xs
xsm
sm
md
lg

‘วิกฤตยูเครน’ ถ่วงแผน ‘ปักหมุดเอเชีย’ บีบ US ปรับยุทธศาสตร์เพิ่มป้อง ‘ยุโรป’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ชี้วิกฤตยูเครนอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้โอบามาต้องยกเลิกนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย” และหันมารักษาระดับกำลังพลในยุโรปเพื่อสกัดความก้าวร้าวของรัสเซียแทน ความขัดแย้งครั้งนี้ยังอาจส่งผลต่อแนวรบด้านความมั่นคงของโลกอีก 2 ด้าน คือ สถานการณ์ในซีเรียและอิหร่าน ที่มอสโกเป็นหุ้นส่วนซึ่งตะวันตกขาดไม่ได้

ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ไม่มีท่าทีสนใจคำเตือนของตะวันตกแม้แต่น้อย ในทางกลับกัน เจ้าหน้าที่อาวุโสของอเมริกาเชื่อว่า ขณะนี้มอสโกเข้าควบคุมเขตปกครองตนเองไครเมียในยูเครนอย่างสมบูรณ์แล้ว และส่งทหารเข้าไปในดินแดนดังกล่าวกว่า 6,000 คน

จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เผยว่า ได้หารือกับผู้นำชาติอื่นๆ และทุกคนพร้อมร่วมกันโดดเดี่ยวรัสเซียเพื่อตอบโต้การบุกรุกยูเครน โดยที่ตัวเขาเตรียมเดินทางไปกรุงเคียฟเพื่อพบกับรัฐบาลยูเครนในวันอังคาร (4 มี.ค.) นอกจากนั้น สัปดาห์นี้วอชิงตันจะประสานงานกับประเทศต่างๆ ตลอดจนถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อจัดหาแพ็คเกจความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจให้แก่เคียฟ

ขณะที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ยกหูคุยกับนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี, นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ และประธานาธิบดี โบรนิสลอว์ โคโมโรว์สกี ของโปแลนด์ เกี่ยวกับวิกฤตการณ์นี้เช่นเดียวกันเมื่อวันอาทิตย์ (2) ที่ผ่านมา

วันเดียวกัน ทำเนียบขาวออกคำแถลงในนามกลุ่ม 7 ชาติเศรษฐกิจชั้นนำของโลก (จี7 ประกอบด้วย สหรัฐฯ, เยอรมนี, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, อิตาลี, ญี่ปุ่น, และแคนาดา) ระบุว่า มหาอำนาจทั้ง 7 ชาติระงับการเข้าร่วมเพื่อวางแผนการประชุมสุดยอดกลุ่ม จี8 (ก็คือ จี7 บวกรัสเซีย) ในรัสเซียกลางปีนี้ พร้อมประณามมอสโกละเมิดอธิปไตยและบูรณาภาพแห่งดินแดนของยูเครน

เคร์รี สำทับว่า นอกจากมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน รวมทั้งการงดออกวีซ่าให้แก่บุคคลชาวรัสเซียผู้รับผิดชอบการรุกราน และอายัดทรัพย์สินของรัสเซียแล้ว มอสโกอาจถูกขับออกจากกลุ่ม จี8 ด้วย

ขณะเดียวกัน วุฒิสมาชิกอเมริกันหลายคน อาทิ ลินด์ซีย์ เกรแฮม จากมลรัฐเซาท์แคโรไลนา เรียกร้องให้คณะรัฐบาลโอบามารื้อฟื้นติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธพิสัยไกลในโปแลนด์และสาธารณรัฐเช็ก หลังจากโครงการนี้ถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2009
วิกฤตยูเครนอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้โอบามาต้องยกเลิกนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย” และหันมารักษาระดับกำลังพลในยุโรปเพื่อสกัดความก้าวร้าวของรัสเซียแทน
ในตอนนั้น รัสเซียมองว่า โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อตอบโต้และบ่อนทำลายแสนยานุภาพขีปนาวุธของตน ทว่าทำเนียบขาวปฏิเสธว่าระบบของตนมุ่งสกัดขีปนาวุธจาก “รัฐอันธพาล” อย่างอิหร่านและเกาหลีเหนือ แล้วต่อมาก็เปลี่ยนมาติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธพิสัยกลาง ในโปแลนด์และโรมาเนีย แทน

ผู้เชี่ยวชาญยังชี้ว่า การตัดลดงบประมาณที่ให้แก่หน่วยทหารการกองทัพบกอเมริกันในเยอรมนี ก็อาจชะลอลงหรือถูกยกเลิกทั้งหมด เพื่อคงกำลังเหล่านี้ไว้ป้องกันการบ่อนทำลายเสถียรภาพและประชาธิปไตยในยุโรป

ปัจจุบัน เพนตากอนกำลังพิจารณาการลดหน่วยทหารของกองทัพบกในเยอรมนีลงไปอีก จากปัจจุบันเหลืออยู่ 2 กองพลน้อย ประกอบด้วยทหาร 10,000 คน เปรียบเทียบกับที่อเมริกาเคยมีทหารประจำอยู่ทั่วยุโรปกว่า 200,000 คนในยุคสงครามเย็น

เดมอน วิลสัน นักวิชาการเกี่ยวกับยุโรปตะวันออก อดีตนักการทูต และรองประธานบริหารของแอตแลนติก เคาน์ซิล ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองในวอชิงตัน เชื่อว่า อเมริกาต้องพร้อมเข้าจัดการวิกฤตการณ์ในยูเครน แม้ต้องระงับหรือลดทอนความสำคัญของนโยบายในพื้นที่อื่นๆ ก็ตาม เนื่องจากยุโรปเป็นภูมิภาคสำคัญสำหรับเสถียรภาพและความมั่นคงของอเมริกา และหากปล่อยให้ปูตินทำตามอำเภอใจ อาจนำไปสู่สงครามในที่สุด

วิลสันเสริมว่า นี่เป็นความท้าทายใหญ่สุดในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของโอบามา

ทั้งนี้ แม้ยูเครนไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) แต่มีพรมแดนร่วมกับสี่ชาติสมาชิกนาโต ได้แก่ โปแลนด์ สโลวาเกีย ฮังการี และโรมาเนีย

วิลสันยังบอกอีกว่า ทำเนียบขาวอาจต้องยกเลิกนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย” ซึ่งหมายถึงความพยายามในการเพิ่มการประจำการทางทหารและสถานะทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในภูมิภาคดังกล่าว และหันมามุ่งเน้นต้านภัยคุกคามจากแดนหมีขาวอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เขาไม่คิดว่า ความขัดแย้งครั้งใหม่ระหว่างวอชิงตันกับมอสโกจะมีผลต่อความพยายามในการยุติสงครามในซีเรียและการจำกัดโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยเขาเห็นว่า รัสเซียนั้นประสบความล้มเหลวในซีเรียอยู่แล้ว จากการที่ไม่สามารถทำให้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ยอมรับแผนสันติภาพได้ ขณะที่อิหร่านนั้นได้มีการเจรจากับสหรัฐฯอยู่แล้ว จนทำให้รัสเซียแสดงบทบาทเป็นเพียงตัวเสริมเท่านั้น

กระนั้นเจ้าหน้าที่หลายคนทั้งของสหรัฐฯและของฝ่ายตะวันตกอื่นๆ ก็เห็นว่า ยังไม่สามารถที่จะดูเบาบทบาทของรัสเซียในแนวรบทางด้านการทูตและด้านเศรษฐกิจระดับโลก ดังมีตัวอย่างให้เห็นจากการที่มอสโกกำลังแสดงท่าทีว่า พร้อมให้การสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์แก่ประเทศในตะวันออกกลางที่รำคาญวอชิงตัน รวมทั้งการที่รัสเซียยังคงมีที่นั่งถาวรอยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ก็ทำให้สามารถใช้อำนาจวีโตประเด็นปัญหาสำคัญๆ ของโลกได้

อดัม ชิฟฟ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ สังกัดพรรคเดโมแครตขานรับว่า ความท้าทายเฉพาะหน้าของอเมริกาคือ การรักษาความสัมพันธ์ในบางรูปแบบกับรัสเซียเอาไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น