xs
xsm
sm
md
lg

“โอบามา” ประกาศทัวร์เอเชีย เม.ย.ส่ง “เคร์รี” กรุยทางย้ำนโยบาย “ปักหมุด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ (ซ้าย) จับมือกับรัฐมนตรีต่างประเทศ ยุน บยุง-เซ ของเกาหลีใต้ ภายใต้ร่วมกันแถลงข่าวที่กระทรวงการต่างประเทศโสมขาวในกรุงโซลเมื่อวันพฤหัสบดี (13)
เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐฯ เร่งเครื่องนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย” โดยประกาศจากกรุงวอชิงตัน ในวันพุธ (12 ก.พ.) ว่าจะมาเยือนญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ ในเดือนเมษายนนี้ ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ก็เป็นทัพหน้าเดินทางถึงเอเชียแล้วในวันพฤหัสบดี (13) เพื่อหารือกับผู้นำของเกาหลีใต้, จีน, อินโดนีเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทั้งนี้จุดมุ่งหมายสำคัญของเขา นอกเหนือจากการหาทางฟื้นการเจรจายุติโครงการนิวเคลียร์ของโสมแดงแล้ว ยังอยู่ที่การพยายามไกล่เกลี่ยให้โซลคืนดีกับโตเกียว ตลอดจนมุ่งแสดงจุดยืนในเรื่องความขัดแย้งระหว่างจีนกับเพื่อนบ้าน

การเยือนมะนิลาและกัวลาลัมเปอร์ของประธานาธิบดี โอบามา ในเดือนเมษายน ส่วนหนึ่งก็เพื่อแก้ตัวที่ผิดนัดเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เนื่องจากติดขัดปัญหาการเมืองภายในวอชิงตันซึ่งลุกลามกลายเป็น “วิกฤตชัตดาวน์” โดยประเด็นสำคัญที่คาดว่าผู้นำสหรัฐฯจะหยิบยกหารือในทริปนี้น่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างหลายชาติพันธมิตรอเมริกันในเอเชียกับประเทศจีน

ขณะที่การเยือนญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ของโอบามา ก็ด้วยมุ่งประสงค์ที่จะหนุนให้พันธมิตรใกล้ชิดของอเมริกาสองชาตินี้ กลับมารอมชอมกันหลังจากมีท่าทีคลางแคลงหมางใจกันอย่างมากในช่วงหลังๆ นี้

เป็นที่รู้กันดีว่า โอบามาเดินทางไปญี่ปุ่นครั้งนี้ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แต่การตัดสินใจเพิ่มเกาหลีใต้ด้วย เกิดขึ้นหลังถูกกดดันหนักจากโซล รวมทั้งเหล่าผู้วางนโยบายด้านเอเชียในวอชิงตัน การตัดสินใจนี้ยังบ่งชี้ว่า ผู้นำทำเนียบขาวพยายามไม่ให้ประธานาธิบดี พัค กึน-ฮเย ของเกาหลีใต้ ถูกดูแคลนทางการเมือง หากเขาเยือนโตเกียวแต่ไม่แวะโซล

การเยือนแดนอารีดังยังสะท้อนเจตนารมณ์ในการส่งสัญญาณไปถึงคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือว่า วอชิงตัน และโซล ยังเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเกี่ยวกับการรับมือโครงการนิวเคลียร์และการยั่วยุของเปียงยาง

ถึงแม้กำหนดการเดินทางของโอบามาเที่ยวนี้ไม่มีจีนรวมอยู่ด้วย แต่เป็นที่คาดว่าผู้นำสหรัฐฯ จะแวะเยี่ยมแดนมังกร ระหว่างการร่วมประชุมสุดยอดประจำปีของเอเชียช่วงปลายปีนี้ โดยที่จะมีออสเตรเลียและพม่า รวมอยู่ในแผนการเดินทางเที่ยวนั้นเช่นกัน

ทำเนียบขาวแถลงในวันพุธว่า การเดินทางเยือนเอเชียของโอบามาเที่ยวนี้ เป็นการเน้นย้ำ “ความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องในการเพิ่มการมีส่วนร่วมทางการทูต เศรษฐกิจ และความมั่นคงของสหรัฐฯ ในประเทศต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก” โดยผู้นำสหรัฐฯ จะผลักดันการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) ที่จะครอบคลุม 12 ประเทศ และถูกมองว่า เป็นความพยายามรับมือความท้าทายการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน

นอกเหนือจากประเด็นเศรษฐกิจ-การเมืองในเอเชียตะวันออกแล้ว โอบามายังนัดพบนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ของมาเลเซีย เพื่อหารือเกี่ยวกับการกระชับความสัมพันธ์ทางทหาร

จุดหมายปลายทางสุดท้ายคือ มะนิลาที่โอบามาจะพูดคุยกับประธานาธิบดี เบนิโญ อากีโน เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางทหาร รวมถึงการสับเปลี่ยนกำลังพลอเมริกันในแดนตากาล็อก

อย่างไรก็ดี ทำเนียบขาวไม่ได้ระบุวันที่ที่แน่นอนในการเยือนเอเชียของโอบามา นอกจากบอกว่าจะเป็นในช่วงปลายเดือนเมษายนและกินเวลาประมาณ 1 สัปดาห์

เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นในนโยบายปักหมุดเอเชีย ทำเนียบขาวยังได้ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศเคร์รี เป็นทัพหน้า โดยมีภารกิจหลักในการผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีข้อพิพาทด้านอธิปไตยในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก รวมทั้งหาวิธีฟื้นการเจรจาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

การเยือนของเคร์รีเริ่มต้นที่โซลในวันพฤหัสบดี (13) ซึ่งเป็นที่คาดว่า รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จะตอกย้ำความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างโซลกับโตเกียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากผู้นำญี่ปุ่นเดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิ ซึ่งเป็นสถานที่รำลึกทหารและอาชญากรสงคราม สร้างความเดือดดาลแก่ประเทศเพื่อนบ้านที่เคยถูกกองทัพญี่ปุ่นกดขี่ข่มเหงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

การเยือนแดนอารีดังของเคร์รียังมีขึ้นก่อนที่จะมีการซ้อมรบอเมริกา-เกาหลีใต้ ปลายเดือนนี้ ซึ่งเปียงยางหยิบยกมาเป็นข้ออ้างในการยกเลิกการเชิญนักการทูตอเมริกาไปหารือเกี่ยวกับอนาคตของเคนเนธ เบ ชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี ที่ถูกจำคุกข้อหาพยายามล้มล้างรัฐบาลเกาหลีเหนือ นอกจากนี้ ยังเชื่อว่า เปียงยางอาจใช้ประเด็นเดียวกันเป็นข้ออ้างยกเลิกกิจกรรมพบญาติที่ตกลงกับเกาหลีใต้ว่าจะจัดให้มีขึ้นในสัปดาห์หน้า

ระหว่างเยือนปักกิ่งในวันศุกร์ (14) เคร์รีมีกำหนดหารือเพื่อหาทางให้จีนโน้มน้าวเกาหลีเหนือกลับสู่โต๊ะเจรจาเพื่อยุติการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งขอให้ปักกิ่งยุติการดำเนินการที่ก้าวร้าวยืนกรานในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก โดยจุดยืนของวอชิงตันคือเรียกร้องให้จีนและอาเซียนตกลงกันเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติภายในทะเลจีนใต้

จุดหมายต่อไปคืออินโดนีเซีย ซึ่งเคร์รีจะหยิบยกแนวทางปฏิบัติภายในทะเลจีนใต้ขึ้นหารืออีกครั้ง ระหว่างพบกับเลขาธิการอาเซียน รวมถึงกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับความสำคัญในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในจาการ์ตา
กำลังโหลดความคิดเห็น