xs
xsm
sm
md
lg

ไม่หวั่นสงคราม! ยูเครนกร้าวใช้กำลังป้องอธิปไตยหลังไครเมียขอซุกปีกรัสเซีย โอบามาสับละเมิดกฎหมายสากล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์/เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรียูเครนเมื่อวันพฤหัสบดี (6 มี.ค.) ประกาศก้องพร้อมใช้กำลังปกป้องตนเองหากรัสเซียยังไม่หยุดเสริมกำลังทหารเข้ามาในแผ่นดินของพวกเขา ท่ามกลางความตึงเครียดและภาวะวิตกต่อเค้าลางแห่งสงคราม หลังรัฐสภาไครเมียลงมติขออยู่ใต้ร่มธงแดนมอสโก จนเรียกเสียงเตือนจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา ว่าถือเป็นการละเมิดอธิปไตยของยูเครนและกฎหมายนานาชาติ ขณะที่การเจรจารอบใหม่แก้วิกฤตยูเครนระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศเครมลินและวอชิงตัน ลงเอยด้วยไม่ได้ข้อสรุปใดๆ

นายอาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค นายกรัฐมนตรียูเครน เปิดแถลงข่าวตามหลังเข้าหารือกับเหล่าผู้นำสหภาพยุโรปในเมืองบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยระบุว่าไครเมียเป็นและจะยังเป็นส่วนสำคัญของยูเครนและไม่ยอมรับการตัดสินใจของสภาไครเมียที่มีมติเข้าร่วมในสหพันธรัฐรัสเซีย “ในกรณีที่สถานการณ์ลุกลามและมีการแทรกแซงทางทหารเข้ามาในอาณาเขตของยูเครนโดยกองกำงต่างชาติ รัฐบาลยูเครนและกองทัพจะดำเนินการในความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เราพร้อมปกป้องประเทศของเรา”

จนถึงตอนนี้กองทัพยูเครนยังไม่ตอบโต้ใดๆ ต่อกรณีที่กองกำลังรัสเซียบุกยึดคาบสมุทรไครเมีย แม้ว่าจะมีการปะทะกันประปรายระหว่างทหารยูเครนกับกองกำลังติดอาวุธฝ่ายสนับสนุนรัสเซียที่ในบางพื้นที่

เมื่อวันพฤหัสบดี (6 มี.ค.) รัฐสภาไครเมีย ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองที่อยู่ในยูเครนแต่ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนพูดภาษารัสเซีย ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ขออยู่ใต้ร่มธงแดนหมีขาว โดยรัฐบาลที่สนับสนุนมอสโกเตรียมจัดลงประชามติเรื่องนี้ในวันที่ 16 มีนาคม ขณะที่ทางสถานีโทรทัศน์อย่างน้อยๆ 1 แห่งของรัสเซีย โชว์แผนภาพแสดงให้เห็นว่าคาบสมุทรเป็นอาณาเขตส่วนหนึ่งของรัสเซีย ไม่ใช่ยูเครน

นายกรัฐมนตรียูเครน ประณามการลงมติของรัฐสภาไครเมียว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและการทำประชามติต่อสถานะของไครเมีย ไม่มีเหตุผลทางกฎหมายใดๆมารองรับแม้แต่น้อย “นี่คือการตัดสินใจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เราขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลรัสเซีย อย่าให้ความช่วยเหลือกลุ่มสนับสนุนแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้”

สอดคล้องกับท่าทีที่แข็งกร้าวของ ยัตเซนยุค ทางรัฐสภาใหม่ยูเครนซึ่งฝักใฝ่ยุโรป ก็เริ่มกระบวนการยุบรัฐสภาท้องถิ่นของไครเมีย ตอบโต้ที่สภาแห่งนี้ร้องขอไปอยู่ภายใต้ร่มธงของรัสเซีย “ราดา (รัฐสภาในเคียฟ) จะเริ่มต้นกระบวนการยุบสภา” โอเล็กซานเดอร์ ตูร์ชีนอฟ ประธานาธิบดีรักษาการยูเครนบอกในวันพฤหัสบดี (6)
ผู้ประท้วงฝ่ายฝักใฝ่รัสเซีย ถือธงชาติรัสเซียและไครเมีย เดินขบวนบริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภาท้องถิ่นในเมืองซิมเฟโรโพล เมืองหลวงของสาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมียของยูเครน สนับสนุนการหวนคืนสู่การปกครองของมอสโก
ด้านประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ซึ่งสนับสนุนรัฐบาลใหม่ของยูเครนอย่างแข็งขัน ก็เตือนว่าการทำประชามติขอเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียของไครเมีย ถือเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของยูเครนและกฎหมายนานาชาติ พร้อมยืนยันถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างอเมริกาและชาติพันธมิตรในการยืนหยัดต่อต้านการรุกรานยูเครนของรัสเซีย แต่ก็ชี้ว่าการเจรจาหาทางออกจากภาวะทางตันนี้ยังคงเป็นไปได้อยู่

ในส่วนของความเคลื่อนไหวของทางฝั่งรัสเซีย ทางสำนักข่าวอาร์ไอเอ โนวอสติ รายงานโดยอ้างคำสัมภาษณ์ของโฆษกประจำทำเนียบประธานาธิบดีระบุว่าในวันพฤหัสบดี (6) ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้ยิบยกประเด็นที่รัฐบาลฝ่ายฝักใฝ่มอสโกของไครเมียร้องขอเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย หารือกับสภาความมั่นคง อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนแห่งนี้ก็ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดใดเพิ่มเติม

ส่วน ลีโอนิด สลัตสกีย์ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการชาติอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งรวมถึงยูเครน ของสภาดูมาหรือสภาผู้แทนราษฏรของรัสเซีย บอกกับสำนักข่าวอินเตอร์แฟ็กซ์ว่าทางสภาดูมาจะตัดสินใจจุดยืนหลังจากไครเมียทำประชามติแล้ว “สำหรับเรา ประชามติในวันที่ 16 มีนาคม จะเป็นตัวแสดงจุดยืนของชาวบ้านในสาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมีย และจากจุดยืนดังกล่าวเราจะนำมาตัดสินใจจุดยืนของเรา” พร้อมเผยว่าทางรัฐสภารัสเซีย จะส่งผู้แทนเข้าไปสังเกตการร์การลงประชามติด้วย

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ารัสเซียกำลังเตรียมพร้อมสำหรับอ้าแขนรับไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ หลัง ส.ส.ระดับอาวุธรายหนึ่ง ได้ยื่นร่างกฎหมายต่อสภาดูมา ที่มีเนื้อหาเปิดทางให้รัสเซียรวมประเทศกับดินแดนที่แตกออกมาจากชาติอื่นได้ง่ายขึ้น “ผมขอพูดตรงๆเลยละกัน พระราชบัญญัตินี้เขียนมาเพื่อไครเมีย” ส.ส.เซอร์เก มิโรนอฟ หนึ่งในผู้เขียนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กล่าว

ในวันพฤหัสบดีเช่นกัน พวกผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) เปิดประชุมฉุกเฉินที่กรุงบรัสเซลส์เพื่อกำหนดท่าทีต่อกรณีที่รัสเซียแทรกแซงทางทหารในยูเครน

ซึ่งก็เป็นไปตามคาดเมื่อผลสรุปของซัมมิตอียูมีเพียงมาตรการเชิงสัญลักษณ์ต่อรัสเซีย ที่เป็นทั้งซัปพลายเออร์ก๊าซรายใหญ่สุดของยุโรป และเป็นทั้งลูกค้าสำคัญของสมาชิกหลายชาติในอียู เนื่องจากเกรงว่า การใช้ไม้แข็งอาจทำให้รัสเซียปฏิเสธการใช้มาตรการทางการทูต หรือตอบโต้ด้วยสงครามการค้า

ความเคลื่อนไหวกำหนดท่าทีของอียู เกิดขึ้นพร้อมๆกับการเจรจารอบใหม่ระหว่างรัสเซียและสหรัฐฯต่อวิกฤตในยูเครนที่กรุงโรม วันพฤหัสบดี (6) ด้วยเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศมอสโก ยอมรับว่าทั้งสองฝ่ายยังตกลงกันไม่ได้เช่นเคย

นายลาฟรอฟ กล่าวหลังจากหารือกับนายจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ว่าคำสั่งอายัดทรัพย์สินและเพิกถอนวีซาชาวรัสเซียที่เกี่ยวข้องกับเหตุรุกรานไครเมียของอเมริกา เป็นสิ่งที่ไม่สร้างสรรค์เลย
กำลังโหลดความคิดเห็น