เอเอฟพี - กองกำลังความมั่นคงยูเครนเมื่อวันพุธ (19) แถลงจะปฏิบัติการ “ต่อต้านก่อการร้าย” ทั่วประเทศ ตอบโต้เหตุชุมนุมนองเลือดต่อต้านรัฐบาลที่คร่าชีวิตอย่างน้อย 26 ศพ เมินสหภาพยุโรป (อียู) ที่เรียกประชุมฉุกเฉินหารือมาตรการคว่ำบาตรลงโทษ เช่นเดียวกับคำร้องขอของสหรัฐฯ ที่เรียกร้องประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช งดการกระทำที่นำไปสู่สถานการณ์ที่ลุกลามบานปลาย
“สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติและศูนย์ต่อต้านก่อการร้ายของยูเครน ได้ตัดสินใจแล้วว่าจะดำเนินการปฏิบัติการต่อต้านก่อการรายทั่วอาณาเขตของยูเครน” โอเลกซานด์ร ยาคิเมนโก หัวหน้าสำนักงานด้านความมั่นคงระบุในถ้อยแถลง
ในถ้อยแถลงยังบอกด้วยว่าประธานาธิบดียานูโควิช ได้รับแจ้งถึงปฏิบัติการนี้แล้ว ขณะที่ภารกิจนี้หน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งหลายจะร่วมมือกับกระทรวงกลาโหมเสริมกำลังตามแนวชายแดนและรักษาความสงบเรียบร้อยแก่ประชาชน “พฤติกรรมของพวกหัวรุนแรงเป็นภัยคุกคามอย่างแท้จริงต่อประชาชนชาวยูเครนหลายล้านคน”
ถ้อยแถลงอ้างด้วยว่าในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา อาวุธปืนราว 1,500 กระบอก และกระสุนกว่า 100,000 นัด ตกไปอยู่ในมืออาชญากรแล้ว และบอกว่ายูเครนกำลังเผชิญการก่อการร้ายอย่างเป็นรูปธรรม “วันนี้เราได้เห็นแล้วว่ามีการใช้กำลังโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและเล็งเป้าหมายไว้อย่างดี ผ่านการวางเพลิง ฆาตกรรม จับตัวประกันและข่มขู่ประชาชนด้วยการก่ออาชญากรรม”
ไม่กี่ชั่วโมงถัดมา ยานูโควิช ก็มีคำสั่งแต่งตั้งพลเรือเอก ยูริ อิลอิน ผู้บัญชาการกองทัพเรือขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าเสนาธิการทหารแทนพลเอกโวโลดีมีร์ ซามานา ตามถ้อยแถลงของทำเนียบประธานาธิบดี ที่ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดของการปลดครั้งนี้
ในวันพุธ (19) ผู้ชุมนุมซึ่งปักหลักอยู่บริเวณจตุรัสเอกราช ยังคงเผชิญหน้าอย่างเคร่งเครียด แม้ตำรวจปราบจลาจลระงับปฏิบัติการจู่โจมชั่วคราว ตามหลังเหตุนองเลือดที่สุดนับตั้งแต่การประท้วงปะทุขึ้นเมื่อเกือบ 3 เดือนในวันอังคาร (18) ขณะที่แกนนำฝ่ายต่อต้านก็ปฏิเสธล่าถอยและยืนกรานข้อเรียกร้องให้นายยานูโควิช ลาออกจากตำแหน่ง
“รัฐบาลของยานูโควิชต้องลาออก ทีเพียงนายยานูโควิช เท่านั้นที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุฆาตกรรมและก่อการร้ายต่อพลเรือนผู้สันติ” นายวิตาลี คลิตช์โก อดีตแชมป์มวยโลกรุ่นเฮฟวีเวตและแกนนำฝ่ายค้าน กล่าว “คราบเลือดกระจัดกระจายตามท้องถนนในกรุงเคียฟ และมันเป็นผลจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ”
เหตุปะทะในเมืองหลวงของยูเครนเมื่อวันอังคาร (18) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 26 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 600 คน ถือเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่สุดในประเทศนี้นับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต โดยที่ประธานาธิบดียานูโควิช โยนความผิดให้ฝ่ายค้าน เช่นเดียวกับรัสเซียที่ชี้ว่า แนวโน้มสงครามกลางเมืองในยูเครนส่วนหนึ่งเกิดจากการแทรกแซงของตะวันตก
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของทำเนียบขาว ออกมาประณามเหตุความรุนแรงดังกล่าวในวันพุธ (19) พร้อมวิงวอนประธานาธิบดียานูโควิช ควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ลุกลามบานปลาย “ข้อเท็จจริงของประเด็นนี้คือ เราเคยแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนกับรัฐบาลยูเครนแล้วว่า ความรับผิดชอบของพวกเขาคือปล่อยให้ประชาชนชุมนุมประท้วง”
เบน โรดส์ รองที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติบอกกับผู้สื่อข่าวบนเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันตอไปว่า “เราคัดค้านการใช้ความรุนแรงใดๆจากทุกฝ่าย แต่รัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบถอนกำลังตำรวจปราบจลาจลกลับมา พร้อมทั้งสงบศึกชั่วคราวและประสานงานหารืออย่างมีความหมายกับฝ่ายต่อต้าน เพื่อหาทางผลักดันประเทศก้าวไปข้างหน้า”
ก่อนหน้านี้ แคทเธอลีน แอชตัน ประธานด้านนโยบายการต่างประเทศของอียู ได้เรียกประชุมฉุกเฉินบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรปในวันพฤหัสบดี (20) เพื่อหารือกันเรื่องยูเครน โดยจะพิจารณาเรื่องการลงโทษคว่ำบาตรพวกผู้นำยูเครนด้วย
เสียงเรียกร้องให้คว่ำบาตรนั้นยังออกมาจากทางฝรั่งเศสและโปแลนด์ ขณะที่เยอรมนีกล่าวประณามว่าวิกฤตที่เลวร้ายลงเช่นนี้ เนื่องจากยานูโควิชปฏิเสธไม่ยอมพูดจาอย่างจริงจังกับฝ่ายค้าน
ทว่า อเล็กไซ พุชคอฟ สมาชิกรัฐสภาชั้นนำของรัสเซียแถลงว่า ยูเครนที่แตกออกเป็นสองส่วนระหว่างพื้นที่ฝั่งตะวันตกที่สนับสนุนอียูกับฝั่งตะวันออกที่สนับสนุนรัสเซีย กำลังอยู่บนขอบเหวของสงครามกลางเมืองที่ถูกปลุกเร้าโดยตะวันตก ซึ่งพยายามกดดันทางการกรุงเคียฟ
ทางด้านยานูโควิชก็เพิกเฉยต่อกระแสกดดันจากตะวันตก และปฏิเสธเสียงเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรง มิหนำซ้ำยังออกแถลงการณ์ทางทีวีกล่าวหาฝ่ายค้านเป็นต้นเหตุของความรุนแรง ล้ำเส้นด้วยการเรียกร้องให้ประชาชนจับอาวุธ และไม่เคารพหลักการประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่มาจากการก่อการบนท้องถนน
ยานูโควิชยังกล่าวหาว่า ฝ่ายค้านพยายามโค่นล้มตน พร้อมประกาศว่า ผู้กระทำผิดจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย