เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ลงนามเมื่อวันอังคาร (18 มี.ค.) ในสนธิสัญญาซึ่งทำให้แหลมไครเมียกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียแล้ว พร้อมประกาศว่า ไครเมียซึ่งถูกพรากไปจากรัสเซียกว่า 60 ปีนั้น “อยู่ในดวงใจ” ของพี่น้องร่วมชาติของเขาเสมอมา แต่ก็ให้สัญญาว่าไม่ได้ต้องการผนวกดินแดนส่วนอื่นๆ ของยูเครนอีก
ภายหลังการดำเนินการต่างๆ ตามกระบวนการอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว นับตั้งแต่ที่มีการจัดลงประชามติในไครเมียเมื่อวันอาทิตย์ (16) ซึ่งประชาชนเสียงข้างมากท่วมท้นเห็นชอบให้ผนวกรวมกับรัสเซีย วังเครมลินก็ประกาศว่า เวลานี้ไครเมียถือเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซียและไม่ใช่ดินแดนของยูเครนอีกต่อไปแล้ว โดยที่ไม่สนใจกระแสคัดค้านและข่มขู่ของพวกชาติตะวันตก
“ในดวงใจและในความคิดคำนึงของประชาชน (ชาวรัสเซีย) ไครเมียคือส่วนหนึ่งที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ของรัสเซียเสมอมา และก็จะยังคงเป็นเช่นนั้นตลอดไป” ปูติน กล่าวปราศรัยอย่างเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกก่อนพิธีลงนาม ซึ่งมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ทั่วประเทศ
ปูตินได้ลงนามในสนธิสัญญาร่วมกับ เซียร์เกย์ อัคซีโอนอฟ นายกรัฐมนตรีไครเมีย และผู้นำไครเมียคนอื่นๆ ในพิธีซึ่งจัดขึ้นที่วังเครมลินโดยมีสมาชิกรัฐสภาทั้ง 2 สภาของรัสเซียเข้าร่วม
สมาชิกรัฐสภาซึ่งยังจะต้องออกเสียงรับรองให้สัตยาบันสนธิสัญญาฉบับนี้อย่างเป็นทางการ ต่างปรบมือและโห่ร้องยินดีกึกก้องภายหลังการลงนามเสร็จสิ้นลง
ในการปราศรัยก่อนลงนาม ปูตินได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของ นิกิตา ครุสชอฟ ผู้นำในยุคสหภาพโซเวียต ที่พรากไครเมียจากรัสเซียและยกให้แก่ยูเครนเป็นของขวัญ โดยเขาระบุว่า การกระทำดังกล่าว “รัสเซียรู้สึกว่ามันไม่ใช่เป็นการขโมยธรรมดาๆ หากแต่มันเป็นการปล้นชิง”
เขากล่าวด้วยว่า รัสเซียเบื่อหน่ายกับการถูกฝ่ายตะวันตกคอยไล่ต้อนเข้ามุมอยู่เรื่อยๆ และบอกว่าแดนหมีขาวถูกฝ่ายตะวันตกหลอกลวงครั้งแล้วครั้งเล่าในประเด็นต่างๆ อย่างเช่นเรื่อง นาโต, ระบบป้องกันขีปนาวุธ, และสิทธิเดินทางโดยไม่ต้องใช้วีซ่า
“เกี่ยวกับยูเครนนั้น ฝ่ายตะวันตกได้ล้ำเส้นเข้ามา” เขากล่าว พร้อมกับเตือนว่าอย่าได้ยั่วยุรัสเซีย “พวกเขากำลังพยายามที่จะผลักดันเราให้เข้ามุม”
แต่เขาก็พยายามบรรเทาความหวาดกลัวที่ว่า รัสเซียยังจะหาทางผนวกรวมดินแดนส่วนตะวันออกและส่วนใต้ของยูเครนต่อไปอีก โดยเขายืนยันว่า “เราไม่ต้องการที่จะแยกสลายยูเครน เราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้นเลย”
แหลมไครเมียนั้นถูกรัสเซียผนวกรวมเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตน ภายหลังทำสงครามชนะจักรวรรดิออตโตมัน และกลายเป็นฐานทัพสำหรับกองเรือภาคทะเลดำของแดนหมีขาวมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยเพิ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของยูเครนในปี 1954 เมื่อถูกครุสชอฟซึ่งเป็นชาวยูเครนโดยกำเนิด ประกาศยกให้เป็นของขวัญแก่ยูเครน
สำหรับปฏิกิริยาของฝ่ายตะวันตกนั้น ถึงแม้มีการประณามด้วยถ้อยคำรุนแรงตั้งแต่การจัดลงประชามติในไครเมียแล้ว แต่สำหรับมาตรการลงโทษคว่ำบาตรที่ประกาศออกมาในวันจันทร์ (17) ก็อยู่ในรูปการไม่ออกวีซ่าและอายัดทรัพย์สินของพวกเจ้าหน้าที่รัสเซียและยูเครนที่ถูกระบุว่ามีบทบาทพัวพันกับวิกฤตไครเมียนี้เท่านั้น แม้ว่ามีการข่มขู่จะดำเนินมาตรการลงโทษเพิ่มขึ้นอีกก็ตามที
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ประกาศมาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่รัสเซียและยูเครนรวม 11 คนในข้อหาใช้กำลังยึดครองไครเมีย ในจำนวนนี้รวมถึงวิกตอร์ ยานูโควิช ซึ่งถูกกลุ่มฝ่ายค้านยูเครนที่หนุนหลังโดยฝ่ายตะวันตกปลดจากตำแหน่งประธานาธิบดียูเครนเมื่อเดือนที่แล้ว, ตลอดจนผู้ช่วยของปูติน 2 คนคือ วลาดิสลาฟ เซียร์คอฟ และเซียร์เกย์ กลาซเยฟ
เจ้าหน้าที่อาวุโสของอเมริกาเผยว่า คำสั่งของโอบามาปูทางสำหรับการลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาวุธ และพุ่งเป้าที่ “ทรัพย์สินส่วนตัวของพวกพ้อง” ผู้นำรัสเซีย
ส่วนทางด้านอียูประกาศงดออกวีซ่าและอายัดทรัพย์สินเจ้าหน้าที่รัสเซียและยูเครนรวม 21 คน ซึ่งรวมถึงผู้บัญชาการกองทัพรัสเซียในไครเมียและในเขตที่ติดกับชายแดนยูเครน
เป็นที่น่าสังเกตว่า บัญชีดำของวอชิงตันและบรัสเซลส์มีชื่อซ้ำกันเพียง 3 ชื่อคือ นายกรัฐมนตรีไครเมีย เซียร์เกย์ อัคซีโอนอฟ, ประธานสภาผู้แทนราษฎรไครเมีย วลาดิมีร์ คอนแสตนตินอฟ และลีโอนิด สลัตสกี้ ประธานคณะกรรมาธิการเครือรัฐเอกราช (ซีไอเอส) ของสภาดูมา สำหรับยานูโควิชนั้นถูกอียูขึ้นบัญชีดำตั้งแต่ต้นปีนี้แล้ว
รายชื่อของอเมริกาดูเหมือนพุ่งเป้าที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซียที่ใกล้ชิดกับปูติน เป็นต้นว่า รองนายกรัฐมนตรีดมิทรี โรโกซิน ขณะที่อียูโฟกัสที่เจ้าหน้าที่ระดับกลางที่อาจเกี่ยวข้องโดยตรงในภาคสนาม และทั้งอียูและอเมริกาประกาศว่า อาจมีมาตรการลงโทษเพิ่มเติมเร็ววันนี้ หากมอสโกเดินหน้าผนวกไครเมียอย่างเป็นทางการ
นอกจากสหรัฐฯกับยุโรป ในวันอังคาร (18) ญี่ปุ่นประกาศร่วมขบวนด้วยโดยระงับการเจรจาเพื่อส่งเสริมการลงทุนและเปิดเสรีวีซ่ากับรัสเซีย
แต่ในทางกลับกัน มิคาอิล กอร์บาชอฟ อดีตผู้นำสหภาพโซเวียต กลับยกย่องการทำประชามติของไครเมียว่า เป็น “กิจกรรมแห่งความสุข” เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีเสรีภาพในการเลือกและสะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของชาวไครเมีย
กอร์บาชอฟยังบอกว่า การทำประชามติในไครเมียเป็นแบบอย่างสำหรับประชาชนที่พูดภาษารัสเซียทางภาคตะวันออกของยูเครน ที่ควรมีสิทธิ์ตัดสินชะตาของตัวเองเช่นเดียวกัน
ในวันอังคาร สภาดูมาหรือสภาผู้แทนราษฎรของรัสเซียได้ผ่านมติประณามมาตรการลงโทษของสหรัฐฯที่พุ่งเป้าที่เจ้าหน้าที่รัสเซีย รวมถึงสมาชิกสภา และเรียกร้องให้โอบามาขยายมาตรการลงโทษครอบคลุมสมาชิกสภาทั้ง 353 คนที่โหวตสนับสนุนมตินี้ อย่างไรก็ดี สมาชิกสภา 88 คนออกจากห้องประชุมก่อนการลงมติ