xs
xsm
sm
md
lg

สถานการณ์ยูเครนบีบ “โอบามา” ฟื้นบท “ผู้นำตะวันตก” จำเป็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเอฟพี - หลังจากนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย” ถูกสถานการณ์ตะวันออกกลางแย่งชิงความสนใจไป ล่าสุด บารัค โอบามา ต้องละวางนโยบายต่างประเทศแทบทั้งหมดและหันมาทุ่มเทกับวิกฤตยูเครนที่กำลังบีบให้เขาต้องรื้อฟื้นบทบาทความเป็น “ผู้นำโลกตะวันตก” ในยุคสงครามเย็น

การแสดงพลังของรัสเซียด้วยการส่งทหารเข้าสู่แหลมไครเมีย ถือเป็นการท้าทายความน่าเชื่อถือส่วนตัวและความน่าเชื่อถือทางการเมืองของโอบามา เนื่องจากในฐานะผู้นำกลุ่มพันธมิตรประเทศมหาอำนาจ และผู้รับประกันความมั่นคงของยุโรป โอบามาจำเป็นต้องรับภาระในการเป็นผู้นำการตอบโต้ของตะวันตก

แม้บทบาทดังกล่าวเป็นที่คุ้นเคยสำหรับประธานาธิบดีอเมริกันเมื่อสองชั่วอายุก่อน แต่ถือว่าตกยุคแล้วในขณะนี้ที่สหภาพโซเวียตเป็นเพียงอดีตที่ไม่มีวันหวนกลับ อย่างไรก็ตาม วิกฤตที่เกิดขึ้นในยูเครนทำให้ความคิดเช่นนี้ต้องถูกทบทวนกันใหม่

นิโคลัส เบิร์นส์ อดีตเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ชี้ว่า โอบามากำลังเผชิญวิกฤตระหว่างประเทศที่ยากเย็นที่สุดนับจากรับตำแหน่ง และนี่ยังเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดต่อความมั่นคงของยุโรปนับจากสิ้นสุดสงครามเย็น

วิกฤตยูเครนที่เกิดขึ้นหลังจากสงครามกลางเมืองในซีเรีย ลิเบีย และกระแสอาหรับสปริง เป็นอุปสรรคล่าสุดสำหรับการวางแผนนโยบายต่างประเทศของโอบามา ผู้ซึ่งเล็งปรับบทบาทของอเมริกาบนเวทีโลกใหม่ ทั้งด้วยการรีเซ็ตความสัมพันธ์กับรัสเซีย ยุติสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน เปิดยุทธการถล่มอัล-กออิดะห์ด้วย โดรน (อากาศยานไร้นักบิน) และปรับสมดุลอำนาจ หรือ “ปักหมุด” ในเอเชีย

ในเวลานี้ผู้นำสหรัฐฯ กลับกำลังต้องทุ่มเทความสนใจให้กับสิ่งที่พวกผู้ช่วยระดับสูงของเขาระบุว่า เป็นการแย่งยึดดินแดนในยุโรปในรูปแบบเดียวกับวิกฤตการณ์ในศตวรรษที่ 19

สำหรับโอบามาแล้ว การมีปฏิสัมพันธ์กับยุโรป ดูเหมือนเป็นไปตามหน้าที่มากกว่าความกระตือรือร้น แต่เขาก็ตระหนักเป็นอย่างดีว่า ยุโรปกำลังมองหาความเป็นผู้นำแห่งโลกตะวันตกจากตัวเขายิ่งกว่านั้น ในส่วนตัวโอบามาเอง เดิมพันทางการเมืองยังสูงเพิ่มขึ้นอีก จากการที่ภาวะผู้นำของเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเรื่อยมาจากทั้งในประเทศและนอกประเทศ ตัวอย่างเช่นพวกรีพับลิกันที่กล่าวหาว่า โอบามานั้นอ่อนแอในเรื่องการรับมือกับภัยคุกคามภายนอก

ความเคลือบแคลงเกี่ยวกับภาวะผู้นำโอบามาประจักษ์ชัดเจนต่อสายตาชาวโลกเมื่อปีที่แล้ว ที่เขาลังเลที่จะจัดการตามคำขู่กับซีเรียที่ล้ำเส้นใช้อาวุธเคมีกับประชาชน

บรรดาศัตรูของโอบามาต่างรู้สึกว่า เขาคิดช้ากว่าปูตินทั้งในเรื่องซีเรีย ยูเครน กระทั่งการที่มอสโกอนุญาตให้เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตพนักงานสัญญาจ้างที่ออกมาแฉความลับของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ) ลี้ภัย

กระนั้น โอบามายังคงใช้สัญชาติญาณในการคิดค้นหาทางออกแบบพหุภาคีในกรณียูเครน โดยจะเห็นได้ว่า ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประมุขทำเนียบขาวโทรศัพท์ติดต่อขอการสนับสนุนจากพันธมิตรในนาโต ทั้งอังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส และเยอรมนี และรวมพลังชาติร่ำรวยขู่ขับมอสโกออกจากกลุ่มจี8

โอบามาเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (3) ว่า กำลังวางแผนลงโทษทางเศรษฐกิจและการทูตเพื่อโดดเดี่ยวรัสเซีย หากไม่ยุติการเข้าแทรกแซงทางทหารในไครเมีย ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองของยูเครน

ขณะเดียวกัน จุดสนใจยังพุ่งไปยังนาโตที่จู่ๆ ก็ถูกเครมลินยกทัพมาประชิดพรมแดน

โอบามานั้นยกย่องนาโตเสมอมาว่าเป็น กลุ่มพันธมิตรที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์

กระนั้น นักวิเคราะห์ตะวันตกส่วนใหญ่เชื่อว่า ตามสนธิสัญญาของนาโตแล้ว องค์การนี้ไม่มีภาระหน้าที่ใดๆ ที่จะต้องปกป้องยูเครน และปฏิบัติการทางทหารก็ไม่ใช่ทางเลือกสำหรับตะวันตก ซึ่งปูตินรับรู้ตรรกะข้อนี้ดี

นอกจากนี้ สิบกว่าปีที่ผ่านมา ความทุ่มเทของนาโตยังได้เบี่ยงเบนจากชายแดนด้านยุโรปตะวันออก ไปยังภัยคุกคามระหว่างภูมิภาค เช่น การต่อสู้ปราบปรามการก่อการร้าย

นีล การ์ดิเนอร์ จากมูลนิธิเฮอริเทจ กลุ่มคลังสมองสายอนุรักษ์นิยมในวอชิงตัน มองว่า หากไม่สามารถหาทางออกสำหรับวิกฤตยูเครน ความน่าเชื่อถือของนาโตจะถูกบ่อนทำลายอย่างรุนแรง

เช่นเดียวกัน ชาร์ลส์ คัปชัน จากเคาน์ซิล ออน ฟอเรนจ์ รีเลชันส์ กลุ่มคลังสมองทรงอิทธิพลด้านกิจการต่างประเทศ ซึ่งทิ้งท้ายว่า โอบามาจำเป็นต้องแสดงให้เห็นถึงภาวะผู้นำในยามหน้าสิ่วหน้าขวานที่ยุโรปกำลังกังวลอย่างยิ่ง ส่วนหนึ่งเนื่องจากการพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียที่ลำเลียงผ่านทางยูเครน และอีกส่วนคือการที่ยุโรปเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ต้องหั่นงบประมาณกลาโหม และลดทอนความสนใจในปัญหาด้านความมั่นคงลง
กำลังโหลดความคิดเห็น