ้าหน้าที่ยูเครนจากไครเมียอีก 8 คน ทว่าไม่ได้มีการระบุชื่อว่าเป็นใครบ้าง โดยที่มีการคาดหมายก่อนหน้านี้ว่า จะไม่รวมทั้งสมาชิกคณะรัฐบาลรัสเซียแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันยังคาดกันด้วยว่า ถัดจากนี้น่าจะมีการประกาศยกเลิกการประชุมสุดยอดอียู-รัสเซียที่มีกำหนดจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนที่เมืองโซชิ เมืองในรัสเซียซึ่งเป็นสถานที่จัดโอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อเดือนที่แล้ว

อีกด้านหนึ่งหลังการประกาศมาตรการแซงชันของอียูเพียงไม่กี่นาที ทางทำเนียบขาวก็แถลงใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรทางการเงินต่อเจ้าหน้าที่ระดับท็อปของรัฐบาลรัสเซียและสมาชิกรัฐสภาไครเมียรวม 7 คน

จนถึงตอนนี้ ปูติน ยังไม่เคยส่งสัญญาณแสดงถึงเจตนากลับลำในสิ่งที่เขาอ้างว่าเพื่อปกป้องคนเชื้อสายรัสเซียที่ตกอยู่ภายใต้การโจมตีของพวกคลั่งชาติที่ได้รับไฟเขียวจากเหล่าผู้นำใหม่ของยูเครน โดยทางทำเนียบประธานาธิบดีเผย ปูติน ได้บอกว่าประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ระหว่างสนทนากันในวันอาทิตย์(16) ว่าประชามติไครเมีย ดำเนินการตามกรอบบรรทัดฐานของกฎหมายนานาชาติและกฎบัตรแห่งสหประชาชาติอย่างครบถ้วน

ทั้งนี้ในวันจันทร์(17) ประธานาธิบดีโอบามา ได้เปิดแถลงข่าวที่ทำเนียบขาว ตามหลังการสนทนาทางโทรศัพท์ที่ล้มเหลวครั้งล่าสุดในวันอาทิตย์(16) ซึ่งลงเอยด้วยการที่ ปูติน แสดงท่าทีเพิกเฉยไม่สนใจใดๆ "เราชี้ให้เห็นถึงหลักการพื้นฐาน อนาคตของยูเครน ควรตัดสินโดยประชาชนชาวยูเครนเอง นั่นหมายความว่าต้องเคารพอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน และต้องยึดถือกฎหมายสากลด้วย" พร้อมเตือนต่อว่า "หากรัสเซียยังคงแทรกแซงยูเครน เราพร้อมที่จะคว่าบาตรเพิ่มเติม" โอบามาระบุและเผยว่ารองประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะเดินทางไปยังยุโรปเพื่อประสานงานกับพันธมิตรในประเด็นนี้

อย่างไรก็ตาม โอบามา เน้นว่าการแก้ไขวิกฤตด้วยแนวทางทางการทูตยังคงเป็นไปได้ หากรัสเซียถอยทหารกลับสู่ฐานทัพต่างๆในไครเมีย และเปิดทางให้นักสังเกตการณ์ต่างชาติเข้าประจำการแทนและยืนยอมที่จะตกลงกับยูเครน
กำลังโหลดความคิดเห็น