xs
xsm
sm
md
lg

ชี้วิกฤตยูเครนอาจกระทบแผนปักหมุดเอเชียของสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชี้วิกฤตยูเครนอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้โอบามาต้องยกเลิกนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย” และหันมารักษาระดับกำลังพลในยุโรปเพื่อสกัดความก้าวร้าวของรัสเซียแทน ความขัดแย้งครั้งนี้ยังอาจส่งผลต่อแนวรบด้านความมั่นคงของโลกอีก 2 ด้านคือ สถานการณ์ในซีเรียและอิหร่าน ที่มอสโกเป็นหุ้นส่วนซึ่งตะวันตกขาดไม่ได้

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย ไม่มีท่าทีสนใจคำเตือนของตะวันตกแม้แต่น้อย ในทางกลับกัน เจ้าหน้าที่อาวุโสของอเมริกาเชื่อว่า ขณะนี้มอสโกเข้าควบคุมเขตปกครองตนเองไครเมียในยูเครนอย่างสมบูรณ์แล้ว และส่งทหารเข้าไปในดินแดนดังกล่าวกว่า 6,000 คน

จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เผยว่า ได้หารือกับผู้นำชาติอื่นๆ และทุกคนพร้อมร่วมกันโดดเดี่ยวรัสเซียเพื่อตอบโต้การบุกรุกยูเครน โดยที่ตัวเขาเตรียมเดินทางไปกรุงเคียฟเพื่อพบกับรัฐบาลยูเครนในวันอังคาร (4 มี.ค.) นอกจากนั้น สัปดาห์นี้วอชิงตันจะประสานงานกับประเทศต่างๆ ตลอดจนถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อจัดหาแพ็คเกจความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจให้แก่เคียฟ

ขณะที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยกหูคุยกับนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี, นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ และประธานาธิบดีโบรนิสลอว์ โคโมโรว์สกี้ ของโปแลนด์ เกี่ยวกับวิกฤตการณ์นี้เช่นเดียวกันเมื่อวันอาทิตย์ (2) ที่ผ่านมา

วันเดียวกัน ทำเนียบขาวออกคำแถลงในนามกลุ่ม 7 ชาติเศรษฐกิจชั้นนำของโลก (จี7 ประกอบด้วย สหรัฐฯ, เยอรมนี, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, อิตาลี, ญี่ปุ่น, และแคนาดา) ระบุว่า มหาอำนาจทั้ง 7 ชาติระงับการเข้าร่วมเพื่อวางแผนการประชุมสุดยอดกลุ่ม จี8 (ก็คือ จี7 บวกรัสเซีย) ในรัสเซียกลางปีนี้ พร้อมประณามมอสโกละเมิดอธิปไตยและบูรณาภาพแห่งดินแดนของยูเครน

เดมอน วิลสัน นักวิชาการเกี่ยวกับยุโรปตะวันออก อดีตนักการทูต และรองประธานบริหารของแอตแลนติก เคาน์ซิล ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองในวอชิงตัน เชื่อว่า อเมริกาต้องพร้อมเข้าจัดการวิกฤตการณ์ในยูเครน แม้ต้องระงับหรือลดทอนความสำคัญของนโยบายในพื้นที่อื่นๆ ก็ตาม เนื่องจากยุโรปเป็นภูมิภาคสำคัญสำหรับเสถียรภาพและความมั่นคงของอเมริกา และหากปล่อยให้ปูตินทำตามอำเภอใจ อาจนำไปสู่สงครามในที่สุด

วิลสันเสริมว่า นี่เป็นความท้าทายใหญ่สุดในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของโอบามา

ทั้งนี้ แม้ยูเครนไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) แต่มีพรมแดนร่วมกับสี่ชาติสมาชิกนาโต ได้แก่ โปแลนด์ สโลวาเกีย ฮังการี และโรมาเนีย

วิลสันยังบอกอีกว่า ทำเนียบขาวอาจต้องยกเลิกนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย” ซึ่งหมายถึงความพยายามในการเพิ่มการประจำการทางทหารและสถานะทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในภูมิภาคดังกล่าว และหันมามุ่งเน้นต้านภัยคุกคามจากแดนหมีขาวอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น